โบราณสถานพระราชวังจันทน์
การเรียนรู้จากแหล่งความรู้นั้นทำให้มีการศึกษาในมิติต่างๆ มากขึ้น จากข้อมูลใหม่และการใส่ใจกับโบราณสถานโบราณวัตถุที่มีการสำรวจและขุดค้นอยู่ตลอดเวลา อาทิตย์นี้ได้ตามรอยนักโบราณคดีคนขยัน คุณรัตติยา ไชยวงศ์ ไปที่เมืองพิษณุโลก เพื่อตามต่อข้อมูลพระราชวังจันทน์ที่มีการย้ายโรงเรียนและขุดค้นจนสามารถจัดภูมิทัศน์ขึ้นใหม่จากการคืนพื้นที่ให้มีความสง่างามในสภาพโบราณสถานที่ได้รับการอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องรูปแบบพระราชวังจันทน์ที่อาจารย์สันติ เล็กสุขุม ได้ศึกษาเรียนรู้จากร่องรอยโบราณสถานที่เหลืออยู่ จนมองรูปร่างของพระราชวังจันทน์ในมิติสถาปัตยกรรมโบราณให้เห็นชัดเจนขึ้น พระราชวังจันทน์ แห่งนี้เดิมนั้นโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม และค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กองทัพภาคที่ 3 สร้างอาคารทับพื้นที่อยู่ด้านบน โดยมีถนนวังจันทน์เลียบแม่น้ำน่าน อยู่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันกรมศิลปากรได้เข้ามาทำการบูรณะค้นหาแนวเขตของพระราชวังจันทน์บางส่วนจนทำให้มองเห็นภูมิทัศน์พระราชวังสมัยสุโขทัยของพระมหาธรรมราชา ที่ 1 หรือพระยาลิไทที่มีการพัฒนาแต่ละยุคสมัยได้ชัดเจนขึ้น พระยาลิไทผู้นี้เป็นพระราชโอรสของ พระยาเลอไท พ่อขุนองค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์พระร่วง (พ.ศ.1890-1904)
พระยาลิไท ผู้สร้างพระราชวังจันทน์ (2)
เมื่อพระยาลิไท ได้ครองแคว้นสุโขทัยเป็นพ่อขุนนาม พระมหาธรรมราชา ที่ 1 นั้น ได้สถาปนาเมืองพิษณุโลกเป็นราชธานีเพื่อให้สามารถดูแลไปถึงเมืองชอนตะวัน หรือเมืองนครสวรรค์ ที่จรดแดนเมืองแพรกศรีราชา หรือเมืองสรรค์ของแคว้นสุวรรณบุรีและกรุงศรีอยุธยา ที่เป็นอาณาจักรเกิดใหม่ทางตอนใต้ พระองค์ทรงครองเมืองพิษณุโลกระหว่างพ.ศ.1905-1912 เป็นเวลา 7 ปี ครั้งนั้นพระองค์ทรงได้สร้างพระราชวังจันทน์บนเนินดินบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่าพระราชวังแห่งนี้ใช้เป็นที่ประทับของพ่อขุนมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนถึงสมัยอยุธยา ที่ภายหลังมีความสัมพันธ์และร่วมราชวงศ์ด้วยกัน ดังปรากฏว่าเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเมื่อย้ายราชธานีมาอยู่ที่เมืองพิษณุโลกใน พ.ศ.2006 นั้น ทรงใช้พระราชวังจันทน์เป็นที่ประทับตลอด จนเชื่อว่ามีการก่อสร้างพระราชวังเพิ่มขึ้นในสมัยพระองค์ด้วย จากนั้นมาพระราชวังจันทน์ได้ถูกใช้เป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชของกรุงศรีอยุธยาหลายแผ่นดิน จนถึงแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ได้ให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงเป็นพระมหาอุปราช ครองเมืองพิษณุโลก ประทับอยู่จนมีพระธิดาพระโอรส คือ พระสุพรรณกัลยาสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระเอกาทศรถ เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์อยุธยาทรงโปรดฯให้สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นพระมหาอุปราชเสด็จไปประทับอยู่ ณ พระราชวังจันทน์หลังจากสมเด็จพระนเรศวรขึ้นครองราชย์แล้วพระราชวังจันทน์ก็ไม่ปรากฏว่ามีเชื้อพระวงศ์ พระองค์ใดไปประทับอยู่นัยว่าเมืองพิษณุโลกสิ้นอำนาจและถูกทิ้งร้างไว้ จนกระทั่งปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุระยะทางไปพิษณุโลกของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จตรวจราชการเมืองพิษณุโลกใน พ.ศ.2444 โปรดให้ขุนศรเทพบาล สำรวจรังวัดจัดทำผังพระราชวังจันทน์ขึ้น ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5เสด็จสังเวยเทพารักษ์ วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2444 และมีพระราชหัตถเลขาไว้ว่า มีซากพระราชวังก่อด้วยอิฐ สูงพ้นดิน 2-3 ศอกเศษมีพระที่นั่งคล้ายพระที่นั่งจันทรพิศาล ในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี มีกำแพงวัง2 ชั้น มีสระสองพี่น้องอยู่นอกกำแพงวัง การขุดค้นและการจัดภูมิทัศน์ต่อมานั้นได้มีการรื้ออาคารใหม่ออกไปและอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีให้มีความสง่างามอย่างถูกวิธี หากมีการคิดสร้างอาคารใหม่ขึ้นในพื้นที่ให้รกหูรกตาขึ้นอีกวันใดแล้วก็ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งพระราชวังนี้ได้ช่วยกันปกป้องและให้มีอันเป็นไปถึงลูกหลาน เพราะกว่าจะได้พื้นที่กลับคืนมาได้จนวันนี้นั้นยากเย็นหลายประการนัก
ผังบริเวณพระราชวังจันทน์และวัดต่างๆ
ผังพระราชวังจันทน์
ผังสำรวจเมืองพิษณุโลกของสมเด็จฯ กรมพระยานริศฯ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี