วอชิงตัน (เอพี/รอยเตอร์) - ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ สั่งขึ้นบัญชีดำเกือบ 60 บริษัทจีน ที่เกี่ยวข้องกับกองทัพจีนหรืออยู่ในภาคเทคโนโลยีสอดแนม รวมถึงหัวเว่ย ต่อยอดการแบนการลงทุนในบริษัทจีนตั้งแต่ยุคอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ลงนามออกคำสั่งฝ่ายบริหาร ห้ามองค์กรของสหรัฐ เข้าลงทุนในบริษัทของจีนทั้งหมด 59 แห่ง ที่เกี่ยวข้องกับกองทัพจีนหรืออยู่ในภาคเทคโนโลยีการทหารและการสอดแนม รวมถึงบริษัทหัวเว่ย ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของจีน และบริษัท SMIC ผู้ผลิตชิปยักษ์ใหญ่ของจีน ก็ถูกขึ้นบัญชีดำในครั้งนี้ด้วย คำสั่งแบนการลงทุนในบริษัทจีนล่าสุดของไบเดนครั้งนี้ เป็นการต่อยอดนโยบายเดียวกันนี้ ที่เริ่มขึ้นในยุคอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เริ่มขึ้นบัญชีดำห้ามสหรัฐ เข้าลงทุนในบริษัทจีน 31 แห่ง ส่วนคำสั่งของไบเดนล่าสุดนี้ เพิ่มจำนวนบริษัทจีนที่ถูกขึ้นบัญชีดำเป็น 59 แห่ง เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากยุคทรัมป์
บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนที่ติดร่างแหในครั้งนี้ รวมถึง หัวเว่ย เทคโนโลยี ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของจีน บริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระหว่างประเทศ หรือ SMIC, บริษัทอุตสาหกรรมการบินจีน หรือ AVIC, บริษัทผลิตน้ำมันนอกชายฝั่งแห่งชาติจีนหรือ CNOOC และบริษัทหางโจว ฮิควิชั่น ดิจิตอล เทคโนโลยีด้วย ทั้งนี้ บริษัท SMIC เป็นบริษัทหัวหอกที่ผลักดันการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการผลิตชิปแห่งชาติของจีน
รายละเอียดคำสั่งของประธานาธิบดีไบเดนคือ ห้ามองค์กรและนักลงทุนในสหรัฐฯ เข้าลงทุนซื้อ หรือ ขาย หลักทรัพย์ต่างๆ ของบริษัทจีนที่ถูกขึ้นบัญชีดำ ที่นำออกขายต่อสาธารณะ, ห้ามสนับสนุนบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมทางทหาร, ห้ามสนับสนุนโครงการพัฒนาและวิจัยทางทหาร ข่าวกรอง และความมั่นคงของจีน รวมไปถึงห้ามสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีสอดแนมของจีน ส่วนนักลงทุนในสหรัฐฯ ที่ถือหลักทรัพย์ของบริษัทจีนอยู่แล้ว จะต้องขายทิ้งหุ้นและตราสารหนี้ที่ลงทุนในบริษัทจีนที่ถูกแบนเหล่านั้น ทำเนียบขาวระบุว่า คำสั่งแบนการลงทุนในบริษัทจีนดังกล่าว จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคมนี้
หลายบริษัทที่ถูกแบน เช่น หัวเว่ยยังไม่ออกมาให้ความเห็นในเรื่องนี้ ขณะที่ไชน่าเทเลคอม ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใดๆ ขณะที่นิวยอร์ก ไทมส์ มองว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้การต่อสู้ทางการค้าและอุดมการณ์ระหว่างจีนและสหรัฐรุนแรงขึ้น ซึ่งไบเดนเรียกว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างระบอบเผด็จการและประชาธิปไตย อีกทั้งคำสั่งเหล่านี้มีขึ้นในช่วงที่ทั้งจีนกำลังเพิ่มความสามารถในการสอดแนมผู้คนเกือบ 1,400 ล้านคน โดยใช้กล้องและซอฟต์แวร์จดจำใบหน้า สแกนเนอร์โทรศัพท์ และเครื่องมืออื่นๆ ที่หลากหลาย ด้วยการส่งออกเทคโนโลยีดังกล่าวไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจอุปกรณ์สื่อสารที่บริษัทต่างๆ จัดหาให้ หรือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของจีน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อขยายความสัมพันธ์ทางการค้าของประเทศ
ด้าน อิริค เซเยอร์ส ผู้เชี่ยวชาญจากAmerican Enterprise Institute สถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะของสหรัฐ มองว่า ความเคลื่อนไหวของไบเดนครั้งนี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า นโยบายของสหรัฐที่มีต่อจีนยังคงแข็งกร้าวไม่ต่างไปจากยุคทรัมป์ นอกจากจะแบนบริษัทจีนเพิ่มแล้ว สหรัฐก็ยังไม่ได้ยกเลิกกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจีนที่ทรัมป์ตั้งไว้ และนโยบายไบเดนจะมาในรูปแบบที่เพิ่มความเข้มงวดและขยายขอบเขตการบังคับมากขึ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี