ด้วยเหตุที่เมืองสุโขทัยนั้นตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำปิง ยม น่าน และป่าสัก จึงทำให้มีเส้นทางคมนาคมติดต่อกับเมืองอื่นๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเส้นแม่น้ำทางออกสู่อ่าวไทยสู่ทะเลอันเป็นเส้นทางค้าขายเครื่องเคลือบจากเมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัย ดังนั้นการขุดค้นและศึกษาแหล่งเตาทุเรียงเมืองสุโขทัยของสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัยที่กำลังทำอยู่ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจให้ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากรได้อาสาพาไปตามรอยหาภูมิปัญญาจากการขุดค้นแหล่งเตาทุเรียงดังกล่าว ด้วยเหตุที่เมืองสุโขทัยนั้นมีทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แร่เหล็ก สังกะสี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการเป็นศูนย์กลางการค้าจึงทำให้สุโขทัยเป็นศูนย์อำนาจของแคว้นหรืออาณาจักรสำคัญอยู่ริมแม่น้ำยม แหล่งเตาเผาเครื่องเคลือบที่สำรวจพบแล้วนั้นมี 3 แหล่ง คือ แหล่งเตาเผาบริเวณเมืองเก่าสุโขทัยใกล้วัดพระพายหลวง เรียกว่าเตาทุเรียง ส่วนแหล่งเตาเผาที่ป่ายาง แหล่งเตาเผาที่เกาะน้อย และเตาเผาวัดดอนลาน บริเวณเมืองศรีสัชนาลัยนั้น น่าจะเรียกว่าเตาสวรรคโลก หรือศรีสัชนาลัยมากกว่า ด้วยเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นแหล่งผลิตเครื่องสังคโลก คือ เครื่องเคลือบดินเผาที่มีการเผาดินดิบให้สุกก่อนนำไปเขียนลายและลงน้ำยาเคลือบที่แตกต่างจากเครื่องดินเผาธรรมดา แหล่งเตาบริเวณเมืองศรีสัชนาลัยเป็นแหล่งผลิตเครื่องสังคโลกแหล่งใหญ่ พบเตาเป็นจำนวนมากบริเวณริมฝั่งแม่น้ำยมและมีผลิตภัณฑ์จำนวนมากมายหลายรูปแบบ เช่น จาน ชาม ไห โอ่ง กระปุกรูปประติมากรรม ได้แก่ ตุ๊กตารูปสัตว์ ตุ๊กตารูปชาย-หญิง และเครื่องประดับ อาคารสถาปัตยกรรม ได้แก่ กระเบื้องมุงหลังคา ช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ เป็นต้น เป็นเครื่องเคลือบที่มีคุณภาพดี ฝีมือประณีตการตกแต่ง ภาชนะมีการเขียนลายบนเคลือบ เขียนลายใต้เคลือบ ตกแต่งลายใต้เคลือบ โดยการขูดให้เป็นลาย ลวดลายที่นิยมใช้ตกแต่งมี ลายดอกไม้ โดยเฉพาะลายดอกไม้ก้านขด ลายดอกบัว ลายปลา ซึ่งจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติรามคำแหงและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสวรรคนายกอีกแห่งหนึ่ง สำหรับเตาทุเรียง เตาเผาเครื่องถ้วยชามแบบสังคโลกที่อยู่บริเวณเมืองเก่าสุโขทัยนั้นตั้งอยู่ริมลำน้ำโจน คือ บริเวณเนินดินอยู่ระหว่างวัดศรีชุมและวัดพระพายหลวง ชาวบ้านเรียกกันว่าเนินร่อนทอง บริเวณนี้นักโบราณคดีได้พบเตาเผาอยู่ไม่น้อยกว่า 50 แห่ง ซึ่งมีเนินดินและร่องรอยของเศษถ้วยชามจำนวนมาก จากการขุดสำรวจบริเวณเตาทุเรียงที่ทำกันมาก่อนแล้วพบว่ามีเตาขนาดแตกต่างกัน ที่มีขนาดใหญ่นั้นเป็นเตาเผาที่ก่อด้วยอิฐขนาด กว้าง 1.20-2.00 เมตร ยาว4-5 เมตร ทำเตาเป็นรูปคล้ายประทุนเกวียนแบ่งภายในเป็น 3 ตอน สำหรับเป็นที่ใส่ฟืนก่อไฟ สำหรับตั้งวางถ้วยชาม และเป็นปล่องไฟ เครื่องเคลือบที่ผลิตจากเตาทุเรียงเมืองสุโขทัยนี้มีเนื้อหยาบสีเทา นิยมเขียนเป็นลายดอกไม้ ลายกลีบบัว ลายปลาในวงกลม ลายจักรภายในวงกลม รูปแบบของภาชนะมีแบบชาม จาน และแจกัน เครื่องสังคโลกจากเตาเผาทั้งหมดจึงเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของสุโขทัยตอนปลาย โดยส่งออกตามเส้นทางทะเลไปยังประเทศต่างๆ ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และอินเดีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกาตะวันออก โดยมีเส้นทางการค้าเครื่องสังคโลกอยู่สองเส้นทาง คือเส้นทางตะวันตกผ่านเมืองท่าเมาะตะมะไปยังอินเดีย และ ตะวันออกกลาง สินค้าส่วนใหญ่เป็นไหเคลือบสีน้ำตาลขนาดใหญ่ อีกเส้นทางเป็นเส้นทางน้ำลงไปทางใต้ผ่านกรุงศรีอยุธยา ออกอ่าวไทยสู่ทะเลไปยังสุมาตรา ชวา บอร์เนียว และลูซอน สินค้าเครื่องเคลือบที่ส่งออกนี้เป็น จาน ชาม กระปุก ชนิดเคลือบสีเขียวไข่กา และเคลือบขาวเขียนลายสีดำ ด้วยเหตุนี้ชื่อ เครื่องสังคโลก จึงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปเช่นเดียวกับการค้นหาเส้นทางเครื่องเคลือบนั้นทำให้การพบแหล่งเรือจมทางทะเลไทยที่ทำให้ นายเอิบเปรมวัชรางกูร นักโบราณคดีได้พัฒนาจนมีศูนย์การฝึกโบราณคดีใต้น้ำขึ้น และเกิดหน่วยงานโบราณคดีใต้น้ำขึ้นในประเทศ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี