วันอังคาร ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ต่างประเทศ
'ร้อนระอุ'ซ้ำเติม'เหลื่อมล้ำ'ทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญชี้‘กลุ่มเปราะบาง’ยิ่งเสี่ยง

'ร้อนระอุ'ซ้ำเติม'เหลื่อมล้ำ'ทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญชี้‘กลุ่มเปราะบาง’ยิ่งเสี่ยง

วันพุธ ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2566, 13.12 น.
Tag : กลุ่มเปราะบาง ร้อนระอุ เหลื่อมล้ำ
  •  

อากาศ‘ร้อนระอุ’ซ้ำเติม‘เหลื่อมล้ำ’ทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญชี้‘กลุ่มเปราะบาง’ยิ่งเสี่ยง-จี้เร่งหาทางรับมือ

12 ก.ค. 2566 สถานีโทรทัศน์ Euronews ของสหภาพยุโรป (EU) ที่มีสำนักงานใหญ่ในฝรั่งเศส เสนอรายงานพิเศษ No city is ‘truly prepared’ for the heatwaves that lay ahead. Here’s what can be done about it ระบุว่า “คลื่นความร้อน (Heat Wave)” กำลังเป็นภัยคุกคามสำคัญของมนุษยชาติ โดยเฉพาะกับประชากรผู้สูงวัย และยิ่งทำให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในสังคมทวีปความรุนแรงขึ้น ซึ่ง ศ.เอริค คลิเนนเบิร์ก (Prof.Eric Klinenberg) อาจารย์ด้านสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า เท่าที่ตนทราบ ไม่มีแม้แต่เมืองเดียวที่เตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดอย่างที่นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศบางคนกลัว


คลิเนนเบิร์ก อธิบายในประเด็นนี้ว่า ในสหรัฐฯ โครงข่ายไฟฟ้าที่เปราะบางต่อความต้องการสูงในบางภูมิภาค รวมถึงความไม่เท่าเทียมทางสังคมที่ยังคงอยู่ อาจสร้างปัญหาร้ายแรงในทศวรรษต่อๆ ไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาสังคมเบื้องหลังที่ทำให้เหตุการณ์ร้อนระอุรุนแรงขึ้น โดยยกตัวอย่างการเสียชีวิตในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ในปี 2538 ไม่เพียงกระจุกตัวอยู่ในย่านที่ยากจนและแยกจากกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในย่านที่เขาเรียกว่า “พร่อง (Depleted)” ด้วย ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้คนมารวมตัวกันได้ยากขึ้น อาทิ พื้นที่ว่างเปล่า ร้านอาหารร้าง และสวนสาธารณะที่ได้รับการบำรุงรักษาไม่ดี หมายความว่าผู้คนมีโอกาสน้อยที่จะตรวจสอบซึ่งกันและกัน

หลายเมืองที่เสี่ยงต่ออากาศร้อนจัดได้พัฒนาแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าขั้นตอนเหล่านั้นอาจไม่เพียงพอในโลกที่ทำลายสถิติความร้อนระอุอย่างต่อเนื่องและความไม่เท่าเทียมกันที่ลึกล้ำยิ่งขึ้น โดยทั่วไปแล้วการเตรียมพร้อมรับมือกับความร้อนจะดีขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากการพยากรณ์มีความแม่นยำมากขึ้น นักอุตุนิยมวิทยา สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐก็เริ่มให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ข่าวอันตรายที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเหตุการณ์ในปี 2538 ซึ่งเมืองชิคาโกวัดอุณหภูมิได้สูงถึง 41 องศาเซลเซียส ทำให้มีผู้เสียชีวิต 700 คน ผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบการแจ้งเตือนด้วยข้อความและอีเมล รวมถึงเชื่อมโยงกลุ่มเปราะบางเพื่อรับความช่วยเหลือ

ผศ.แลดด์ เคธ (Asst.Prof.Ladd Keith) อาจารย์ด้านภูมิสถาปัตยกรรมและการผังเมือง มหาวิทยาลัยแอริโซนา รัฐแอริโซนา ยกตัวอย่างการแจ้งเตือน “รหัสแดง (Red Code)” ว่าด้วย “ความร้อนแบบสุดขั้ว (Extreme Heat)” ที่เมืองบัลติมอร์ในรัฐแมรีแลนด์ โดยที่นั่นมีระบบการแจ้งเตือนที่ออกแบบมาอย่างดี การแจ้งเตือนจะดังขึ้นเมื่อมีการพยากรณ์ว่าดัชนีความร้อนอยู่ที่ 40.5 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่า และเริ่มดำเนินการต่างๆ เช่น บริการทางสังคมเพิ่มเติมในชุมชนที่เสี่ยงต่อความเสี่ยงจากความร้อนมากที่สุด เมืองอื่นๆ ของสหรัฐฯ เช่น ลอสแองเจลิส ไมอามี และฟีนิกซ์ ก็มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อประสานงานการวางแผนและตอบสนองต่อความร้อนที่เป็นอันตราย

ถึงกระนั้น สิ่งที่ใช้ได้ผลในเมืองหนึ่งอาจไม่ได้ผลในอีกเมืองหนึ่ง โดย รศ.ภรัท เวนกัท (Assoc. Prof.Bharat Venkat) ผู้ดูแลศูนย์วิจัยความร้อน (Heat Lab) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (UCLA) รัฐแคลิฟอร์เนีย ให้เหตุผลว่า เพราะแต่ละเมืองมีสถาปัตยกรรม การคมนาคม รูปแบบ และความไม่เท่าเทียมที่แตกต่างกัน อาทิ ในช่วงที่เมืองชิคาโกมีคลื่นความร้อนรุนแรง การเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นในย่านคนจนและคนผิวดำเป็นส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับผู้สูงอายุหรือคนที่ใช้ชิวิตตามลำพัง (Isolated) จำนวนมากต้องทนทุกข์ทรมานโดยไม่มีการระบายอากาศหรือเครื่องปรับอากาศที่เหมาะสม และไฟฟ้าดับก็ทำให้ทุกอย่างแย่ลง

เวนกัท แนะนำให้เมืองต่างๆ ลงทุนในสิทธิแรงงาน การพัฒนาที่ยั่งยืนและอื่นๆ ซึ่งแม้จะถูกมองว่าต้องลงทุนสูงรวมถึงมีคำถามว่าแล้วใครจะจ่าย แต่การไม่ทำอะไรเลยจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นในท้ายที่สุด ขณะที่ รศ.โรบิน บาชิน (Assoc. Prof.Robin Bachin) อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยไมอามี รัฐฟลอริดา ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีกฎหมายคุ้มครองผู้คนในสภาพอากาศหนาวเย็น แต่ไม่มีสิ่งที่คล้ายกันสำหรับการระบายความร้อน โดยคนที่อยู่ในอพาร์ตเมนต์ที่ไม่ได้เงินอุดหนุนจากรัฐ เจ้าของที่พักไม่จำเป็นต้องเตรียมเครื่องปรับอากาศให้ นั่นเป็นอันตรายโดยเฉพาะกับประชากรที่มีรายได้น้อย ยังไม่ต้องพูดถึงคนไร้บ้านหรือคนทำงานกลางแจ้ง

เคท โมเร็ตติ (Kate Moretti) แพทย์ประจำห้องฉุกเฉินในรัฐโรดไอส์แลนด์ เปิดเผยว่า โรงพยาบาลภายในเมืองพบผู้ป่วยมากขึ้นเมื่ออากาศร้อน โดยความเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้นอาจไม่เกี่ยวข้องกับความร้อนอย่างชัดเจน เช่น หัวใจวาย ไตวาย และปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งมันได้สร้างภาวะ “ตึงมือ (Strain)” กับระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะผู้สูงอายุ คนทำงานกลางแจ้ง คนพิการและคนไร้บ้าน คือกลุ่มเสี่ยงสำคัญที่มักเข้ามาใช้บริการ

ในทวีปเอเชีย ที่ประเทศอินเดีย คลื่นความร้อนที่รุนแรงในปี 2553 ซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่า 48 องศาเซลเซียส ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,300 คนในเมืองอาห์มดาบัด กระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐของเมืองมีแผนปฏิบัติการเพื่อเพิ่มความตระหนักในประชากรในท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เช่นเดียวกับในทวีปยุโรป เมืองและประเทศต่างๆ ได้นำมาตรการแจ้งเตือนและปกป้องประชาชนในช่วงที่สภาพอากาศเลวร้าย 

อาทิ ฝรั่งเศส เปิดตัวระบบเตือนการเฝ้าระวังความร้อน หลังจากคลื่นความร้อนขยายวงกว้างในปี 2546 คร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 15,000 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุในอพาร์ตเมนต์ในเมืองและบ้านที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ระบบดังกล่าวรวมถึงการประกาศสาธารณะที่กระตุ้นให้ผู้คนดื่มน้ำ ทั้งนี้ บทเรียนจากฝรั่งเศสยังทำให้ เยอรมนี เปิดตัวโครงการต่อต้านการเสียชีวิตจากคลื่นความร้อนเช่นกัน เมื่อเดือน มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา

ที่เมืองบาร์เซโลนาของสเปน ผู้คนปรับตัวสู้ความร้อนดำเนินการด้วยวิธีง่ายๆ อย่างการทาสีหลังคาบ้านให้เป็นสีขาวเพื่อสะท้อนแสงจ้าของดวงอาทิตย์ ขณะที่กรุงลอนดอนของอังกฤษ ความแห้งแล้งและความร้อนที่ยืดเยื้อยาวนานทำให้อาคารเก่าแก่แตกร้าวและเอียง เป็นสัญญาณเตือนถึงความจำเป็นในการปรับปรุงอาคารให้ทันสมัยโดยนำปัจจัยด้านอุณหภูมิที่ร้อนจัดเข้ามาคำนวณด้วย

แต่ก็ไม่ต่างจากสหรัฐฯ เมื่ออากาศร้อนจัดเผยให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในยุโรป รายงานขององค์กรเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนอย่าง ฮิวแมนไรท์วอตซ์ ที่เผยแพร่ในเดือน มิ.ย. 2566 ชี้ว่า ผู้พิการได้รับผลกระทบแบบ “เกินสัดส่วน (Disproportionately)” จากสภาพอากาศร้อนจัดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเรียกร้องให้ทางการสนับสนุนอย่างเพียงพอในสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่านี่คือทวีปที่ร้อนเร็วที่สุดในโลก

รายงานทิ้งท้ายด้วยมาตรการของรัฐในประเทศสเปน ที่สั่งห้ามทำงานกลางแจ้งในช่วงที่อากาศร้อนจัด ขณะที่บางเมืองในทวีปยุโรปได้เปิดศูนย์ทำความเย็นสาธารณะ ซึ่งคล้ายกับธนาคารที่อบอุ่นในฤดูหนาว ต้นไม้ข้างถนนและพื้นที่สีเขียวสามารถช่วยได้เช่นกัน การวิจัยในยุโรปล่าสุดแสดงให้เห็นว่าการปลูกต้นไม้ในเมืองมากขึ้นสามารถลดการเสียชีวิตจากคลื่นความร้อนได้มากกว่า 1 ใน 3 

ขอบคุณเรื่องจาก euronews

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ‘ยูเอ็น’ห่วง‘สหรัฐฯ’เปิดสงครามการค้า-ตัดงบอาหารโลก กระทบ‘กลุ่มเปราะบาง’ ‘ยูเอ็น’ห่วง‘สหรัฐฯ’เปิดสงครามการค้า-ตัดงบอาหารโลก กระทบ‘กลุ่มเปราะบาง’
  • \'จีน\'ประกาศเตรียมแจกเงินช่วยกลุ่มเปราะบาง ก่อนวันชาติ 1 ตุลาฯนี้ 'จีน'ประกาศเตรียมแจกเงินช่วยกลุ่มเปราะบาง ก่อนวันชาติ 1 ตุลาฯนี้
  • \'ลาสเวกัส\'ร้อนทุบสถิติ ใกล้แตะ 50 องศาเซลเซียส 'ลาสเวกัส'ร้อนทุบสถิติ ใกล้แตะ 50 องศาเซลเซียส
  •  

Breaking News

'นิพนธ์'ต้อนรับคณะนักลงทุนจากเสฉวน-เฉิงตู หวังต่อยอดความร่วมมือไทย-จีน

'สุชาติ'ไม่น้อยใจ นั่ง รมช.พาณิชย์ เหมือนเดิม ยัน กลุ่ม 18 หนุนรัฐบาลต่อ

กทม.จัดพิธีทบทวนคำปฏิญาณลูกเสือ เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ปี 68

ล้มยักษ์! อัล ฮิลาลพลิกต่อเวลาโค่นแมนฯซิตี้4-3ลิ่ว8ทีมสโมสรโลก

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved