หน้าเมืองกาญจนบุรี สมัย ร.3
ชุมชนเก่าและตลาดถนนสายวัฒนธรรมนั้นต้องแยกแยะให้ออกว่าวิถีดั้งเดิมของผู้คนมาแต่โบราณยังคงอยู่หรือสร้างขึ้นใหม่ อาทิตย์นี้ได้ตามรอยไปที่ชุมชนเก่าที่ชุมชนปากแพรกที่เป็นถนนสายวัฒนธรรมเก่าแก่ที่สุดของเมืองกาญจนบุรีคำว่า “ปากแพรก” นี้ เรียกเพี้ยนมาจากภาษาจีนว่า “ปากเผ็ก” ในความหมายว่าเป็น “ทางแยก” หรือ ทางแพร่ง เหมือนที่อื่นๆ ก็มีการเรียกอย่างนี้ เช่น กับแพร่งนรา แพร่งภูธรในกรุงเทพฯ ชุมชนนี้มีอาคารบ้านเรือนตั้งเรียงรายตามแนวกำแพงเมืองที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่วางแนวกำแพงยาวทอดขนานไปกับแม่น้ำแควใหญ่ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสไทรโยคนั้นได้บันทึกถึงชุมชนแห่งนี้ว่า “แต่เมืองที่ตั้งอยู่ตำบลปากแพรกเดี๋ยวนี้ ไม่เป็นทางพม่าข้าศึกเข้ามาเลยถ้าโดยจะเดินกองทัพมา คงข้ามที่เขาชนไก่เมืองเดิม ตัดไปสุพรรณบุรีเข้ากรุงทีเดียว ถ้าจะลงทางล่างก็เข้าราชบุรีไปเล่นสวนบางช้างสมุทรสงคราม แต่ที่ปากแพรกนี้เป็นที่ค้า ท่าขาย ด้วยเขาชนไก่เมืองเดิมนั้นขึ้นไปตั้งเหนือมาก มีแก่งถึงสองแก่ง ลูกค้าจะไป-มาลำบาก จึงลงมาตั้งอยู่ที่ปากแพรกนี้ เป็นทางไป-มาแต่เมืองราชบุรีง่าย เมืองที่ตั้งก่อกำแพงไว้นี้อยู่ที่แม่น้ำสามแยกตรงทางแม่น้ำน้อย เหมือนหนึ่งจะคิดรับทางเรือ แต่กองทัพของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยกมาครั้งนั้น ต้องส่งทัพหน้าไปตั้งที่ลาดหญ้ารับทางพม่าข้าศึก ทัพหลวงจึงตั้งอยู่ที่ลิ้นช้างกาญจนบุรี เมืองกาญจนบุรีเมื่อก่อนก็เป็นระเนียดไม้มาตลอด...”
หลักเมืองกาญจนบุรี
ในประวัติศาสตร์ของเมืองกาญจนบุรีนั้นมีเรื่องราวมาแต่ครั้งก่อนประวัติศาสตร์และยาวนานมาแต่ครั้งขอมเรืองอำนาจ ในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งมีการสร้างปราสาทเมืองสิงห์ขึ้น ต่อมามีความสำคัญในฐานะเมืองหน้าด่านที่มีผลต่อความอยู่รอดของอยุธยา และเป็นสมรภูมิระหว่างไทยกับพม่าอยู่เสมอดังเห็นได้จากการรบหลายครั้งในสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ ด้วยเหตุนี้การตั้งป้อมปราการและกวาดต้อนเทครัวนั้นจึงทำให้ชุมชนปากแพรกเป็นแหล่งรวมคนหลายเชื้อชาติทั้ง ไทย มอญ ญวน จีน ปกากะญอหรือกะเหรี่ยง ทำให้ถนนปากแพรก เป็นถนนเส้นแรกของความเป็นเมืองกาญจน์ที่มีกำแพง ป้อมปืน หลังจากย้ายมาจากลาดหญ้า เพื่อใช้แม่น้ำแควนั้นเป็นแนวรับจากการโจมตีจากข้าศึก จนทำให้ลำน้ำของเมืองนี้มีท่าขึ้นลงอยู่เรียงรายไปตลอดสาย
แนวกำแพงเมืองกาญจน์ ร.3
เมืองกาญจนบุรีใหม่ที่สร้างขึ้นในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 เมื่อพ.ศ.2374 ทำให้ชุมชนปากแพรกเป็นย่านธุรกิจสำคัญที่ครึกครื้น ซึ่งปัจจุบันนั้นชุมชนปากแพรกยังมีร่องรอยของตึกแถวยุคหลังที่สร้างตระกูลพ่อค้าคหบดีคนสำคัญ จึงมีอาคารบ้านเรือนแบบฝรั่งปนจีน และสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจอยู่ เป็นระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร ในอดีตได้ผ่านเรื่องราวของเหตุการณ์สงครามที่ชาวปากแพรกผู้เป็นพ่อค้า คหบดีที่มีฐานะนั้นเกิดสงสารเชลยศึกและแอบเอาอาหารไปฝังไว้ที่ริมแม่น้ำ ให้ทหารเชลยสงครามได้กินส่วนที่เป็นคุณหมอก็แอบช่วยรักษา ให้ยากิน ศิลปะการก่อสร้างอาคาร และบ้านที่อยู่อาศัยบนถนนสายนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่สวยงาม ถึงแม้ว่าบ้านหรือตึกบางหลังจะดูคล้ายกับการก่อสร้างแบบชิโนโปรตุเกส หรือแบบโคโรเนียล อันเนื่องมาจากการได้รับอิทธิพลจากพวกฝรั่งเศสหรือพวกโปรตุกีสที่เข้ามาค้าขายกับไทยในสมัยนั้น รวมถึงศิลปะการก่อสร้างแบบจีน ที่มีให้เห็นอยู่มากมายหลายหลัง โดยเฉพาะบ้านนายบุญผ่อง วีรบุรุษสงครามของทางรถไฟสายมรณะ และบ้านของพ่อค้าคนสำคัญ เช่น บ้านสุธี บ้านธนโสภณบ้านสิทธิสังข์ บ้านแสนสุข เป็นต้น ทำให้ชุมชนเก่าแห่งนี้ยังคงวิถีแบบเดิมโดยไม่ต้องตกแต่งและสร้างความเถิดเทิงไปตามๆ กัน นั่นคือไปเมื่อไรก็พบเห็นได้ตลอดเวลา
บ้านธนโสภณ
อาาคารสถาปัตย์จีน-ฝรั่ง
ถนนวัฒนธรรมของกาญจนบุรี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี