เทศกาลดนตรีแกลสตันบิวรี (Glastonbury Festival) ที่ว่ากันว่าเป็นเทศกาลดนตรีและศิลปะกลางแจ้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก กลางทุ่งนาในเทศมณฑลซอเมอร์เซตของอังกฤษ ปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-30 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นครั้งที่ 36 หลังจากหยุดพักไป 1 ปีในปีที่แล้ว ที่ฝรั่งเรียกว่า Fallow Year เพื่อให้ทุ่งหญ้าและผืนนาที่ใช้เป็นที่จัดแสดงคอนเสิร์ตได้พักบ้าง
แกลสตันบิวรี เฟสติวัล เริ่มจัดมาตั้งแต่ปี 1970 เป็นปีแรก และจัดแทบจะต่อเนื่องทุกปีมาตั้งแต่ปี 1981 เว้นเพียงช่วงพักซึ่งจะเกิดขึ้นประมาณ 4-5 ปีครั้ง เริ่มขึ้นจากไอเดียของไมเคิล เอวิส ที่หวังจัดเทศกาลดนตรีและศิลปะให้บรรดาขาโจ๋ เหล่าฮิปปี้เมืองผู้ดีและผู้ที่รักเสียงเพลงและชื่นชอบกิจกรรมแบบเฟสติวัลกลางแจ้ง ได้มีที่ทางแสดงออกความคิดของตัวเอง เริ่มแรกมีผู้เข้าร่วมแค่หลักพันคนเศษๆ ขายบัตรเข้าชม 1 ปอนด์ จากนั้นความนิยมค่อยๆ เพิ่มขึ้นมีผู้เข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีจนต้องขยายเวทีและพื้นที่จัดงาน ขณะที่แต่ละครั้งก็จะมีศิลปินและวงดนตรีชื่อดังจากทั่วโลกเข้าร่วมแสดงตามเวทีต่างๆ ที่จัดวางกระจายทั่วทั้งพื้นที่ สำหรับงานในปีนี้ มีศิลปินหลักอย่าง The Killers, The Cure, Stormzy, Kylie Minogue และ Miley Cyrus ท่ามกลางผู้ชมตลอดทั้ง 5 วัน มากกว่า 135,000 คนแม้ค่าบัตรผ่านประตูจะถือว่าแพงหูฉี่ไม่น้อย คือ 248 ปอนด์ (ประมาณ 10,000 บาท)
แต่ปัญหาของเทศกาลดนตรียิ่งใหญ่ระดับนี้ คือเมื่อมีผู้ร่วมงานมาก ความยุ่งยากวุ่นวายต่างๆ ก็ตามมาเป็นพรวน ทั้งเรื่องน้ำไฟ การเดินทาง ห้องน้ำ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ บางปีเจอสภาพอากาศไม่เป็นใจ พายุฝนถล่มจนพื้นที่จัดคอนเสิร์ตกลายเป็นปลักโคลน แต่ปัญหาหลักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือขยะต่างๆ ที่บรรดาแฟนเพลงผู้เข้าร่วมงานทิ้งเอาไว้หลังผ่านพ้นความสนุกสนานทั้งขวดพลาสติก กล่องและห่ออาหาร แก้วเบียร์ เสื้อผ้า รวมถึงเต็นท์ (???)ที่แฟนเพลงอุตส่าห์แบกมาไว้เพื่อนอนค้างแรมระหว่างร่วมงาน แต่ไม่มีปัญญาแบกกลับบ้าน นัยว่าคงเหนื่อยหรือเมาหนักจนไม่มีแรงขนกลับก็ไม่ทราบได้ ร้อนถึงเจ้าหน้าที่ดูแลเทศกาลดนตรี ที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นอาสาสมัคร ต้องคอยเก็บขยะเหลือทิ้งเหล่านี้ปีละหลายสิบตัน
ในปีนี้ ผู้จัดงานจึงมุ่งเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมและปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เป็นหัวใจหลักของเทศกาล ภายในงานห้ามผู้ค้าจำหน่ายน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติก และขอร้องให้ผู้ร่วมงานหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง อย่างพวกจาน ถ้วย แก้วเบียร์แนะนำให้นำขวดใส่น้ำดื่มหรือเบียร์มาเอง รวมถึงขอร้อง(แกมบังคับ) ให้ช่วยแบกเต็นท์กลับไปด้วยหลังจากงานเลิก ในวันที่ 30 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการจัดงาน เซอร์ เดวิด เอตเทนโบโรห์ นักจัดรายการโทรทัศน์และนักสิ่งแวดล้อมคนดัง ขึ้นเวที Pyramid Stage ซึ่งเป็นเวทีหลักในเทศกาลดนตรีแกลสตันบิวรี ขอบคุณบรรดาแฟนเพลงที่ร่วมมือร่วมใจลดการใช้พลาสติก ส่งผลให้ในปีนี้ ขยะพลาสติกถูกทิ้งในงานลดน้อยลงอย่างมากเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา
ถึงแม้จะมีภาพปรากฏทางสื่อออนไลน์ ว่ายังมีขยะถูกทิ้งเกลื่อนที่จัดงานหลังสิ้นสุดเทศกาลดนตรี แต่เจ้าหน้าที่เก็บขยะซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครกว่า 1,300 คน บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ปริมาณขยะโดยเฉพาะขยะพลาสติกน้อยลงมาก มีเต็นท์ถูกทิ้งไว้น้อยลง ในปีนี้มีการจัดตั้งศูนย์รีไซเคิลขยะภายในที่จัดงาน ซึ่งสามารถรีไซเคิลขยะพลาสติกและกระป๋องเบียร์ได้ในทันที ในปีนี้มีกระป๋องเบียร์ถูกรีไซเคิล 45 ล้านตันน้ำมันที่ใช้หุงต้มทอดอาหารสำหรับจำหน่ายในงาน 4,500 ลิตร ถูกนำกลับเข้ากระบวนการเพื่อผลิตเป็นไบโอดีเซลนำไปใช้ใหม่ ขณะที่จุดให้บริการน้ำดื่ม850 แห่งทั่วพื้นที่จัดงานกว่า 950 เอเคอร์ก็มีแฟนเพลงมาใช้บริการจำนวนมาก โดยนำแก้วน้ำและขวดน้ำมาเอง ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกจากแก้วและขวดไปได้มาก
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้จัดงานยังมีการปลูกต้นไม้ภายในพื้นที่จัดงานทันทีหลังสิ้นสุดเทศกาลเพื่อทดแทนต้นไม้ที่ถูกตัดทิ้งหรือเสียหายจากการจัดงาน ซึ่งตั้งแต่ปี 2000 ที่ผ่านมา ปลูกต้นไม้ไปแล้วมากกว่า 10,000 ต้น ผู้มาร่วมงานกว่าร้อยละ 40 นอกจากให้ความร่วมมือเรื่องลดละปริมาณขยะพลาสติกแล้ว ยังใช้บริการขนส่งสาธารณะเดินทางมายังที่จัดเทศกาลดนตรี ช่วยลดควันพิษจากน้ำมันรถยนต์ส่วนตัวที่นำมาเองได้อีกทาง ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่ศิลปินเองก็มีส่วนช่วยลดขยะในงานด้วย เพราะศิลปินหลายคนอย่าง Kylie Minogue และ Years And Years เลือกที่จะใช้เศษกระดาษสีโปรยระหว่างการแสดงคอนเสิร์ต หรือ confetti ที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติมาใช้ด้วย
ถือเป็นการกระทำที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของทั้งผู้จัดงาน ศิลปิน และผู้ร่วมงานอย่างแท้จริง น่าปลื้มใจที่ได้เห็นเทศกาลดนตรีกลางแจ้งระดับโลกดำเนินมาตรการเพื่อช่วยสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม
แล้วพบกันใหม่ กับแกลสตันบิวรีเฟสติวัล 2020 ระหว่างวันที่ 24-28 มิถุนายนปีหน้า ซึ่งจะถือเป็นการครบรอบ 50 ปีของการจัดเทศกาลดนตรีกลางแจ้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ที่ถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมชาวอังกฤษอย่างแท้จริง
@koopnot01