พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นต่อชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งชาวจุฬาฯ ทุกคนล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเสมอมา รายการ “ผู้หญิงแนวหน้ากับคุณแหน” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 16.00-16.25 น. ทางสถานี TNN2 ช่อง 784 ช่วง Focus On พิธีกร “ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย” พาไปพูดคุยกับ “ม.ร.ว.ยงยุพลักษณ์ เกษมสันต์” อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่มีต่อชาวจุฬาฯ ในแง่มุมต่างๆ
ม.ร.ว.ยงยุพลักษณ์ เกษมสันต์ เล่าว่า “พิธีพระราชทานปริญญาบัตรได้มีขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 คือได้มีการพระราชทานปริญญาบัตรให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2473 เป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้น แล้วก็พระราชทานอยู่แค่ 2 ปี พอเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ทุกอย่างก็ยุติลงจบกันไปตอนนั้นช่วงหนึ่ง
มาเริ่มกันใหม่อีกครั้ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ยังไม่ได้บรมราชาภิเษก ก็ยังไม่มีการพระราชทานปริญญาใดๆ ทั้งสิ้น แล้วก็ช่วงรัชกาลที่ 8 ก็สั้นเหลือเกิน จนกระทั่งมาถึง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็ได้มีการพระราชทานปริญญาให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นครั้งแรก ในปี 2493 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2493 ซึ่งในสมัยนั้นบัณฑิตที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จะต้องคลานเข่าเข้าไปรับจากพระหัตถ์ จะต่างกับปัจจุบันที่ทุกคนยืน แต่รุ่นที่พี่รับจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่ได้คลานเข่าแล้ว
สิ่งที่ประทับใจมากที่สุด แล้วเราก็จำกันมาก็คือ กระแสพระราชดำรัสซึ่งตรัสกับบัณฑิตรุ่นแรกที่พระราชทาน ซึ้งมากเลยค่ะ พระองค์ท่านพระราชทานกระแสพระราชดำรัสว่า แม้ว่าจะจบการศึกษาไปแล้วก็ตาม แต่ชื่อเสียง เกียรติภูมิของสถาบันการศึกษาจะต้องติดตัวบัณฑิตทุกคนไปจนตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นบัณฑิตทุกคนจะทำอะไร ก็ต้องให้นึกถึงชื่อเสียงของสถาบันการศึกษา พระประถมบรมราโชวาทที่พระราชทาน ถึงจะพระราชทานกับบัณฑิตรุ่นแรก แต่ทุกคนที่เป็นบัณฑิตจะจดจำ เหมือนกับพูดง่ายๆ ว่า ขอให้ระลึกถึงว่า จบจากจุฬาฯแล้ว ความเป็นจุฬาฯ ก็ยังติดตัวไปกับบัณฑิตตลอดชีวิต
ส่วนที่บอกว่าการพระราชทานปริญญาบัตรเริ่มกลับมาอีกครั้งหนึ่งในปี 2493 ซึ่งตอนนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ก็มีพระราชภารกิจเยอะมาก แต่ก็ยังเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรอยู่ตลอด จนถึงปี 2541 ซึ่งถือว่าเป็นรุ่นสุดท้ายที่เสด็จพระราชดำเนินมาด้วยพระองค์เอง หลังจากนั้นก็เป็นสมเด็จพระเทพรัตนฯ เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทาน
ซึ่งการเสด็จเข้ามาพระราชทานปริญญาบัตรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับบัณฑิตจุฬาฯในสมัยนั้น พอรถพระที่นั่งผ่านพ้นประตูจุฬาฯเข้ามา จะรับสั่งให้คนขับดับเครื่องยนต์ แล้วรถจะเคลื่อนไปด้วยแรงเข็นของนิสิตจุฬาฯ ทั้งหลาย ซึ่งเป็นนิสิตปัจจุบันในขณะนั้น ทุกคนก็จะมาแย่งกันเข็นรถพระที่นั่ง
และอีกอย่างคือ พอหลังจากพระราชทานปริญญาบัตรเสร็จแล้ว ในช่วงพักก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินกลับ ก็จะเสวยพระสุธารสที่
ในหอประชุม มีอยู่ปีหนึ่งก็รับสั่งว่า เสียดายปีนี้จะอยู่กินน้ำชาด้วยไม่ได้ เพราะว่าสมเด็จพระราชินีกำลังจะทรงมีพระประสูติกาล ซึ่งก็เป็นเจ้าฟ้าองค์เล็ก เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ แล้วก็เพราะเหตุที่เจ้าฟ้าประสูติในวันที่พระราชทานปริญญาบัตรจุฬาฯนี่เอง ถึงได้ทรงพระนามว่า เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ เพื่อเป็นเกียรติแก่จุฬาฯ ก็ถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นเหลือที่มีกับชาวจุฬาฯ
อีกเรื่องหนึ่งคือ จะมีพิธีหมอบกราบ คือนิสิตสวมชุดนิสิตหมอบกราบกับพื้น เวลาเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์ ซึ่งทุกคนทำด้วยความประทับใจ และก็ด้วยความเต็มใจมาก แม้ว่าพื้นตรงนั้นจะมีฝุ่นมีอะไรก็แล้วแต่ แต่ทุกคนก็ยินดีที่จะทำ ซึ่งตอนนี้ประเพณีนี้ได้หายไป อยากให้จุฬาฯนำกลับมา เมื่อแต่ก่อนนี้ชาวจุฬาฯ ไม่ใช่กราบเฉพาะเวลาเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญา เวลาเราไปถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ 23 ตุลาคม เราก็ลงนั่งกับพื้นและกราบ จุฬาฯ จะกราบตลอด ถือว่าเป็นมารยาทของชาวจุฬาฯ
สำหรับเรื่องฉลองพระองค์ครุย องค์แรกที่ทางจุฬาฯ ทูลเกล้าพระราชทานให้กับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นครุยของคณะรัฐศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต และก็เป็นครุยที่พระองค์ทรงทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญา ถือว่าเป็นความภูมิใจของคณะรัฐศาสตร์ จริงๆ ก็เป็นคนจุฬาฯทั้งหมด เพียงแต่ว่าสีของครุยเป็นสีของคณะรัฐศาสตร์ แล้วในคณะรัฐศาสตร์ก็จะมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ที่ทรงครุยที่เป็นของคณะรัฐศาสตร์อยู่
ส่วนเรื่องของ วันทรงดนตรี ซึ่งก็ถือว่าเป็นความประทับใจ ทุกๆ วันที่ 20 กันยายน เป็นวันที่ระลึกในการทรงดนตรี คือวันทรงดนตรีถือกำเนิดมาจากพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานกับจุฬาฯ เป็นพิเศษ จริงๆ แล้วตอนนั้นคือทุกคนก็ทราบกันว่าโปรดการทรงดนตรี และทรงเป็นนักดนตรีที่มีความสามารถอย่างยิ่ง ตอนนั้นก็มีวงส่วนพระองค์อยู่วงหนึ่ง ซึ่งเล่นออกรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิตเป็นประจำ ชื่อว่าวงลายคราม
เมื่อวันที่ 6 กันยายน ปี 2500 วงลายครามไปเล่นที่เวทีลีลาศ สวนอัมพร แล้วก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นิสิตจุฬาฯได้เข้าเฝ้าฯในวันนั้นด้วย แล้วก็มีคนอยากฟังที่พระองค์ทรงดนตรีด้วยตัวเอง ก็มีคนขอพระราชทานให้ทรงดนตรี พระองค์ทรงเล่นแซกโซโฟนพระราชทานกับนิสิตที่ขอ แล้วหลังจากนั้นก็มีพระมหากรุณาธิคุณให้วงลายครามได้มาเล่นร่วมกับวงดนตรีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่หอประชุมจุฬาฯ พี่ก็ได้มีโอกาสเข้าไปฟังที่พระองค์ท่านทรงดนตรีตั้งแต่เป็นนิสิตจนกระทั่งเป็นอาจารย์ก็มาฟัง ก็เป็นความประทับใจมากเลย
แล้วนอกจากนั้นพระมหากรุณาธิคุณในเรื่องของดนตรี คือเมื่อก่อนนี้เพลงประจำมหาวิทยาลัยเราไม่มี จุฬาฯก็อาจเอื้อมขอพระราชทานเพลงประจำมหาวิทยาลัย ตอนนั้นอาจารย์สุมนชาติ สวัสดิกุล เป็นอธิการบดี ก็ได้ทูลเกล้าฯขอพระราชทานเพลงประจำมหาวิทยาลัย ก็โปรดเกล้าฯพระราชทานให้ พระราชนิพนธ์มาเป็นอันดับที่ 11 เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ โดยที่พระราชทานทำนองมา ส่วนเนื้อร้องก็มี 2 คน ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา และอาจารย์สุภร ผลชีวิน เป็นคนช่วยกันประพันธ์
เนื้อร้อง ก็ถือว่าเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเพลงแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
อีกอย่างวันทรงดนตรีที่จำได้และทุกคนประทับใจก็คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ก็เสด็จพระราชดำเนินด้วย มีบางปีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ก็เสด็จตามด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรฯ ในขณะนั้น กับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ก็เสด็จด้วย แล้วก็มีบางปีเหมือนกับทรงมีพระราชปฏิสันถาร และก็ทรงเหมือนร้องเพลงด้วย
พอเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นเพลงประจำของจุฬาฯ พระราชทานมาแล้ว และก็เอามาเล่นที่หอประชุมจุฬาฯเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2492 มันกระหึ่มไปหมด ไม่ใช่เฉพาะในหอประชุม ไม่ทราบว่าดังไปถึงเสาวภา สามย่าน ด้วยหรือเปล่า ซึ่งเป็นความประทับใจจริงๆ ภาพเหล่านั้นตอนนี้ก็เป็นแค่ความทรงจำ และความเป็นพิเศษของเพลงมหาจุฬาลงกรณ์อีกอย่างหนึ่งคือ โปรดเกล้าฯ ให้ อาจารย์เทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล เอามาปรับปรุงเป็นเพลงโหมโรงในวงดนตรีไทย เป็นเพลงโหมโรงซึ่งเกิดมาจากแนวดนตรีสากลมาเป็นดนตรีไทย เพลงเดียวเลยค่ะ”
ม.ร.ว.ยงยุพลักษณ์ เกษมสันต์ และ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี