14 ม.ค. 2568 สำนักข่าวอัลจาซีราของกาตาร์ เสนอรายงานพิเศษ What is ‘waste colonialism’ and why has Thailand banned imports of plastic? ว่าด้วยบรรดาเหล่า “ประเทศโลกที่ 1” หรือประเทศพัฒนาแล้ว มักมองเห็น “ประเทศโลกที่ 3” หรือประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาเป็น “ที่ทิ้งขยะ” ซึ่งล่าสุด ไทยได้กลายเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประกาศไม่ยอมให้ใช้แผ่นดินเป็นที่ทิ้งขยะอีกต่อไป ด้วยการออกประกาศห้ามนำเข้าขยะพลาสติก เช่นเดียวกับที่ก่อนหน้านี้ ประเทศจีนที่เคยยอมให้ใช้แผ่นดินเป็นที่ทิ้งขยะพลาสติกมาตั้งแต่ปี 2535 ก็ประกาศห้ามตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา
ประกาศฉบับใหม่ล่าสุดของไทยซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 เป็นต้นมา ได้ห้ามนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ เพื่อพยายามควบคุมปัญหามลพิษในประเทศ โดยหากย้อนไปช่วงก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ปี 2561 ไทยรับขยะพลาสติกจากประเทศโลกที่ 1 อย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษและญี่ปุ่น ข้อมูลของทางการไทย พบว่า ช่วงปี 2561 – 2564 ประเทศไทยนำเข้าเศษพลาสติกมากกว่า 1.1 ล้านตัน และในปี 2566 ญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียวส่งออกขยะพลาสติกมายังประเทศไทยประมาณ 50 ล้านกิโลกรัม (50,000 ตัน)
การนำเข้าเหล่านี้มักได้รับการจัดการที่ไม่ดี โดยโรงงานหลายแห่งเผาขยะแทนที่จะรีไซเคิล ซึ่งมีความพยายามเรียกร้องจากภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อมมานานหลายปี อาทิ ในปี 2562 นักเคลื่อนไหวจากประเทศไทยร่วมกับองค์กรกรีนพีซ ได้จัดการประท้วงห้ามขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพลาสติกในระหว่างการประชุมสุดยอดของผู้นำกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ครั้งที่ 34 ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ กระทั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทยได้เสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และได้รับความเห็นชอบในเดือน ธ.ค. 2567
บรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วมักนิยมส่งออกขยะไปยังประเทศโลกที่ 3 เพราะมีต้นทุนการกำจัดที่ถูกกว่าดำเนินการภายในประเทศของตนเอง เช่น ต้นทุนแรงงานต่ำกว่าและอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนกว่า จึงสามารถแปรรูปและรีไซเคิลขยะได้ในราคาที่ต่ำกว่า ทำให้ประเทศโลกที่ 1 “ได้ทั้งหน้า” คือยังคงอ้างว่าบรรลุเป้าหมายในการรีไซเคิล และแสดงตนว่ามุ่งมั่นที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ “ได้ทั้งเงิน” คือลดต้นทุนในการบริหารจัดการขยะลง
นอกจากปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นกับความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ ที่ประเทศร่ำรวยกว่ากระทำต่อประเทศยากจนกว่าแล้ว ยังพบได้ในประเทศเดียวกันที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ด้วย เช่น ในสหรัฐฯ เป็นเวลาหลายปีที่มลรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือส่งขยะไปยังมลรัฐทางใต้ ซึ่งกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่อ่อนแอกว่าและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในแง่ของค่าจ้างและมูลค่าที่ดินที่ถูกกว่า ทำให้การจัดการหลุมฝังกลบขยะมีราคาถูกกว่า เช่น ในปี 2561 "ขบวนรถสิ่งปฏิกูล" ที่เต็มไปด้วยน้ำเสียจากนิวยอร์กและนิวเจอร์ซีจอดอยู่ที่รัฐอลาบามา ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ เป็นเวลาหลายเดือน ก่อให้เกิดความโกรธแค้น
บรรดาชาติในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนามักยอมรับขยะพลาสติกเนื่องจากแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ การนำขยะพลาสติกที่นำเข้ามาใช้ใหม่สามารถสร้างงานและสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่นได้ โดยคาดว่าตลาดการจัดการขยะพลาสติกทั่วโลกจะมีมูลค่า 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบ 1.3 ล้านล้านบาท) ในปี 2566 และคาดว่าจะเติบโตเป็นประมาณ 44,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 1.5 ล้านล้านบาท) ในปี 2570
Observatory of Economic Complexity (OEC) แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการแสดงภาพข้อมูลและการแจกจ่ายที่เน้นที่ภูมิศาสตร์และพลวัตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เผยให้เห็นว่าในปี 2565 ตุรกีมีรายได้ 252 ล้านเหรียญสหรัฐ (8.8 พันล้านบาท) จากการนำเข้าเศษพลาสติก ขณะที่มาเลเซียอยู่ที่ 238 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 8.3 พันล้านบาท) เวียดนาม 182 ล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบ 6.4 พันล้านบาท) และอินโดนีเซีย 104 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.6 พันล้านบาท)
ขยะพลาสติกส่วนใหญ่คือพลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์ (ภาพโดยอัลจาซีรา)
ขยะพลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกในครัวเรือนผสมกัน จะถูกหลอมเป็นเม็ดพลาสติก เผา หรือทิ้ง พลาสติกผสมเหล่านี้รีไซเคิลได้ยาก เนื่องจากมักปะปนอยู่กับสิ่งของที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ เช่น ขวดและบรรจุภัณฑ์ เม็ดพลาสติกที่หลอมละลายแล้วจะถูกนำไปใช้ทำผลิตภัณฑ์ เช่น บรรจุภัณฑ์หรือเฟอร์นิเจอร์ โดยผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า หากองค์การสหประชาชาติ (UN) ไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสนธิสัญญายุติมลภาวะจากพลาสติกได้ อาจนำไปสู่วิกฤติสุขภาพของมนุษย์ครั้งใหญ่
ปัญหาหลักๆ ได้แก่ การสัมผัสกับไมโครพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กที่เกิดจากการย่อยสลายของพลาสติกชิ้นใหญ่ โดยพบได้ทุกที่ ตั้งแต่ในอากาศและในน้ำ ไปจนถึงอาหาร และเนื้อเยื่อของมนุษย์ ไมโครพลาสติกยังถูกเติมลงในผลิตภัณฑ์บางชนิดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของพวกมันในบางครั้ง ตัวอย่างเช่น ไมโครพลาสติกถูกนำไปใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ขัดผิวหรือยาสีฟันในรูปเม็ดขัด แม้จะล้างออกแล้ว ไมโครพลาสติกจะไม่สลายตัวเนื่องจากน้ำ แต่จะสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมแทน
มีผลการศึกษาพบว่า ไมโครพลาสติกอาจใช้เวลา 100 ถึง 1,000 ปีในการย่อยสลายจนหมด ผู้คนยังเสี่ยงต่อการสูดดมสารพิษจากการเผาขยะพลาสติกอีกด้วย การเผาขยะพลาสติกจะปล่อยสารเคมีและอนุภาคที่เป็นอันตราย ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจและหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการจัดการขยะที่ไม่ดี ตามรายงานที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ของอังกฤษอย่าง British Medical Journal ในเดือน ม.ค. 2568
ก่อนหน้านี้ จีนเคยเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับขยะในครัวเรือนและถูกใช้เป็นที่ทิ้งขยะพลาสติกเกือบครึ่งหนึ่งของโลกตั้งแต่ปี 2535 1จนกระทั่งทางการแดนมังกรประกาศห้ามในปี 2561 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการค้า ขณะที่ประเทศไทย ตามข้อมูลจากกรมศุลกากรของไทย ในปี 2561 ขยะพลาสติกที่ถูกส่งไปที่นั่นพุ่งสูงถึงกว่า 500,000 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าจากปริมาณเฉลี่ยก่อนปี 2558
ในขณะเดียวกัน หลังจากที่จีนประกาศห้าม อังกฤษก็เริ่มส่งออกขยะพลาสติกไปยังตุรกีมากกว่าประเทศอื่นๆ โดยปริมาณเพิ่มขึ้นจาก 12,000 ตันในปี 2559 เป็น 209,642 ตันในปี 2563 ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของการส่งออกขยะพลาสติกของเมืองผู้ดี และแม้ในเดือน พ.ค. 2564 รัฐบาลตุรกีประกาศห้ามนำเข้าขยะพลาสติกโพลีเมอร์เอทิลีน ซึ่งมักใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหารและภาชนะ เช่น ขวด แต่ก็ต้องถูกยกเลิกหลังบังคับใช้ไปเพียงไม่กี่วัน เนื่องด้วยมีแรงกดดันจากอุตสาหกรรมพลาสติกในประเทศ ซึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้าขยะเป็นวัตถุดิบ
รายงานของสื่อกาตาร์ กล่าวต่อไปว่า ผู้ส่งออกขยะพลาสติกชั้นนำของโลกหลายรายเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีความสามารถในการรีไซเคิลที่สำคัญ ผู้ส่งออก 10 อันดับแรกล้วนเป็นประเทศที่มีรายได้สูงและพัฒนาแล้ว โดยมี 7 ประเทศอยู่ในทวีปยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 71 ของการส่งออกขยะพลาสติกทั่วโลก ซึ่งรวมเป็นมากกว่า 4.4 ล้านตันต่อปี เช่น เยอรมนีส่งออกประมาณ 688,067 ตันต่อปี ทำให้เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก ขณะที่อังกฤษส่งออกประมาณ 600,000 ตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 61 ของขยะพลาสติกทั้งหมด
ขณะที่สหรัฐอเมริกา แม้จะรีไซเคิลขยะพลาสติกได้เองเป็นจำนวนมาก แต่การส่งขยะออกไปนอกประเทศก็มากเช่นกัน ในปี 2561 สหรัฐฯ ส่งออกขยะพลาสติกไปต่างประเทศ 1.07 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของขยะพลาสติกที่รีไซเคิลได้ โดยร้อยละ 78 ของขยะพลาสติกที่ส่งออกไปนั้นส่งไปยังประเทศที่ไม่มีระบบการจัดการขยะที่เพียงพอ
ในปี 2566 สหภาพยุโรป (EU) ประกาศว่าจะห้ามการส่งออกขยะพลาสติกไปยังประเทศยากจนนอกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ตั้งแต่กลางปี 2569 เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในประเทศเหล่านั้น ซึ่ง OECD เป็นกลุ่มการค้าและการพัฒนาที่ประกอบด้วย 38 ประเทศที่เป็นชาติร่ำรวยเป็นส่วนใหญ่ โดยการส่งออกขยะพลาสติกไปยังประเทศ OECD จะมีกฎที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ส่วนประเทศที่ไม่ใช่ OECD สามารถแจ้งขอยกเว้นจากการบังคับใช้กฎใหม่ของสหภาพยุโรปได้ หากประเทศนั้นพิสูจน์ได้ว่าสามารถจัดการขยะได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวหลายคนโต้แย้งว่า ข้อจำกัดเฉพาะประเทศหรือเฉพาะกลุ่มดังกล่าวเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาชั่วคราว โดยเรียกร้องให้มีสนธิสัญญาเกี่ยวกับขยะพลาสติกระดับโลกที่มีประสิทธิผล ซึ่งจะเป็นการกำหนดกฎเกณฑ์ที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเพื่อลดการผลิตพลาสติกและปรับปรุงกรอบการทำงานสำหรับการจัดการขยะและการรีไซเคิลในระดับโลก
ในเดือน ธ.ค. 2567 ประเทศต่างๆ ไม่สามารถตกลงกันเกี่ยวกับสนธิสัญญาได้ในระหว่างการเจรจาที่นำโดยสหประชาชาติในเมืองปูซานของเกาหลีใต้ ประเทศต่างๆ มากกว่า 100 ประเทศสนับสนุนร่างที่จะลดการผลิตพลาสติก 400 ล้านตันต่อปี และเลิกใช้สารเคมีและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวบางชนิด แต่ประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เช่น ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และรัสเซีย คัดค้านการลดการใช้ ทำให้การเจรจาล้มเหลว ซึ่งพลาสติกทำมาจากปิโตรเคมีที่ได้จากน้ำมันและก๊าซ ทำให้การผลิตมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล
“ยังไม่ชัดเจนว่าการเจรจาระดับโลกครั้งต่อไปเกี่ยวกับสนธิสัญญาพลาสติกจะเกิดขึ้นเมื่อใด” รายงานของอัลจาซีรา กล่าวในตอนท้าย
ขอบคุณเรื่องจาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
https://www.naewna.com/inter/540784 อียูห้ามส่งออกขยะพลาสติก‘รีไซเคิลยาก’ ให้ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก‘สโมสรคนรวย’
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี