สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ถึงวัดเทพศิรินทราวาส โดยมีครอบครัวของผู้วายชนม์ โพธิพงษ์-ยุพา ล่ำซำ, กฤษฎา-พงศกร ล่ำซำ และท่านผู้หญิงวิระยา ชวกุล เฝ้าฯ รับเสด็จ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ นายไพโรจน์ ล่ำซำ อดีตประธานกรรมการ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน)ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม 2561 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม เป็นเกียรติแก่ผู้วายชนม์ และวงศ์ตระกูลอย่างหาที่สุดมิได้ โอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ โดยเสด็จในการนี้ด้วย โดยมีครอบครัว ท่านผู้หญิงอรสา ล่ำซำ พร้อมบุตร กฤษฎา ล่ำซำ, พงศกรล่ำซำ เฝ้าฯ รับเสด็จ ทั้งนี้มีบรรดาบุคคลสำคัญ นักธุรกิจ ตลอดจนผู้ที่ให้ความเคารพนับถือมาร่วมไว้อาลัยในคุณงามความดีของผู้วายชนม์ เป็นครั้งสุดท้าย ถือเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตที่น่ายกย่องชื่นชม
นายไพโรจน์ ล่ำซำ เป็นบุตรคนโตของ นายจุลินทร์ ล่ำซำและ สงวน หวั่งหลี เกิดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2476มีน้อง 5 คน คือ โพธิพงษ์ ล่ำซำ, คุณหญิงจำนงศรีหาญเจนลักษณ์, ทวีนุช จ่างตระกูล, ธงชัย ล่ำซำ และ ภูมิชาย ล่ำซำ โดยมารดาของ ไพโรจน์ ล่ำซำ เสียชีวิตตั้งแต่ไพโรจน์ยังเป็นเด็ก โดยนายไพโรจน์ เป็นบุคคลที่มีความรับผิดชอบสูงมีบุคลิกของความเป็นผู้นำ สุขุมรอบคอบ และมีนิสัยอ่อนน้อม ตลอดจนมีน้ำใจเมตตากรุณาต่อผู้ที่มีโอกาสได้รู้จักและทำงานด้วย
นายไพโรจน์ ล่ำซำ สมรสกับ ท่านผู้หญิงอรสา (ชวกุล) ล่ำซำ มีบุตรชาย 2 คน คือ กฤษฎา ล่ำซำ และ พงศกร ล่ำซำ โดยกฤษฎา ล่ำซำ สมรสกับ พอลลีน ล่ำซำ มีบุตร 4 คน ส่วน พงศกร ล่ำซำ สมรสกับ ชญาดา ล่ำซำ มีบุตร-ธิดา 2 คน ตลอดระยะเวลากว่า 55 ปี ที่ ไพโรจน์ ล่ำซำ ครองคู่กับท่านผู้หญิงอรสานั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าท่านรักและให้เกียรติท่านผู้หญิงอรสาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งท่านผู้หญิงอรสาก็รักและให้การดูแลเป็นอย่างดีเช่นกัน จนเป็นที่ชื่นชมและประจักษ์แก่ผู้พบเห็นโดยทั่วกันด้านการศึกษา นายไพโรจน์ ล่ำซำ เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ต่อมาปี 2483-2486 ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ธนบุรี และเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จากนั้นในปี 2491ได้เดินทางไปเรียนภาษาจีนที่ฮ่องกงกับพี่น้อง ซึ่งก่อนจะเดินทางไปฮ่องกง ไพโรจน์ ล่ำซำ, โพธิพงษ์ ล่ำซำ, บรรยงค์ล่ำซำ และ สัญชัย ชัยเฉนียน ได้บวชเณรพร้อมกัน ณวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เป็นเวลา 1 เดือนเต็มต่อมาปี 2493 ได้เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่ประเทศอังกฤษ โดยเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์จนจบปริญญาตรี BA (Commerce)
นายไพโรจน์ ล่ำซำ เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีสูงถ้าตอบแทนพระคุณได้จะไม่เคยละโอกาสนั้น แม้กับญาติผู้น้อยหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ก็จะเอื้อเฟื้อช่วยเหลือด้วยความเต็มใจทั้งการให้การแบ่งปัน ตลอดจนความเป็นห่วงเป็นใยนอกจากนี้ยังมีนิสัยชอบทำบุญ โดยมักจะทำบุญทำนุบำรุงศาสนากับวัดและโรงพยาบาลต่างๆ อยู่เป็นนิจ หลังจากจบการศึกษาได้เข้ารับราชการทหารที่กรมข่าวทหารบก กระทรวงกลาโหม จนได้ติดยศร้อยตรี ก่อนจะลาออกและเข้ารับช่วงดูแลโรงเรียนธนบุรีศึกษาต่อจากบิดามาตั้งแต่ปี 2502ซึ่งโรงเรียนนี้ คุณพ่อจุลินทร์ ล่ำซำ ผู้เป็นบิดาได้ก่อตั้งและได้รับใบอนุญาตเมื่อปี 2501 ให้บริหารต่อไปในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนธนบุรีศึกษามาจนถึงปัจจุบัน ในปี2503 ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท สมบัติล่ำซำ จำกัด ต่อจากคุณพ่อ โดยบริหารงานที่บริษัทดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2513นานถึง 30 ปี จากนั้นเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการธนาคารจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีบทบาทอย่างสูงในการเข้ามาบริหารงานของบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ทำให้บริษัท มีความเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี 2505 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการของบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน)และขึ้นเป็นประธานกรรมการบริษัท ในปี 2533 และเป็นประธานกรรมการและกรรมการบริษัทในเครือต่างๆ อีกมากมายอาทิ บริษัท ล็อกซเล่ย์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด,บริษัทล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้ง จำกัด, บริษัทเอ็น เอส บลูสโคป(ประเทศไทย) จำกัด, บริษัทเอกภาวี จำกัด, บริษัทเอ็น เอส บลูสโคป ไลสาจท์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัทบี พี คาสตรอล(ประเทศไทย) จำกัด ฯลฯ จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต และยังได้เข้ามาบริหารงานสานต่อจากคุณพ่อจุลินทร์ ล่ำซำ ที่บริษัทผลิตภัณฑ์นมกรุงเทพ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายนมข้นหวานตรามะลิ มาระยะหนึ่ง อันเป็นที่นิยมไปทั่วประเทศอีกด้วย อีกทั้งยังได้เข้าร่วมลงทุนกับ บริษัทผลิตสุขภัณฑ์ แชงค์(Shank) จากประเทศอังกฤษ ตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายสุขภัณฑ์ Shankในประเทศไทย ซึ่งต่อมาในปี2530 ได้กลายเป็นบริษัทในเครือของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ในชื่อบริษัท สยามซานิทารีแวร์ จำกัด ภายใต้ยี่ห้อ Cotto ซึ่งบริษัทนี้แม้จะกลายเป็นบริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทยแล้ว ก็ยังได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการจนถึงปัจจุบันนับได้รวมกว่า 30 ปี
นายไพโรจน์ ล่ำซำ เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ) ซึ่งตลอดที่มีชีวิตอยู่ได้ทำคุณงามความดีมาโดยตลอด จนได้รับโปรดเกล้าฯ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ดังต่อไปนี้ 5 พฤษภาคม 2527 ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ, 5 ธันวาคม 2528 ประถมาภรณ์ มงกุฎไทย,5 ธันวาคม 2534 ประถมาภรณ์ ช้างเผือก, 5 ธันวาคม 2537มหาวชิรมงกุฎ และ 5 พฤษภาคม 2544 ทุติยจุลจอมเกล้า
ในช่วงที่มีชีวิตอยู่ นายไพโรจน์ ล่ำซำ เป็นคนสุขภาพแข็งแรง ออกกำลังกายด้วยการเล่นกอล์ฟเป็นประจำ และยังคงเดินทางไปทำงานตามปกติ จนมาระยะหลังมีอาการอ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย จึงเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชอย่างต่อเนื่องและถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบเมื่อวันพุธที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2561 สิริอายุรวม 85 ปี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี