การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นได้ทำให้คนไทยพากันเศร้าโศกไปตามกันทั้งแผ่นดิน แทบจะทุกแห่งหนล้วนแต่จัดกิจกรรมที่แสดงถึงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดไม่ได้นั้น โดยเฉพาะบรรดาศิลปิน นักแสดง นักร้องต่างพร้อมใจกันแต่งและร้องเพลงถ่ายทอดความรู้สึกอาลัยรักในหลวงอยู่แทบทุกวัน เช่นเดียวกันบรรดาศิลปินพื้นบ้านแต่ละสาขาก็พากันถ่ายทอดศิลปะการแสดงของตนแสดงความไว้อาลัยรักภักดีด้วยเช่นเดียวกัน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้เชื้อชวนศิลปินพื้นบ้านทุกภาคได้ร่วมกันแสดงความไว้อาลัยและเผยแพร่ศิลปะการแสดงของตนไปพร้อมกันโดยเฉพาะภาคใต้นั้น โนรา ถือเป็นการละเล่นพื้นเมืองเฉพาะถิ่นที่มีการสืบทอดกันมายาวนานจนเป็นที่นิยมกันแพร่หลายและกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญของจังหวัดในภาคใต้ การละเล่นพื้นบ้านของโนราภาคใต้นั้นมีทั้งการร้อง การรำ บางแห่งเล่นเป็นเรื่องราว ให้น่าสนใจ การแสดงโนรา นี้เรียกกันเต็มยศน่าจะมาจากคำว่า มโนราห์ เป็นคำที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งสมัยอยุธยา โดยการนำเอา เรื่องพระสุธน-มโนราห์ มาแสดงเป็นละครชาตรี ส่วนโนราของภาคใต้นั้นเชื่อว่าน่าจะได้รับอิทธิพลจากการร่ายรำของอินเดียโบราณที่เดินทางมาจากลังกาก่อนสมัยศรีวิชัย พร้อมกับเครื่องดนตรีโนรา ที่เรียกว่า เบ็ญจสังคีต ประกอบด้วย โหม่ง ฉิ่ง ทับ(ตะโพน) กลอง และ ปี่ใน เพื่อบรรเลงให้เข้ากับท่ารำของโนรา ซึ่งมีการแต่งตัวแสดงท่าทางลีลาคล้ายคลึงกับการร่ายรำของศรีลังกาหรืออินเดีย ต่อมาการแสดงโนรานั้นมีการพัฒนาเป็นรูปแบบกันขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๘๒๐ ในสมัยสุโขทัยตอนต้นปัจจุบันเชื่อกันเป็นตำนานว่าโนราเกิดขึ้นครั้งแรกที่หัวเมืองพัทลุง คือ ตำบล บางแก้ว จังหวัดพัทลุงแล้ว แพร่ขยายไปยังหัวเมืองอื่นของภาคใต้ โดยเดินทางขึ้นถึงภาคกลางแล้วพัฒนาการแสดงเป็นละครชาตรีในที่สุด
สำหรับการแสดงโนรานั้นมีตำนานเล่า กันว่าเจ้าเมืองพัทลุง มีชื่อว่า พระยา สายฟ้าฟาด เจ้าเมืองพัทลุงมีลูกสาวชื่อ ศรีมาลา เธอมีความสามารถในการร่ายรำมากต่อมาได้เกิดตั้งครรภ์ขึ้นโดยยังไม่ได้แต่งงาน ซึ่งเชื่อกันว่า เธอนั้นท้องกับเทวดา พระยาสายฟ้าฟาดมีความโกรธมาก จึงให้นำนางศรีมาลาลอยแพไปในทะเลคือ ทะเลสาบสงขลา และแพได้ไปติดที่เกาะใหญ่นางศรีมาลา ได้ให้กำเนิดลูกชาย ชื่อว่า เทพสิงหลนางศรีมาลา ได้ฝึกให้เทพสิงหลฝึกร่ายรำ ซึ่งเทพสิงหลก็สามารถร่ายรำได้สวยงาม จนมีชื่อเสียงมากอยู่ในเกาะใหญ่ ในไม่ช้าความก็ได้ยินไปถึงหูพระยาสายฟ้าฟาดซึ่งพระยาสายฟ้าฟาด ไม่รู้ว่าเป็นหลานตัวเอง จึงเชิญไปรำในราชสำนัก ฝ่ายนางศรีมาลานั้น เกิดน้อยเนื้อต่ำใจเมื่อครั้งที่ถูกลอยแพ จึงบอกกับคนที่มาติดต่อว่า โนราของเธอคณะนี้จะไปรำก็ได้ แต่ต้องปูผ้าขาวตั้งแต่ริมฝั่งที่ลงจากเรือจนไปถึงตำหนัก พระยาสายฟ้าฟาดยินดีทำตาม เทพสิงหลจึงได้ไปร่ายรำอยู่ในราชสำนัก จากลีลาท่ารำที่สวยงามมากนั้นทำให้พระยาสายฟ้าฟาดตกตะลึงในความงดงามของลีลาท่าทาง จึงถอดเครื่องทรงที่ทรงอยู่นั้นให้กับเทพสิงหล แล้วบอกว่า“เครื่องแต่งกายกษัตริย์ชุดนี้มอบให้เป็นเครื่องแต่งกายของโนรานับแต่นี้เป็นต้นไป” เทพสิงหลจึงบอกว่าแท้จริงแล้ว เป็นหลานของพระยาสายฟ้าฟาดนั่นเอง ทำให้พระยาสายฟ้าฟาดมีความยินดีรับโนราไว้เป็นการแสดงในราชสำนัก และให้สิทธิแต่งกายเหมือนกษัตริย์ทุกประการ
ดังนั้นการที่สมาคมโนราฯได้ร่วมกันจัดมหกรรมแสดงความจงรักภักดีในครั้งนี้จึงทำให้ โนราระดับครูและลูกศิษย์หลายสำนักมากกว่า ๒๐๐ คนนั้น ได้ร่วมกันแสดงความไว้อาลัยพร้อมกับนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและคณะที่ได้ชื่นชมโนราชั้นครูแสดงลีลาท่าทางให้ศิษย์รุ่นใหม่จดจำและนำไปฝึกฝนเพื่อสานต่อศิลปะการแสดงชั้นสูงให้เป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ไม่สูญหายจากแผ่นดินต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี