5 ก.ค. 2568 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าว Gaza Humanitarian Foundation says two of its US aid workers injured in Gaza อ้างการเปิดเผยของ มูลนิธิมนุษยธรรมแห่งกาซา (GHF) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและอิสราเอล ว่ามีเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ชาวอเมริกัน 2 ราย ได้รับบาดเจ็บจากการถูกโจมตีใกล้กับจุดแจกจ่ายอาหารให้กับชาวปาเลสไตน์ในดินแดนฉนวนกาซา โดยขณะนี้ผู้บาดเจ็บถูกส่งเข้ารักษาที่โรงพยาบาลแล้วและอาการยังคงที่
ตามข้อมูลของ GHF มีคนร้าย 2 ราย ขว้างระเบิด 2 ลูกใส่ชาวอเมริกัน หลังเสร็จสิ้นภารกิจแจกจ่ายอาหาร เบื้องต้นยังไม่ชัดเจนในทันทีว่ากลุ่มใดอยู่เบื้องหลังการโจมตีครั้งนี้ ขณะที่กองทัพอิสราเอลยังไม่แสดงความคิดเห็นในทันที ทั้งนี้ นอกจากเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์แล้ว GHF ยังจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัยเอกชนของสหรัฐฯ ให้จัดกำลังคนมาคุ้มกันพื้นที่แจกจ่ายอาหารด้วย
ทางการกาซารายงานแยกกันว่าชาวปาเลสไตน์หลายสิบคนถูกกองทัพอิสราเอลสังหารในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา รวมถึงบริเวณใกล้กับจุดแจกจ่ายความช่วยเหลือด้วย ขณะที่เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2568 กระทรวงมหาดไทยของกลุ่มฮามาสที่ปกครองฉนวนกาซา ได้เตือนประชาชนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลไม่ให้เข้าไปช่วยเหลือ GHF โดยกล่าวว่าเหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆ ใกล้กับสถานที่แจกจ่ายอาหารกำลังเป็นอันตรายต่อชาวกาซาที่หิวโหย
GHF เริ่มแจกจ่ายอาหารในฉนวนกาซาเมื่อปลายเดือน พ.ค. 2568 โดยเลี่ยงผ่านช่องทางการให้ความช่วยเหลือแบบเดิม รวมถึงสหประชาชาติที่ระบุว่าองค์กรที่มีฐานอยู่ในสหรัฐฯ แห่งนี้ไม่มีความเป็นกลาง โดย GHF กล่าวว่าได้จัดส่งอาหารมากกว่า 52 ล้านมื้อให้แก่ชาวปาเลสไตน์ในช่วง 5 สัปดาห์ ขณะที่ความช่วยเหลือของกลุ่มมนุษยธรรมอื่นๆ เกือบทั้งหมดถูกปล้นสะดม
นับตั้งแต่ที่อิสราเอลยกเลิกการปิดกั้นความช่วยเหลือในฉนวนกาซาเป็นเวลา 11 สัปดาห์เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2568 สหประชาชาติกล่าวว่ามีชาวปาเลสไตน์มากกว่า 400 คนเสียชีวิตระหว่างที่แสวงหาความช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหประชาชาติกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่พยายามเข้าถึงจุดแจกจ่ายความช่วยเหลือของ GHF
ภาพที่ GHF เผยแพร่เผยให้เห็นจุดแจกจ่ายอาหารอย่างน้อย 1 จุดที่ไม่มีกระบวนการแจกจ่ายที่ชัดเจน ชาวปาเลสไตน์ระบุว่าสถานที่ดังกล่าววุ่นวาย ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุขของกาซา มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 70 รายจากการปฏิบัติการของกองทัพอิสราเอลในพื้นที่ดังกล่าวในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา โดยรวมถึง 23 รายใกล้จุดแจกจ่ายความช่วยเหลือ แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าพวกเขาถูกสังหารที่ไหนหรืออย่างไร
นับตั้งแต่กลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,200 ราย และจับคนเป็นตัวประกันอีก 251 ราย ล่าสุดยังเหลือตัวประกัน 50 รายที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในฉนวนกาซา แต่เชื่อว่าในจำนวนนี้มีเพียง 20 รายที่ยังมีชีวิตอยู่ ขณะที่มีชาวปาเลสไตน์มากกว่า 57,000 คนในฉนวนกาซาเสียชีวิตในการสู้รบระหว่างกองทัพอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส
(รอยเตอร์) 30 มิ.ย. 2568 ชาวปาเลสไตน์แบกผู้บาดเจ็บจากการโจมตีของอิสราเอล (ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุขกาซา) รอความช่วยเหลือที่โรงพยาบาลนัสเซอร์ ในเมืองข่าน ยูนิส ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา
ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2568 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าว WHO says Gaza's Nasser hospital 'one massive trauma ward' อ้างการเปิดเผยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ว่า โรงพยาบาลนัสเซอร์ในฉนวนกาซาได้กลายเป็นแผนกฉุกเฉินขนาดใหญ่ เนื่องจากมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้ามาที่จุดแจกจ่ายอาหารที่ไม่ใช่ของสหประชาชาติ ซึ่งดำเนินการโดย GHF
องค์กรดังกล่าวซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และอิสราเอล เริ่มแจกจ่ายอาหารในฉนวนกาซาเมื่อปลายเดือนพ.ค. 2568 โดยกำกับดูแลรูปแบบการจัดส่งแบบใหม่ที่สหประชาชาติระบุว่าไม่เป็นกลาง โดย GHF ปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าไม่มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บที่จุดแจกอาหาร โดยการชี้แจงล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2568 GHF ระบุว่า การโจมตีที่ร้ายแรงที่สุดต่อสถานที่ให้ความช่วยเหลือมีความเชื่อมโยงกับขบวนรถของสหประชาชาติ ซึ่งสหประชาชาติและกลุ่มด้านมนุษยธรรมๆ ควรทำงานร่วมกันกับ GHF เพื่อเพิ่มปริมาณความช่วยเหลือที่ส่งไปยังฉนวนกาซาอย่างปลอดภัยให้ได้มากที่สุด
ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ริค ปีเปอร์คอร์น (Rik Peeperkorn) ผู้แทน WHO ประจำเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลนัสเซอร์ได้เห็นผู้บาดเจ็บรายวันมาหลายสัปดาห์แล้ว ..ส่วนใหญ่มาจากสถานที่แจกจ่ายอาหารที่ปลอดภัยซึ่งไม่ใช่ของสหประชาชาติ โรงพยาบาลแห่งนี้เปิดดำเนินการเป็นแผนกผู้ป่วยฉุกเฉินขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง
อิสราเอลได้ยกเลิกการปิดล้อมให้ความช่วยเหลือในฉนวนกาซาเป็นเวลา 11 สัปดาห์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2568 เป็นต้นมา ขณะที่เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2568 สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เปิดเผยว่า ได้บันทึกการสังหารอย่างน้อย 613 ครั้งทั้งที่จุดให้ความช่วยเหลือที่ดำเนินการโดยมูลนิธิเพื่อมนุษยธรรมแห่งกาซา (GHF) และใกล้กับขบวนรถช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
ราวินา ชัมดาซานี (Ravina Shamdasani) โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) กล่าวว่า จำนวน 613 ครั้ง เป็นตัวเลข ณ วันที่ 27 มิ.ย. 2568 แต่หลังจากนั้นก็ยังมีเหตุการณ์อื่นๆ เกิดขึ้นอีก ทั้งนี้ 509 ครั้งของการรายงาน จากทั้งหมด 613 ครั้ง เกิดขึ้นใกล้จุดแจกอาหารของ GHF แต่ทาง GHF ได้ออกมาปฏิเสธรายงานดังกล่าว โดยชี้แจงว่า ตัวเลขเหล่านี้มาจากกระทรวงสาธารณสุขกาซาที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มฮามาส และถูกใช้เพื่อใส่ร้าย
ก่อนหน้านี้ GHF เคยกล่าวไว้ว่าได้จัดส่งอาหารมากกว่า 60 ล้านมื้อให้แก่ชาวปาเลสไตน์ที่หิวโหยในระยะเวลา 5 สัปดาห์อย่างปลอดภัยและปราศจากการแทรกแซง ในขณะที่กลุ่มมนุษยธรรมอื่นๆ ถูกปล้นความช่วยเหลือเกือบทั้งหมด ขณะที่สำนักงานประสานงานกิจการมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) ระบุว่า มีเหตุการณ์ปล้นสะดมและโจมตีคนขับรถบรรทุกความช่วยเหลืออย่างรุนแรงเกิดขึ้นหลายครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้
ผู้ป่วยหลายร้อยคน ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นชาย ได้รับการรักษาบาดแผลจากอุบัติเหตุ รวมทั้งบาดแผลจากกระสุนปืนที่ศีรษะ หน้าอก และเข่า ตามข้อมูลของ WHO โดย ปีเปอร์คอร์น กล่าวว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ รพ.นัสเซอร์ และคำให้การจากสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนของผู้ได้รับบาดเจ็บ ยืนยันว่าเหยื่อพยายามขอความช่วยเหลือจากสถานที่ที่ GHF ดำเนินการ
ผู้แทน WHO ประจำเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา ยังเล่าถึงกรณีเด็กชายวัย 13 ปีถูกยิงที่ศีรษะ รวมถึงเด็กชายวัย 21 ปีที่ถูกกระสุนปืนฝังที่คอ ซึ่งทำให้เขาเป็นอัมพาตครึ่งล่าง ไม่มีทางแก้ไขหรือรักษาให้หายขาดได้เลย ชีวิตเด็กๆ กำลังถูกทำลายตลอดไป พร้อมเรียกร้องให้ยุติการสู้รบและให้มีการอนุญาตให้ส่งความช่วยเหลือด้านอาหารเข้าไปในฉนวนกาซาได้มากขึ้น
ขอบคุณเรื่องจาก
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี