7 ธ.ค. 2567 สำนักข่าว Voice of America สหรัฐอเมริกา รายงานข่าว Mexico study finds that heat kills young people more than elderly ระบุว่า ที่ประเทศเม็กซิโก ผลการศึกษาพบประชากรวัยหนุ่ม-สาว เสียชีวิตจากอากาศร้อนมากกว่าผู้สูงอายุ ซึ่งสร้างความประหลาดใจอย่างมากเพราะแตกต่างไปจากความเชื่อแบบเดิมๆ ที่ผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มเปราะบางในการเผชิญกับสภาวะอากาศร้อนจัด
วารสารวิชาการ Science Advances ในสหรัฐฯ เผยแพร่ผลการศึกษาเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2567 ซึ่งเก็บข้อมูลพิจารณาการเสียชีวิตทั้งหมดในเม็กซิโกตั้งแต่ปี 2541-2562 แสดงให้เห็นว่าเมื่อความชื้นและอุณหภูมิรวมกันสูงถึงระดับที่ไม่สบายตัว ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 30 องศาเซลเซียสและความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 50 จะทำให้คนอายุ 35 ปีเสียชีวิตจากอุณหภูมิเกือบ 32 ราย ต่อคนอายุ 50 ปีขึ้นไปเสียชีวิตจากอุณหภูมิ หรือก็คือทั้งที่กลุ่มคนวัย 18-35 ปี เป็นวัยที่ร่างกายแข็งแรง แต่กลับเสียชีวิตจากอุณหภูมิมากกว่าประชากรวัย 50 ปีขึ้นไปถึง 9 เท่า
คณะผู้วิจัยและผู้เชี่ยวชาญภายนอกที่ร่วมทบทวนผลการศึกษากำลังพยายามหาสาเหตุ โดยข้อมูลประชากรเพียงอย่างเดียวไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมชาวเม็กซิกันวัยหนุ่ม-สาวจึงเสียชีวิตจากความร้อนสูงมากกว่าผู้สูงอายุ เบื้องต้นตั้งสมมติฐานไว้ 2 ข้อ คือ 1.คนทำงานกลางแจ้งที่ไม่สามารถหนีความร้อนได้ กับ 2.คนหนุ่ม-สาวที่ไม่รู้ขีดจำกัดของตนเอง ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะขยายตัวขึ้นเมื่อโลกอุ่นขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ตามการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ที่ดำเนินการโดยทีมวิจัย
เจฟฟรีย์ ชเรเดอร์ (Jeffrey Shrader) นักเศรษฐศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมวิจัย กล่าวว่า พวกตนพบว่าคนหนุ่ม-สาวมีความเสี่ยงต่อความร้อนชื้นเป็นพิเศษ เมื่อสภาพอากาศอุ่นขึ้น ความเสียงของการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิจะไปอยู่ที่คนหนุ่ม-สาว ในขณะที่ผู้สูงอายุมักจะเสี่ยงต่ออุณหภูมิที่หนาวเย็นมากกว่า ซึ่งพบว่า ชาวเม็กซิกันวัย 50 ปีขึ้นไปเสียชีวิตมากกว่า 300 รายต่อคนหนุ่ม-สาว 1 คนที่เสียชีวิตจากอุณหภูมิที่หนาวเย็น
คณะผู้วิจัยวิจัยตัดสินใจที่จะตรวจสอบการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศในเม็กซิโก เนื่องจากประเทศดังกล่าวไม่เพียงแต่มีข้อมูลการเสียชีวิตโดยละเอียดเท่านั้น แต่ยังมีสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกันหลากหลาย ทำให้เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการศึกษาวิจัยเชิงลึก นักวิจัยยังต้องการค้นหาว่านี่เป็นเพียงสถานการณ์ในเม็กซิโกหรือว่าพื้นที่อื่นๆ ของโลกที่มีอากาศอบอุ่นกว่านั้นมีอัตราการเสียชีวิตของผู้ใหญ่ในวัยหนุ่มสาวเพิ่มขึ้นในลักษณะเดียวกันในสภาพอากาศร้อนและความชื้นสูง
ชเรเดอร์ เล่าต่อไปว่า ในตอนแรก ทีมงานต้องการดูเฉพาะจำนวนผู้เสียชีวิตและสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่าอุณหภูมิโลกแบบหลอดเปียก แต่เมื่อพิจารณาถึงความแตกต่างของอายุ พวกตนก็รู้สึกประหลาดใจและมองในรายละเอียดมากขึ้น “อุณหภูมิกระเปาะเปียก (Wet bulb Temperature)” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนถึงการระบายความร้อนของร่างกายนั้นได้มาจากระบบการวัดที่ซับซ้อนซึ่งคำนึงถึงความชื้นและรังสีดวงอาทิตย์ อุณหภูมิโลกแบบกระเปาะเปียกที่ 35 องศาเซลเซียสนั้นถือเป็นขีดจำกัดความอยู่รอดของมนุษย์ สถานที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงระดับนั้นได้
แอนดรูว์ วิลสัน (Andrew Wilson๗ นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ภูมิอากาศของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า นักวิจัยกำหนดอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิโดยใช้การวิเคราะห์ทางสถิติที่ซับซ้อนซึ่งเปรียบเทียบปัจจัยต่างๆ มากมายในจำนวนผู้เสียชีวิตและตัดปัจจัยทั้งหมดออก ยกเว้นความผันผวนของอุณหภูมิ นอกจากนี้ นักวิจัยยังคำนวณอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดสำหรับช่วงที่มีผู้เสียชีวิตเกินจำนวนน้อยที่สุดในแต่ละกลุ่มอายุ โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับผู้ใหญ่ที่อายุน้อยกว่าคือเย็นกว่าผู้สูงอายุประมาณ 5 องศาเซลเซียส
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและสภาพอากาศภายนอกบางคนรู้สึกสับสนในตอนแรกกับอัตราการเสียชีวิตของคนอายุน้อยที่สูงขึ้นที่เห็นในการศึกษานี้ เช่น แพทริก คินนีย์ (Patrick Kinney) ศาสตราจารย์ด้านสุขภาพในเมืองและความยั่งยืนที่มหาวิทยาลัยบอสตัน อีกหนึ่งในคณะผู้วิจัย ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้ว่าการศึกษาครั้งนี้นับรวมสัดส่วนคนทำงานกลางแจ้งที่สัมผัสกับความร้อนสูงกว่าการศึกษาครั้งก่อน
เทเรซา คาบาโซส (Tereza Cavazos) นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศที่ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และการศึกษาระดับสูงเอนเซนาดาในเม็กซิโก ซึ่งร่วมในการศึกษานี้ด้วย กล่าวว่า คนรุ่นพ่อของตนเคยงีบหลับในช่วงกลางวันที่มีอากาศร้อนจัด ซึ่งนั่นถือว่าดีต่อสุขภาพ แต่ปัจจุบันไม่ค่อยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยนัก มีประชากรจำนวนมากที่เสี่ยงต่ออันตรายซึ่งไม่ใช่ในอนาคตแต่เป็นปัจจุบัน
คาบาโซส อ้างถึงคลื่นความร้อน 3 ลูกในเม็กซิโกในปี 2567 ที่เข้าถล่มใจกลางประเทศและทำให้ความร้อนที่ร้ายแรงยังคงดำเนินต่อไปตลอดทั้งคืน ทำให้ผู้คนแทบไม่ได้รับการผ่อนคลาย โดยปกติแล้วคืนที่อากาศเย็นจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้ โดยคนหนุ่ม-สาวมักรู้สึกว่าตนเองไม่เสี่ยงต่อสภาพอากาศที่เลวร้าย และมักทำสิ่งที่เพิ่มความเสี่ยง เช่น เล่นกีฬาในสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูง
มารินา โรมาเนลโล (Marina Romanello) ผู้อำนวยการบริหารของ Lancet Countdown ซึ่งติดตามผลกระทบต่อสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ไม่ได้อยู่ในทีมวิจัยนี้ กล่าวว่า ผู้คนทุกวัยมีความเสี่ยงจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ และผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าประชากรกลุ่มที่เคยคิดว่าค่อนข้างปลอดภัยจากผลกระทบต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับความร้อนอาจไม่ได้รับความปลอดภัยมากนัก ความร้อนเป็นฆาตกรเงียบที่อันตรายกว่าที่คนส่วนใหญ่ยอมรับ และความร้อนกำลังทำให้สุขภาพและการดำรงชีวิตของเราตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ
เรนี ซาลาส (Renee Salas) แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินและผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่โรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์เจเนอรัลและโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด ซึ่งไม่ได้เป็นหนีงในคณะผู้วิจัย กล่าวว่า ความชื้นที่สูงทำให้ร่างกายระบายความร้อนได้ยากขึ้นมากผ่านทางเหงื่อ ซึ่งเป็นวิธีที่ร่างกายของเราใช้ระบายความร้อนเป็นหลัก ดังนั้น คนหนุ่ม-สาวที่มีสุขภาพแข็งแรงซึ่งทำงานกลางแจ้งในสภาพอากาศร้อนและความชื้นสูงอาจถึงจุดที่ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้อย่างปลอดภัยอีกต่อไป ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บจากความร้อนที่ร้ายแรงอย่างโรคลมแดด
ขอบคุณเรื่องจาก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี