17 กรกฎาคม 2568 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า จากกรณีที่ 'อิสราเอล' ได้เปิดฉากโจมตีทางอากาศอย่างหนักหน่วงถล่มกรุงดามัสกัส (Damascus) เมืองหลวงของซีเรีย สร้างความเสียหายให้กับกระทรวงกลาโหม และพื้นที่ใกล้ทำเนียบประธานาธิบดี พร้อมประกาศว่าจะทำลายกองกำลังรัฐบาลซีเรีย และเรียกร้องให้ซีเรียถอนกำลังจากบริเวณตอนใต้ของประเทศ
การโจมตีทางอากาศดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากเหตุปะทะระหว่างกลุ่มผู้นับถือศาสนาดรูซ กับชนเผ่าเบดูอิน ตั้งแต่ช่วงวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในเมืองสุไวดา ซึ่งเป็นเมืองที่มีชาวดรูซอาศัยจำนวนมาก ก่อนที่ต่อมารัฐบาลซีเรียจะส่งกำลังมาเพื่อแก้ปัญหาในวันต่อมา ทว่าไม่สำเร็จ ทำให้กลายเป็นการปะทะกันระหว่าง 3 ฝ่าย ทางอิสราเอลระบุว่า จะไม่อนุญาตให้กองกำลังซีเรียเคลื่อนพลไปยังตอนใต้ของประเทศ พร้อมประกาศว่าจะปกป้องชุมชนชาวดรูซให้รอดพ้นจากการโจมตี ซึ่งเป็นเสียงเรียกร้องจากกลุ่มชุมชนชาวดรูซในอิสราเอล
ซึ่ง 'ชาวดรูซ' (Druze) เป็นชุมชนทางศาสนาที่มีชื่อเสียงซึ่งมีประชากรมากกว่าล้านคนกระจายตัวอยู่ทั่วซีเรีย เลบานอน และอิสราเอล ซึ่งพยายามรักษาเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ ชาวดรูซ ถือกำเนิดขึ้นในอียิปต์ เมื่อช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 โดยแตกแขนงมาจากนิกายอิสมาอีลี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ ชาวดรูซนับถือเทวนิยมองค์เดียว และเรียกตัวเองว่า 'มูวาฮิดูน' หรือ 'ยูนิทาเรียน' ซึ่งเป็นนิกายที่มีความลับอย่างยิ่ง และมีองค์ประกอบทางไสยศาสตร์ เช่น ความเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิด
ลัทธินี้กำเนิดมาจากอิทธิพลของคำสอนทางศาสนา และปรัชญาอีกหลายแขนง รวมถึงคำสอนของ 'เพลโต' นักปรัชญาชาวกรีก ส่วนบางกิจกรรมทางศาสนายังสอดคล้องกับนิกายอิสลามอื่นๆ ก่อนสงครามกลางเมืองในซีเรียจะปะทุขึ้นเมื่อปี 2554 มีการคาดการณ์ว่า ชุมชนชาวดรูซมีจำนวนประมาณ 700,000 คน ตามบันทึก 'ศรัทธาดรูซ' โดยนักประวัติศาสตร์ นายซามี มาคาเร็ม ชาวดรูซอพยพไปยังตอนใต้ของซีเรีย ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งในปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ 'จาบัล อัล-ดรูซ' ซึ่งหมายถึง 'ภูเขาดรูซ' ในเมืองสไวดาของซีเรีย
ปัจจุบัน 'ชาวดรูซ' ในซีเรียส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในใจกลางเมืองสไวดา เมืองคูเนตราที่อยู่ใกล้เคียง และชุมชนเล็กๆ ในเขตชานกรุงดามัสกัส โดยเฉพาะในจารามานาและซาห์นายา ซึ่งเคยเกิดเหตุความรุนแรงทางศาสนาเมื่อต้นปีนี้ แม้พวกเขาจะมีสถานะเป็นชนกลุ่มน้อย แต่ชาวดรูซก็มีบทบาทสำคัญ และในบางครั้งก็เป็นผู้นำทางการเมืองในตะวันออกกลางอีกด้วย โดยชาวดรูซส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าร่วมสงครามกลางเมืองซีเรีย โดยมุ่งเน้นไปที่การปกป้องดินแดนของตนกลุ่มติดอาวุธชาวดรูซส่วนใหญ่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับทางการชุดใหม่ได้
ขอบคุณข้อมูล : StraitsTimes
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี