วันที่ 6 เมษายน 2567 นสพ.The Guardian ของอังกฤษ รายงานข่าว Peru’s embattled president dismisses ‘Rolexgate’ investigation as a ‘smoke-screen’ ระบุว่า ดินาร์ โบลัวร์เต (Dina Boluarte) ประธานาธิบดีหญิงของเปรู เข้าชี้แจงกับพนักงานอัยการ เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2567 หลังถูกกล่าวหาแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ ซึ่งเชื่อมโยงกับการใช้นาฬิกาโรเล็กซ์และเครื่องประดับจากดีไซเนอร์อย่างน้อยสามเรือน ซึ่งดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกับเงินเดือนประธานาธิบดีประมาณ 3,320 ปอนด์ (ราว 1.5 แสนบาท)
การปฏิเสธอย่างรุนแรงของประธานาธิบดีเกิดขึ้นเพียง 1 สัปดาห์หลังจากที่ตำรวจและอัยการนำหมายค้นไปค้นบ้านพักของเธอในย่านชานเมืองลิมาในตอนกลางคืนเพื่อค้นหานาฬิกา เรื่องอื้อฉาวที่เกี่ยวกับนาฬิกาโรเล็กซ์ทำให้รัฐบาลของเธอต้องพัวพันกับวิกฤติทางการเมือง และบังคับให้ผู้นำที่ไม่เป็นที่นิยมคนนี้ต้องปรับคณะรัฐมนตรีของเธอหลังจากการลาออกกะทันหัน
โบลัวร์เต วัย 61 ปี ยังห่างไกลจากการเป็นประธานาธิบดีเปรูคนแรกที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต แต่ข้อกล่าวหาเหล่านี้ไม่ได้ช่วยปรับปรุงชื่อเสียงของหนึ่งในกลุ่มผู้นำที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการสังหารผู้คน 49 รายโดยกองกำลังความมั่นคง ในระหว่างการประท้วงอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการขับไล่ เปโดร คาสติโย (Pedro Castillo) ประธานาธิบดีคนก่อนในเดือน ธ.ค. 2565 ซึ่ง โบลัวร์เต เผชิญกับการสอบสวนที่กำลังดำเนินอยู่แยกต่างหากเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องในการเสียชีวิตเหล่านั้น
การเข้าให้ปากคำของ โบลัวร์เต ต่อพนักงานอัยการในคดีแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ กินเวลานานถึง 5 ชั่วโมง หลังจากนั้น ปธน.เปรู แถลงข่าวกับสื่อมวลชนโดยบอกว่า นาฬิกาเกือบทุกเรือนที่ปรากฏเป็นข่าวนั้นตนยืมมาจาก วิลเฟรโด ออสโคริมา (Wilfredo Oscorima) ผู้ว่าการมณฑลอายากูโช ทางภาคใต้ของเปรู ซึ่งสนิทสนมกันเหมือนเพื่อนและพี่ชายของตน โดย ออสโคริมา ซึ่งเป็นผู้ให้ยืมนาฬิกา บอกกับตนว่า เขาหวังให้นาฬิกาเหล่านั้นสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศหากตนสวมมัน
“มันเป็นข้อผิดพลาดที่รับนาฬิกาเหล่านั้นจากเพื่อนของฉันมา แต่ฉันก็ได้คืนนาฬิกาที่ยืมนั้นไปแล้ว และเนื่องจากนาฬิกาเรือนนี้ไม่ใช่ทรัพย์สินของฉัน ฉันจึงไม่จำเป็นต้องแจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สิน” โบลัวร์เต กล่าว
รายงานข่าวยังกล่าวอีกว่า ส่วนสร้อยคอและสร้อยข้อมือราคาแพง ผู้นำหญิงของเปรู ยืนยันว่า เป็นทรัพย์สินของตนมาตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อนแล้ว และตอบโต้การสอบสวนของอัยการ พร้อมเรียกร้องความเป็นมืออาชีพมากกว่านี้ ไม่ใช่เอาแต่ไปติดตามเบาะแสจากสื่อที่นำเสนอข่าวแบบซ่อนนัยบางอย่าง (Tendentious Press) แต่ก็ยอมรับว่าตนผิดพลาดในการชี้แจงก่อนหน้านี้ โดยกล่าวถึง มาเตโอ คาสตาเนดา (Mateo Castaneda) ทนายความประจำตัว ที่นั่งอยู่ในงานแถลงข่าวด้วย ว่าเป็นผู้แนะนำไม่ให้ตนพูดอะไรจนกว่าจะให้ข้อมูลกับอัยการเสร็จสิ้นเสียก่อน
การตอบสนองล่าช้าของโบลูลัวร์เตต่อข้อกล่าวหาซึ่งเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือน มี.ค. 2567 อาจช่วยบรรเทาความสงสัยได้เพียงเล็กน้อย เรื่องอื้อฉาวนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ La Encerrona ซึ่งเป็นพอดแคสต์ข่าวยอดนิยมของเปรู วิเคราะห์ภาพ 10,000 ภาพจากบัญชี Flickr ของประธานาธิบดี และเผยให้เห็นสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นคอลเลกชันนาฬิกาและเครื่องประดับสุดหรูที่ไม่เปิดเผย ขณะที่สำนักงานอัยการยังไม่ได้ให้ความเห็นใดๆ ต่อการชี้แจงของผู้นำเปรู
ขอบคุณเรื่องจาก
https://www.theguardian.com/world/2024/apr/06/perus-embattled-president-dismisses-rolexgate-investigation-as-a-smoke-screen
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี