เยรูซาเลม (เอเอฟพี/รอยเตอร์ส/บีบีซี นิวส์) - ชาวอิสราเอลจำนวนมากออกมาชุมนุมตั้งแต่กลางดึกคืนวันอาทิตย์ต่อเนื่องถึงวันจันทร์ ประท้วงที่นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู สั่งปลดรัฐมนตรีกลาโหมที่ขอให้รัฐบาลระงับแผนการปฏิรูประบบตุลาการที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจ ขณะที่ล่าสุด ประธานาธิบดี อิซฮาก เฮอร์โซก ของอิสราเอล เรียกร้องให้รัฐบาลยุติแผนการปฏิรูประบบตุลาการที่จุดชนวนประท้วงทั่วประเทศในขณะนี้โดยทันที
ชาวอิสราเอลจำนวนมากออกมาชุมนุมตั้งแต่กลางดึกคืนวันอาทิตย์ พากันโบกธงชาติขณะชุมนุมตามท้องถนนทั่วประเทศ และมีคนไปชุมนุมหน้าบ้านพักนายกรัฐมนตรีในนครเยรูซาเลม หลังจากสำนักนายกรัฐมนตรีประกาศเมื่อเย็นวันอาทิตย์ตามเวลาท้องถิ่นว่า นายกรัฐมนตรีตัดสินใจปลด โยอาฟ กัลลานต์พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม แต่ไม่ได้ประกาศชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งแทนหรือรายละเอียดอื่นๆ กัลลานต์ วัย 64 ปี ทวีตหลังจากนั้นไม่นานว่า ความมั่นคงของอิสราเอลถือเป็นและจะเป็นภารกิจของชีวิตเขาตลอดไป ก่อนหน้านี้ เขาได้เตือนขณะกล่าวทางโทรทัศน์เมื่อวันเสาร์ว่า แผนการปฏิรูประบบตุลาการเป็นภัยที่ชัดเจน ทันที และแท้จริงต่อความมั่นคงของประเทศ ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของประเทศ เขายินดีรับความเสี่ยงและชดใช้ในสิ่งที่จะเกิดขึ้น
ด้านแกนนำฝ่ายค้านชี้ว่า เนทันยาฮูได้ล้ำเส้นแล้วจากการนำความมั่นคงแห่งชาติมาใช้ในเกมการเมือง และขอให้สมาชิกพรรคลิคุดของเนทันยาฮูอย่ามีส่วนร่วมในการบดขยี้ความมั่นคงแห่งชาติ ล่าสุด อิซฮาก เฮอร์โซก ประธานาธิบดีของอิสราเอล ที่เป็นตำแหน่งทางพิธีและไม่มีอำนาจทางการเมือง ออกมาแถลงในวันที่ 27 มี.ค. เรียกร้องรัฐบาลให้ยุติกระบวนการทางกฎหมายโดยทันที เพื่อเห็นแก่ความเป็นเอกภาพของประชาชนชาวอิสราเอลและเพราะเป็นความรับผิดชอบที่จำเป็น ซึ่งหมายถึงการที่สมาชิกรัฐสภาเตรียมลงมติในสัปดาห์นี้ต่อร่างกฎหมายที่เป็นส่วนสำคัญของมาตรการปฏิรูประบบตุลาการ ประธานาธิบดีเฮอร์โซกระบุว่า เมื่อคืนที่ผ่านมาทุกคนได้เห็นภาพที่ลำบากใจอย่างยิ่ง ทั้งประเทศตกอยู่ในความกังวลอย่างยิ่ง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมของอิสราเอลล้วนตกอยู่ในอันตราย
รัฐบาลผสมของนายเนทันยาฮูที่ประกอบด้วยพรรคการเมืองชาตินิยมและพรรคเคร่งศาสนาเผชิญวิกฤตหลังจากบริหารประเทศได้เพียง 3 เดือน หลังจากประกาศเดินหน้าโครงการที่เขาระบุว่ามีความจำเป็น เพื่อควบคุมผู้พิพากษาสายเคลื่อนไหวและฟื้นฟูสมดุลที่เหมาะสมระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับคณะตุลาการ เขาเตรียมจะลงนามส่วนสำคัญของมาตรการปฏิรูป นั่นคือ ร่างกฎหมายเพิ่มอำนาจฝ่ายการเมืองในการควบคุมการแต่งตั้งผู้พิพากษา ด้วยการให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจอย่างกว้างขวางในการเสนอชื่อผู้พิพากษาที่จะดำรงตำแหน่งในศาลฎีกา
แผนการปฏิรูปของรัฐบาลเนทันยาฮูที่ต้องการลดบทบาทของศาลฎีกาและเพิ่มอำนาจให้แก่นักการเมืองจุดกระแสประท้วงในอิสราเอลมาหลายเดือน ด้านโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงแสดงความกังวลอย่างยิ่งและขอให้ผู้นำอิสราเอลหาทางประนีประนอมกัน