กระดังงาไทย จัดเป็นพืชสมุนไพร และเป็นไม้ดอกไม้ประดับชนิดหนึ่ง ซึ่งนอกจากเป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมแล้วยังมีประโยชน์อีกมากมายที่ควรรู้ กระดังงาไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ Cananga odorata Hook. f. & Th. จัดอยู่ในวงศ์ Annonaceae มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Kenanga, Ylang Ylang, llang llang, Perfume tree ชื่อเรียกตามท้องถิ่นว่า กระดังงา (ตรัง ยะลา) กระดังงาใบใหญ่ กระดังงาใหญ่ (กลาง) สะบันงาต้น (เหนือ)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 15-20 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว สีเขียวอ่อน เรียงสลับกัน ดอกออกรวมกัน 3-6 ดอก ดอกอ่อนมีสีเขียว ดอกแก่จัดมีสีเหลืองอมเขียว มี 6 กลีบ ห้อยลง มีกลิ่นหอม ผลยาวรีอยู่รวมกันเป็นพวง 5-14 ผล สีเขียวเข้ม เมื่อสุกมีสีดำ
การใช้ในเครื่องสำอางและสรรพคุณทางยา
สุวคนธบำบัด (การบำบัดรักษาด้วยกลิ่นหอม) น้ำมันหอมระเหยจากดอกแก่จัดเรียก Ylang-Ylang oil ได้จากการนำดอกสดมากลั่นด้วยไอน้ำ (steam distillation) น้ำมันหอมระเหยมีสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอมเย้ายวน ช่วยให้ผ่อนคลายจากความตึงเครียด ทำให้สงบ ลดอาการซึมเศร้าบำรุงหัวใจ เมื่อใช้นวดตัวจะช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย และกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต นอกจากนี้ น้ำมันหอมระเหยจากดอกกระดังงายังใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง น้ำอบ น้ำหอม
วิธีการใช้โดยการเติมน้ำมันหอมระเหย 4-6 หยดลงในอ่างอาบน้ำ หรือใช้น้ำมันหอมระเหย 4 หยด ในน้ำมันถั่วเหลือง 2 ช้อนโต๊ะ ใช้แทนน้ำหอมหรือเติมน้ำมันหอมระเหย 3-4 หยดลงในแชมพู 60 ซีซี
แต่งกลิ่นอาหาร
นำดอกที่แก่จัดรมควันเทียนหรือเปลวไฟจากเทียนเพื่อให้ต่อมน้ำหอมในกลีบดอกแตก และส่งกลิ่นหอมออกมาแล้วนำไปเสียบไม้ ลอยน้ำในภาชนะปิด 1 คืน เก็บดอกทิ้งตอนเช้า นำน้ำไปคั้นกะทิหรือปรุงอาหารอื่นๆ
ปรุงยาหอม
ดอกแก่จัดใช้ปรุงยาหอม เป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ แก้ลมวิงเวียง ชูกำลังทำให้ชุมชื่น
บำรุงเส้นผมและบรรเทาอาการแมลงสัตว์กัดต่อย
ในสมัยโบราณใช้ดอกผสมกับน้ำมันมะพร้าวทาบำรุงเส้นผม และบริเวณที่แมลงสัตว์กัดต่อย
ยาขับปัสสาวะ
ใช้ใบและเนื้อไม้ต้มน้ำรับประทาน
สารสำคัญ
ใน Ylang-Ylang oil มีสารสำคัญคือ linalool, linalylbenzoate, linalylacetate, cardinen, geraniol, cresol, -pinen, caryophyllene, eugenol, isoeugenol, cresylmethylether, safrol, methylbenzoate, salicylate, nerol, farnesol
ข้อควรระวัง
ในการบำบัดรักษาด้วยน้ำมันหอมระเหย มีข้อห้ามคือ
1.ห้ามรับประทาน
2.ห้ามสูดดมหรือสัมผัสผิวหนังโดยตรง เว้นแต่ได้ทำให้เจือจางแล้ว
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี