นพ.กุลวี เนตรมณี
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดห้องปฏิบัติการสรีรวิทยากระแสไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiology Lab หรือเรียกว่า EP Lab) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ด้านหัวใจขั้นสูง สำหรับศึกษา วินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจเต้น
ผิดจังหวะโดยเฉพาะ ครอบคลุมในทุกขั้นตอนตั้งแต่การป้องกัน การตรวจวินิจฉัยในระยะเริ่มต้น การรักษา ตลอดจนถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจในสาขาต่างๆ พร้อมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์หลายสาขาที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นความหวังใหม่ของการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
นพ.กุลวี เนตรมณี อายุรแพทย์โรคหัวใจ ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยากระแสไฟฟ้าหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะคือการที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ อาจเต้นเร็วหรือช้าเกินไป หรือบางครั้งอาจเต้นแล้วเว้นจังหวะ หัวใจเต้นผิดจังหวะจำแนกได้หลายชนิด บางชนิดไม่มีอันตราย บางชนิดมีอันตรายถึงเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาทันที เช่น หัวใจห้องล่างเต้นรัว (Ventricular Tachycardia) หรือหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) เป็นชนิดของหัวใจเต้นผิดปกติที่พบบ่อยที่สุด ต้องได้รับการรักษาที่ตรงจุด โดยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว พบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ 75 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงมากกว่าคนที่อายุน้อยกว่า 50 ปี ถึง 13 เท่า
“เราสามารถสังเกตอาการหัวใจเต้นผิดปกติได้หลายวิธี ได้แก่ หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออก หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม เมื่อมีอาการควรปรึกษาแพทย์โดยเร็วแพทย์จะตรวจดูลักษณะหัวใจเต้นผิดจังหวะว่ามีอันตรายระดับใด และพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น กรณีที่หัวใจเต้นผิดปกติแล้วมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอร่วมด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะที่มีโครงสร้างของหัวใจอยู่ในขั้นปกติทุกอย่าง 2 กรณีนี้มีความเสี่ยงต่อชีวิตไม่เท่ากัน การรักษาจึงมีลำดับขั้นตอนและวิธีการต่างกันไป”
นพ.กุลวี กล่าวอีกกว่า การตรวจหาสาเหตุและกำหนดวิธีรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์ต้องมีข้อมูลที่เชื่อถือได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือผู้มีความเสี่ยงว่าหัวใจอาจหยุดเต้นกะทันหัน ด้วยการตรวจวินิจฉัยจากเทคโนโลยีภาพถ่ายทางการแพทย์ ซอฟต์แวร์ และชิพประมวลผลคอมพิวเตอร์ ร่วมกับความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ของแพทย์ในด้านกลไกการทำงานของหัวใจ เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาการศึกษาสรีรวิทยากระแสไฟฟ้าหัวใจ หรือ EP Study
“EP Study คือการศึกษา วินิจฉัย และรักษาความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ทีมแพทย์จะติดแผ่นรับสัญญาณไฟฟ้าที่หน้าอกคนไข้ตรวจดูอัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจ จากนั้นสอดสายสวนในร่างกาย เมื่อสายสวนไปถึงหัวใจจะส่งสัญญาณไฟฟ้ากลับมา แพทย์อาจทดสอบโดยปล่อยกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นหัวใจ เพื่อเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์หรือทดสอบเพิ่มเติมในกรณีที่จำเป็น
ข้อมูลเกี่ยวกับกระแสไฟฟ้าหัวใจที่ได้จาก EP Study จะถูกนำมาเชื่อมโยงผ่านซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์แล้วสร้างเป็น3 มิติ เพื่อวินิจฉัยหาตำแหน่งของการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะที่แม่นยำ แพทย์จึงรักษาได้อย่างตรงจุด เพราะภาพกายวิภาคของระบบหัวใจที่สร้างขึ้นผ่านการเชื่อมโยงกระแสไฟฟ้าหัวใจ จะช่วยให้มองเห็นกระบวนการเต้นของหัวใจแบบ Real Time ทั้งหมุนดูภาพได้รอบทิศทาง พร้อมบันทึกข้อมูลของกระแสไฟฟ้าหัวใจไปด้วย เมื่อพบความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าหัวใจที่จุดใดจุดหนึ่งก็จะกำกับตำแหน่งไว้ด้วยรหัสสีจากนั้นจึงปล่อยพลังงานความร้อนจากส่วนปลายของสายสวนเพื่อจี้เนื้อเยื่อที่ผิดปกติ สามารถแก้ไขกระแสไฟฟ้าหัวใจให้กลับเป็นปกติได้ทันที”
อย่างไรก็ตาม แม้การรักษาด้วยวิธี EP Study จะช่วยให้ผู้ป่วยหายขาดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่ EP Study ไม่ได้มีผลในการเปลี่ยนปัจจัยด้านอื่นที่ส่งผลต่อโรคหัวใจของผู้ป่วย เพราะหากผู้ป่วยมีปัญหาภาวะความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ หรือมีพังผืดที่หัวใจ ความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญก็ยังคงอยู่ต่อไป แม้ว่าจะหายจากหัวใจเต้นผิดจังหวะแล้ว ต้องดูแลตนเองเพื่อควบคุมปัจจัยอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อหัวใจต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี