‘ฮ่องกง’ กำหนด ‘CBD’ สารจาก ‘กัญชา’ เป็นยาเสพติดร้ายแรง ครอบครองอาจติดคุก 7 ปี - ปรับ 4 ล้าน
3 ก.พ.2566 เว็บไซต์ นสพ.The Sacramento Bee สื่อท้องถิ่นในเมืองซาคราเมนโต รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เสนอข่าว Hong Kong bans CBD, forcing businesses to shut or revamp ระบุว่า ทางการฮ่องกงกำหนดให้ CBD ซึ่งเป็นสารที่พบในพืชกัญชา เป็นยาเสพติดชนิดร้ายแรง เช่นเดียวกับเฮโรอีนหรือโคเคน มีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2566 ที่ผ่านมา ดังนั้นผู้ที่มีไว้ในครอบครองจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง
โดยกัญชานั้นมีสาร 2 ชนิดที่ผม คือ THC ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทซึ่งถูกจัดให้เป็นสิ่งผิดกฎหมายมานานแล้ว กับ CBD ที่ก่อนหน้านี้เคยได้รับอนุญาตให้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ เช่น คลายเครียดหรือบรรเทาอาการอักเสบ นั่นทำให้ที่ผ่านมามีการขายผลิตภัณฑ์ที่ผสมสาร CBD กันทั่วไปและได้รับความนิยมในหมู่คนวัยหนุ่ม-สาว ทั้งนี้ รัฐบาลฮ่องกงประกาศล่วงหน้าตั้งแต่ปี 2565 ว่าจะกำหนดให้ CBD เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ธุรกิจที่เกี่ยวข้องหากไม่ปิดตัวลงก็ต้องพยายามปรับเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ส่วนผู้บริโภคก็นำสิ่งที่เคยใช้เป็นยารักษาโรคออกไปทิ้งไว้ทั่วเมือง
การปรับเปลี่ยนนโยบายของฮ่องกง สอดรับกับนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างเด็ดขาดในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งในปี 2565 ได้กำหนดให้สาร CBD จากกัญชาเป็นยาเสพติดร้ายแรงเช่นกัน โดยทางการฮ่องกงให้เหตุผลว่า การแยกสาร CBD บริสุทธิ์ออกจากกัญชาทำได้ยาก มีความเป็นไปได้ที่กระบวนการผลิตจะปนเปื้อนสาร THC มาด้วย อีกทั้งการเปลี่ยนสาร CBD เป็น THC ก็ทำได้สะดวก
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำนักงานศุลกากรฮ่องกง ให้คำมั่นว่าจะประชาสัมพันธ์กับผู้อยู่อาศัยในฮ่องกง ว่าหลังจากนี้สาร CBD จะเป็นสิ่งต้องห้าม แม้ว่าที่อื่นจะถูกกฎหมายก็ตาม โดยผู้ครอบครองอาจถูกจำคุกสูงสุด 7 ปี และปรับ 1 ล้านเหรียญฮ่องกง หรือประมาณ 4 ล้านบาท ส่วนผู้ผลิต นำเข้าหรือส่งออก อาจถูกจำคุกสูงสุดตลอดชีวิต และปรับ 5 ล้านเหรียญฮ่องกง หรือราว 20 ล้านบาท
เจนนิเฟอร์ หลอ (Jennifer Lo) เจ้าของร้านเบเกอรี่ที่มี CBD เป็นส่วนผสม มองว่า มาตรการใหม่ทำให้ฮ่องกงที่มีสถานะเป็นศูนย์กลางในแวดวงการเงินระหว่างประเทศดูล้าหลัง ตนนั้นเริ่มขายชีสเค้ก คุกกี้และเครื่องดื่มผสมสาร CBD มาตั้งแต่ ปี 2564 แต่กิจการก็ซบเซาตั้งแต่ก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ นั่นเพราะมีข่าวลือเรื่องการแบนสารจากกัญชาออกมาก่อนแล้ว และเพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย ตนจำเป็นต้องทิ้งสินค้าที่ยังเหลืออยู่ทั้งหมด และต้องสร้างแบรนด์ธุรกิจขึ้นมาใหม่ เช่นเดียวกับ คาเรนา โส่ย (Karena Tsoi) ซึ่งใช้ผลิตภัณฑ์ผสม CBD รักษาอาการกลากเกลื้อนมาแล้ว 2 ปี ยอมรับว่าต้องหันไปหาวิธีอื่น เป็นความลำบากและรัฐไม่ควรควบคุมกันขนาดนี้
รายงานข่าวยังอ้างถึงองค์การอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐฯ (FDA) ที่กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอเกี่ยวกับ CBD ว่าปลอดภัยสำหรับการบริโภคในอาหารหรือเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐสภาสหรัฐฯ ออกกฎหมายควบคุม ท่ามกลางตลาดที่กำลังเติบโต โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากกัญชากำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในโลชั่น ทิงเจอร์และอาหาร แต่กฎหมายที่มีอยู่ในสหรัฐฯ ปัจจุบันสถานะของสิ่งเหล่านี้ยังคลุมเครือ โดยระดับมลรัฐหลายแห่งได้ปลดล็อกกัญชาพ้นจากสิ่งต้องห้าม แต่รัฐบาลกลางยังจัดให้เป็นสิ่งผิดกฎหมายอยู่
-009