เราคงยอมรับกันว่า ในปัจจุบันนี้มีการใช้สารเคมีกันอย่างแพร่หลายในทุกครัวเรือน สารเคมีหลายชนิดเป็นที่อันตรายอย่างมากต่อสุขภาพของสมาชิกในบ้าน ซึ่งอาจมาในรูปของ สารฆ่าแมลง
กรด ด่าง ยาเบื่อหนู หรือแม้แต่น้ำยาทำความสะอาดบ้าน ซึ่งหากเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะเป็นโดยการกิน การสูดดม และการสัมผัสแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นอันตรายทั้งสิ้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังในการใช้งานเป็นพิเศษ แต่ความประมาทเลินเล่อในการใช้งาน หรือการเก็บ หรือแม้แต่อุบัติเหตุก็จะอาจเป็นเหตุที่ทำให้เราหรือสัตว์เลี้ยงได้รับสารพิษเหล่านั้นได้
เมื่อสัตว์เลี้ยงได้รับสารพิษเรานั้นแล้ว ปัจจัยมีผลต่อการหาย หรือลดอันตรายที่เกิดขึ้น นั่นคือความรวดเร็วในการพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับการรักษา การปฐมพยาบาลโดยเจ้าของในช่วงก่อนถึงมือสัตวแพทย์หรือระหว่างเดินทางไปพบสัตวแพทย์เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะเป็นการช่วยลดความรุนแรง ลดการเจ็บปวด ลดการเสียหายของอวัยวะ และลดโอกาสที่การเสียชีวิตของสัตว์เลี้ยงได้
หลักการปฐมพยาบาลสัตว์ เมื่อสัตว์ได้รับสารเคมีมีดังต่อไปนี้
1.เมื่อได้รับสารเคมีโดยการกิน
การช่วยให้สัตว์อาเจียนเอาสารพิษที่กินไปออกมาเป็นวิธีหนึ่งที่เจ้าของสามารถทำได้ เมื่อ “สัตว์ยังมีสติ” ตื่นตัว และให้ความร่วมมือกับเจ้าของเท่านั้น และควร “ทำภายใน 1 ชั่วโมง” หลังจากที่สัตว์กินสารเคมีเข้าไป
วิธีการกระตุ้นให้สัตว์อาเจียนที่กล่าวนั้น สามารถทำได้หลายวิธีได้แก่...
1.1 ล้วงคอให้อาเจียน เป็นวิธีที่ทำให้อาเจียนได้ง่าย แต่ไม่แนะนำเพราะ มีความเสี่ยงต่อเจ้าของในการถูกสัตว์เลี้ยงกัดได้
1.2 ป้อนด้วยน้ำเชื่อมเข้มข้น ซึ่งจะไปกระตุ้นการอาเจียนได้ โดยในแมว ใช้น้ำเชื่อมปริมาณ 5 ซีซี หรือประมาณ 1 ช้อนชา ส่วนในสุนัข ใช้น้ำเชื่อมปริมาณ 5 ซีซี หรือ 1 ช้อนชาต่อสุนัขน้ำหนักตัว 5 กิโลกรัม
1.3 ป้อนด้วยน้ำยาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่มีความเข้มข้น 3% (Hydrogen peroxide 3%) ก็คือตัวที่เราใช้ล้างแผลนั่นเอง ปริมาณ1 ช้อนโต๊ะ หรือ 20ซีซี ต่อ สุนัขหรือแมวน้ำหนัก 10 กิโลกรัม
หมายเหตุ **การป้อนน้ำเชื่อม หรือ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ที่มีความเข้มข้น 3% นั้น หากสัตว์เลี้ยงไม่อาเจียนภายใน 20 นาทีหลังได้รับการกระตุ้นไปแล้ว สามารถกระตุ้นซ้ำได้อีก 1 ครั้ง **
การกระตุ้นให้สัตว์อาเจียนนั้น มีข้อจำกัดในกรณี...
1.สัตว์อยู่ในภาวะสลบ ชัก ดุร้าย ไม่มีสติ หรืออ่อนแอมาก เพราะมีโอกาสอย่างสูงที่ทำให้เกิดการสำลักแล้วเศษอาหารเข้าทางเดินหายใจได้
2.หากกินสารเคมีเข้าไปแล้วนานเกินกว่า 1 ชั่วโมง ทำไม่ได้เนื่องจากสารเคมีนั้นๆ จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดไปแล้ว
3.หากสารเคมีที่สัตว์กินเข้าไปเป็นสารประเภทกรด ด่าง สารหอมระเหยที่เป็นผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม หรือสารที่มีฤทธิ์กัดกร่อน ให้ป้อนด้วยไข่ดิบ หรือนม เพื่อลดการระคายเคือง และรีบพาสัตว์ไปพบสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุด
2.เมื่อได้รับสารเคมีโดยการสูดดม
แก้ไขเบื้องต้นโดยการ รีบพาสัตว์เลี้ยงไปยังพื้นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ อากาศถ่ายเทสะดวก และปราศจากสารเคมีเหล่านั้น จากนั้นให้รีบพาส่งสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด
3.เมื่อได้รับสารเคมีโดยการสัมผัสถูกผิวหนัง
เจ้าของควรใส่ถุงมือ และให้ล้างตัวสัตว์ที่บริเวณที่สัมผัสสารเคมีด้วยน้ำสะอาด ร่วมกับการใช้สบู่ อย่างน้อย 15 นาที แล้วสังเกตอาการและนำส่งสัตวแพทย์โดยเร็ว
5.เมื่อได้รับสารเคมีเข้าตา
ให้ทำการล้างตาของสัตว์ด้วยน้ำเกลือล้างแผล จนคิดว่าสารเคมีน่าจะถูกชะออกไปหมดแล้ว จากนั้นให้รีบนำส่งสัตวแพทย์โดยด่วน
หวังว่าการปฐมพยาบาลนี้ คงช่วยให้เราสามารถลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับน้องหมา น้องแมวของเราจากกรณีได้รับสารเคมีนะครับ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี