แมลงวันผลไม้เป็นแมลงศัตรูสำคัญของผลไม้หลายชนิด ทำให้ผลผลิตเน่าเสีย ไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้หรือขายไม่ได้ราคา นอกจากนี้แมลงวันผลไม้ยังมีความสำคัญต่อการส่งออกด้วย เนื่องจากแมลงวันผลไม้มีความสำคัญทางด้านกักกันพืชระหว่างประเทศ ประเทศผู้นำเข้าได้กำหนดมาตรการการควบคุมและตรวจสอบอย่างเข้มงวดก่อนที่จะอนุญาตให้นำเข้าสินค้าพืชผักผลไม้แต่ละชนิด โดยประเทศผู้ส่งออกจะต้องพัฒนาวิธีการกำจัดศัตรูพืชที่ได้มาตรฐานของวิธีกำจัดศัตรูพืชด้านกักกันพืช เพื่อใช้สำหรับกำจัดแมลงวันผลไม้ก่อนการส่งออก
ปัจจุบันเทคโนโลยีการอบไอน้ำ (Vapor Heat Treatment, VHT) เป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้เพื่อกำจัดไข่และหนอนแมลงวันผลไม้ในผลไม้ส่งออก เพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบและเงื่อนไขการนำเข้าของประเทศคู่ค้า เช่น ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ เป็นต้น การอบไอน้ำเป็นกรรมวิธีหนึ่งที่ให้ความร้อนกับผลไม้โดยอาศัยการหมุนเวียนของไอน้ำร้อนที่อยู่ในสภาพที่อิ่มตัวด้วยไอน้ำ (saturated water vapor) ความชื้นสัมพัทธ์มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ตลอดเวลา ประเทศญี่ปุ่นได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการอบไอน้ำเพื่อกำจัดแมลงวัน
ผลไม้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ค.ศ.1987 และได้มีการฝึกอบรมการพัฒนาการใช้ เทคโนโลยีนี้ให้กับประเทศต่างๆ โดยการสนับสนุนจาก Japan International Cooperation Agency (JICA) ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนทางด้านวิชาการมากว่ายี่สิบปี โดยหน่วยงานวิจัยหลักที่พัฒนาวิธีการอบไอน้ำผลไม้ ได้แก่ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร มีการพัฒนาวิธีการอบไอน้ำ และวิธีการอบไอน้ำแบบปรับสภาพความชื้นสัมพัทธ์ เพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้เพื่อการส่งออก ปัจจุบันญี่ปุ่นนำเข้าผลไม้สดจากประเทศไทย 9 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน กล้วย สับปะรด มะพร้าว มังคุด มะม่วง สละ มะขามหวาน
และส้มโอพันธุ์ทองดี โดยผลไม้ที่ต้องผ่านการอบไอน้ำก่อนการส่งออก ได้แก่ มะม่วง มังคุด และส้มโอพันธุ์ทองดี
ขั้นตอนในการส่งออกผลไม้ชนิดใหม่หรือสายพันธุ์ใหม่ที่มีแมลงวันผลไม้เป็นศัตรูพืชกักกันนั้นต้องใช้เวลาหลายปีเพื่อผ่านขั้นตอนต่างๆ ทั้งที่ต้องดำเนินการโดยประเทศผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้า หรือดำเนินการร่วมกัน
การพัฒนาเทคโนโลยีการอบไอน้ำเพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ในผลไม้ชนิดใหม่ที่ต้องการส่งออก มีขั้นตอนหลักดังนี้
1.Planning and requirement ในขั้นแรกประเทศผู้ส่งออกจะต้องพิจารณาและยื่นความจำนงต่อประเทศญี่ปุ่นว่าต้องการส่งออกผลไม้ชนิดใหม่ชนิดใดพันธุ์อะไร โดยต้องคำนึงถึงศัตรูพืชกักกันที่พบในพืชนั้น และวิธีการที่จะนำมาใช้เพื่อกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว จากนั้นเตรียมความพร้อมทั้งในด้านของอุปกรณ์ เครื่องมือ และบุคลากรเพื่อพัฒนาการเทคโนโลยีเพื่อกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว และวางแผนการทดลองในขั้นตอนนี้ต้องยื่นแผนการทดลองต่อประเทศญี่ปุ่นเพื่อพิจารณาและร่วมปรับแผนการทดลอง
2.Test การทดลองเพื่อพัฒนาวิธีการอบไอน้ำที่เหมาะสมในการกำจัดแมลงวันผลไม้ นับว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญและต้องใช้ระยะเวลานาน โดยต้องยื่นผลการทดลองต่อเจ้าหน้าที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อทำการประเมิน การทดลอง
ประกอบด้วย 3 การทดลองหลัก ได้แก่ Mortality test, Fruit injury test และ Machine performance test
2.1 Mortality test เป็นการทดลองเพื่อหาสภาวะการอบไอน้ำที่เหมาะสมเพื่อกำจัดไข่และหนอนแมลงวันผลไม้ ก่อนการทดลองในขั้นนี้จะต้องพัฒนาวิธีการเลี้ยงและเพิ่มปริมาณแมลงวันผลไม้เพื่อให้ได้ไข่และหนอนแมลงวันผลไม้ในระยะต่างๆ เพียงพอต่อการทดลอง รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาการเติบโตในระยะต่างๆ ของแมลงวันผลไม้ Mortality test
แบ่งเป็น 3 การทดลองย่อย ได้แก่
2.1.1 Susceptibility Comparison Test ประกอบด้วยการทดลอง 2 ขั้นตอน
- Hot water dipping test เป็นการทดลองเปรียบเทียบเพื่อหาชนิดของแมลงวันผลไม้และระยะการเติบโตที่ทนต่อความร้อนที่สุด โดยแช่ไข่และหนอนแมลงวันผลไม้ระยะต่างๆ ในเครื่องอ่างน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 46 องศาเซลเซียส ที่ระยะเวลาต่างๆ โดยใช้จำนวนไข่หรือหนอนแมลงวันจำนวน 100-200 ตัว/treatment แล้วคำนวณหาอัตราการตาย (Mortality rate(%))
- Basic Mortality Test เป็นการทดลองเพื่อหาระยะการเติบโตที่ทนต่อความร้อนมากที่สุด
2.1.2 Small-scale Mortality Test เป็นการทดลองเบื้องต้นเพื่อหาสภาวะที่เหมาะสมในการอบไอน้ำผลไม้เพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ระยะที่ทนต่อความร้อนที่สุด เช่น อุณหภูมิ และระยะเวลา เป็นต้น โดยใช้ตัวอย่างแมลงวันผลไม้ในการทดลองอย่างน้อย 2,000 ตัว (effective test insect)/treatment ผลการทดลองที่ได้จาก Small-scale Mortality Test จะใช้ในการตัดสินใจเพื่อกำหนดวิธีการอบไอน้ำสำหรับ Large-scale Mortality Test
2.1.3 Large-scale Mortality Test เป็นการทดลองการอบไอน้ำ เพื่อนำไปใช้ในการอบไอน้ำในระดับการส่งออกจริง โดยใช้ตัวอย่างแมลงวัน
ผลไม้ในการทดลองอย่างน้อย 30,000 ตัว (effective test insect)
2.2 Fruit Injury Test เป็นการทดลองเพื่อหาผลกระทบของการอบไอน้ำต่อคุณภาพของผลไม้ โดยแบ่งการทดลองเป็น 3 ระดับ คือ
2.2.1 Basic Injury Test เป็นการจำแนกอาการและสาเหตุของการเกิดความเสียหายของผลไม้อันเนื่องมาจากการอบไอน้ำ
2.2.2 Small-scale injury Test ศึกษาผลกระทบของวิธีการอบไอน้ำภายใต้สภาวะการทดลอง Small-scale Mortality Test ต่อผลไม้ และอาจเป็นข้อมูลในการปรับสภาวะการอบไอน้ำให้เหมาะสม (อุณหภูมิของผลไม้ ระยะเวลา และความชื้น)
2.2.3 Large-scale Test เพื่อเป็นการทดลองว่าวิธีการอบไอน้ำสำหรับการส่งออกนั้นไม่มีผลกระทบ หรือทำความเสียหายต่อผลไม้ที่ผ่านการอบไอน้ำ
2.3 Machine Performance Test การทดลองประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องอบไอน้ำนับว่ามีความสำคัญต่อผลการทดลองวิธีการอบไอน้ำ โดยก่อนการใช้งานเครื่องมือจะต้องมีการปรับแท่งวัดอุณหภูมิ (calibration of sensor recorder) ซึ่งเป็นแท่งที่จะใช้วัดอุณหภูมิภายในห้องอบไอน้ำ และอุณหภูมิภายในผลไม้ระหว่างการอบไอน้ำ โดยปรับค่าอุณหภูมิเปรียบเทียบกับเทอร์โมมิเตอร์มาตรฐาน และเครื่องอบไอน้ำจะมีการบันทึกอุณหภูมิตลอดระยะเวลาการใช้งาน ทั้งนี้ต้องมีการตรวจเช็คค่าดังกล่าวว่าไม่ผิดปกติ
3.Preparation of Technical Report เมื่อได้ผลการทดลองทั้งสามส่วน ได้แก่ Mortality Test, Fruit Injury Test และ Machine Performance Test จะต้องเตรียมรายงานผลการทดลองโดยละเอียด รวมถึง
ข้อมูลดิบของแต่ละส่วนเพื่อยื่นต่อเจ้าหน้าที่ของประเทศญี่ปุ่นเพื่อทำการประเมิน หากผลที่ได้ยังไม่สมบูรณ์เจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นจะให้คำแนะนำ และจะมีเจ้าหน้าที่จากญี่ปุ่นมาตรวจสอบเพื่อยืนยันการทดลองร่วมกับเจ้าหน้าที่ของไทย เมื่อผลการทดลองสมบูรณ์แล้วทางประเทศญี่ปุ่นจะมีการเผยแพร่ต่อสาธารณะและขอความคิดเห็น ที่จะมีการนำเข้าผลไม้ชนิดนั้นๆ เมื่อผ่านกระบวนการนี้จะมีการจัดทำข้อกำหนดมาตรการการนำเข้าผลไม้ร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศ จากนั้นกระบวนการส่งออกผลไม้ก็สามารถดำเนินการได้
ระยะเวลาตั้งแต่การแจ้งความประสงค์ขอส่งผลไม้ชนิดใหม่ การทดลอง การจัดทำรายงานจนสามารถส่งออกได้จะต้องใช้เวลานานกี่ปีนั้นขึ้นอยู่กับชนิดผลไม้ ความพร้อมในด้านต่างๆ ของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยมีความหลากหลายของผลิตผลทางการเกษตร นอกจากการผลิตผลิตผลทางการเกษตรที่มีคุณภาพแล้ว การวิจัยพัฒนาเพื่อหาวิธีการที่
เหมาะสมในการกำจัดศัตรูพืชนับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งในการเพิ่มศักยภาพในการส่งออกของประเทศ
สุภาวดี ชนะพาล
ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี