“อาการบ้านหมุน” หรืออาการเวียนศีรษะอย่างรุนแรง เป็นภาวะที่มักเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งกับสมาชิกในครอบครัวของหลายๆ ท่าน ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ รวมไปถึงญาติผู้ใหญ่ในวัยสูงอายุ สำหรับสาเหตุของอาการบ้านหมุนนั้น หลายท่านทราบแล้วว่าตนเองเป็นโรค “น้ำในหูไม่เท่ากัน” แต่ก็ยังมีอีกหลายท่านที่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจวินิจฉัย
ศ.พญ.เสาวรส ภทรภักดิ์ หัวหน้าฝ่ายโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เผยในหนังสือจุฬา คอลัมน์ “บอกเล่าก้าวทันหมอ” เผยถึงอาการของโรค รวมถึงอัพเดทเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พร้อมวินิจฉัย และให้การรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ
“โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน” เป็นชื่อที่เรียกกันโดยทั่วไปของโรคเมเนียร์ (Meniere’s disease) แม้ว่าจะยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ แต่ก็พบว่าอาการของโรคเมเนียร์ เป็นผลมาจากความผิดปกติของน้ำที่อยู่ภายในหูชั้นใน (Endolymp) นั่นก็คือ มีแรงดันของน้ำในหูมากเกินปกติ ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 30-50 ปี โดยมักพบบ่อยขึ้น เมื่อสูงอายุสำหรับอัตราการเกิดโรคในผู้ชายและผู้หญิงจะมีจำนวนใกล้เคียงกันจากสถิติผู้ป่วยของคลินิกหู คอ จมูก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยโรคเมเนียร์มากเป็นอันดับ 2 รองจากผู้ป่วยที่มีภาวะหินปูนหูชั้นในเคลื่อน ทั้งนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีความผิดปกติของน้ำในหูข้างใดข้างหนึ่ง มีผู้ป่วยจำนวนไม่มากนักที่จะเป็นโรคเมเนียร์ของหูทั้งสองข้าง (ประมาณร้อยละ 15 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด)
นั่นคือ อาการเวียนศีรษะอย่างรุนแรง และมีความรู้สึกบ้านหมุนร่วมด้วย บางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมกับการสูญเสียการทรงตัว ซึ่งอาจทำให้ล้มได้ง่าย สำหรับอาการอื่นๆ ที่พบร่วมด้วย ได้แก่ ภาวะการได้ยินลดลง อาการเสียงรบกวนในหู และอาการหูอื้อ อาการเหล่านี้มักพบในช่วงระยะแรกของโรคซึ่งเกิดขึ้นแบบชั่วคราว แต่หากปล่อยให้โรคทวีความรุนแรงขึ้นก็จะส่งผลให้สมรรถภาพการได้ยินเสื่อมลง สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เกิดอาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากันมีความรุนแรงมากขึ้น ได้แก่ อาหารรสเค็มจัด ซึ่งมีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง จะส่งผลให้แรงดันน้ำในหูมากขึ้น อีกทั้ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีปริมาณคาเฟอีนสูง รวมไปถึงความเครียดและการพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นปัจจัยให้เกิดอาการมากขึ้น
ศ.พญ.เสาวรส กล่าวถึงการวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของน้ำในหูชั้นในว่า แพทย์จะตรวจดูระบบสมดุลของร่างกาย ซึ่งเป็นปัจจัยที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของน้ำในหูชั้นใน เริ่มต้นจากการตรวจร่างกาย, ตรวจการได้ยิน (Audiometry) ตรวจประสาทการทรงตัวผ่านการเคลื่อนไหวของลูกตาด้วยการใช้ Videonystagmograph (VNG) การใช Rotatory Chair Test โดยให้ผู้ป่วยนั่งบนเก้าอี้หมุน เพื่อตรวจการทำงานของหูชั้นในจากการเคลื่อนไหวของลูกตา อีกทั้งการตรวจวัดการทรงตัวด้วยเครื่อง Posturography และการตรวจแรงดันน้ำในหูชั้นในจากการวัดคลื่นหูชั้นใน (SP / AP Ratio) ด้วย Electrocochleography Test (ECoG)
สำหรับวิธีการรักษาโรคเมเนียร์ หรือโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ศ.พญ.เสาวรส เล่าให้ฟังว่า การรักษาโรคนี้จะเริ่มจากการรักษาตามอาการลดปัจจัยเสี่ยงตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น และการใช้ยาซึ่งเป็นการรักษาโรคที่เกิดขึ้นระยะแรก สำหรับผู้ป่วยในระยะที่มีอาการรุนแรงมากขึ้นก็จะมีวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัด (Endolymphatic Sac Surgery) เพื่อระบายน้ำในหูชั้นใน ข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้ คือ สามารถควบคุมอาการเวียนศีรษะได้พร้อมกับการรักษาระดับการได้ยินได้ดีเช่นเดิม แต่ในผู้ป่วยบางรายก็ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยวิธีนี้ และการฉีดยาเข้าหูชั้นในผ่านทางแก้วหู (Intratympanic Injections) เพื่อควบคุมแรงดันน้ำ ซึ่งเป็นวิธีการรักษาแบบใหม่ในปัจจุบัน ทำได้ง่าย ได้ผลการรักษาค่อนข้างดี และได้รับความนิยมมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็อาจทำให้การได้ยินเสื่อมลงจากเดิมบ้าง ซึ่งแพทย์ก็จะต้องพิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยที่มีลักษณะอาการต่างกันในแต่ละรายนั่นเอง
สำหรับผู้ที่สนใจเข้ารับการตรวจวินิจฉัยที่มีความละเอียดแม่นยำด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพสูง พร้อมรับคำปรึกษาและการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สามารถเข้ารับบริการได้ทุกวันในเวลาราชการที่คลินิกหู คอ จมูก ชั้น 10 อาคาร ภปร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (สำหรับคลินิกเฉพาะทางด้านหูจะเปิดให้บริการทุกวันอังคารและพฤหัสบดี ในเวลาราชการ)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี