คุณสิริกิติยา เจนเซ่น ผอ.โครงการวังหน้า พร้อมด้วย ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ ผอ.หอศิลปวัฒนธรรมแห่ง กทม.,พล.ต.ท.ประพันธ์ จันทร์เอม ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ประธานมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์ฯ และ สตวัน ฮ่มซ้าย ผอ.สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ร่วมกันแถลงข่าวนิทรรศการวังน่านิมิต
นิทรรศการ “วังน่านิมิต” (The Architectural Ensemble of Wang Na) จัดขึ้นระหว่างนี้จนถึงวันที่ 27 มิถุนายนนี้ ณ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ทุกภาคส่วนได้ตระหนักเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์และต้องการนำเสนอแง่มุมทางประวัติศาสตร์ที่กระตุ้นให้เกิดการต่อยอดทางความคิดขยายองค์ความรู้เดิมในมิติที่กว้างขึ้น เชื่อมโยงอดีตเพื่อให้เข้าถึงปัจจุบัน โดยได้รับความร่วมมือจากส่วนงานต่างๆ ของกรมศิลปากร อาทิ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ สำนักโบราณคดี และสำนักพิพิธภัณฑ์ ร่วมกันรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆ ประกอบการขั้นรูปพระที่นั่งและสิ่งก่อสร้างที่ไม่ปรากฏ โดยสำนักสถาปัตยกรรมสันนิษฐานจากภาพถ่ายเดิมเท่าที่มีอยู่ ภายในนิทรรศการวังน่านิมิต สื่อถึงกระบวนการการสืบค้นและรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งที่เป็นเอกสารและภาพถ่ายที่อยู่ในความดูแลของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รวมถึงที่เก็บรวบรวม โดยนักสะสมทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนรูปสันนิษฐานสถาปัตยกรรมที่ไม่ปรากฎอยู่แล้วในปัจจุบันนำมาตีความอีกครั้งผ่านระบบการกรองที่แปลงคำออกมาเป็นภาษาภาพ (Visual Language) ถ่ายทอดเรื่องราวที่แฝงอยู่ในชุดข้อมูลผ่านนิทรรศการที่เน้นการปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม เพื่อกระตุ้นความตะหนักรู้ในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และความทรงจำของเมืองที่เลือนรางไปตามกาลเวลา
คุณสิริกิติยา เจนเซ่น ผอ.โครงการวังหน้า และผู้กล่าวแนะนำนิทรรศการวังน่านิมิต, อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ประธานเปิดนิทรรศการ และ จิตติ เกษมกิจวัฒนา ภัณฑารักษ์ นำแขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนเข้าชมนิทรรศการวังน่านิมิต
โดยนิทรรศการจะเริ่มต้นที่แผนผังเดิมของพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 ถึงปลายรัชกาลที่ 5 ที่มีการบันทึกไว้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทับซ้อนกับภาพถ่ายทางอากาศของเกาะรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการวางร่องรอยของอดีตบนพื้นที่ปัจจุบัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพบนพื้นที่ประวัติศาสตร์ อันจะนำสู่ความคิดในเรื่องการเคลื่อนตัวและการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นสารัตถะของประวัติศาสตร์ ทั้งยังเป็นเรื่องของการส่งผ่านความทรงจำจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่งในบริบทของนิทรรศการนี้ คือการส่งผ่านองค์ความรู้สู่ผู้ชม นอกจากนี้ยังนำเสนอเรื่องราวพระที่นั่งคชกรรมประเวศ และพลับพลาสูง ซึ่งไม่ปรากฎอยู่แล้วในปัจจุบัน สถาปัตยกรรมทั้ง 2 นี้ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอนุชาธิราช(พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล โดยให้มีพระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดิน หลังจากที่จัดแสดง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครนี้แล้ว จัดการแสดงอีกครั้งในช่วงเดือนธันวาคม ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เรียกได้ว่าเป็นอีกงานหนึ่งน่าสนใจ ที่ทำให้คนไทยได้รู้ถึงประวัติศาสตร์ในยุคสมัยรัตนโกสินทร์ และถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้เห็นของสะสมในอดีตที่หาชมไม่ได้แล้วในปัจจุบัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี