สัปดาห์ที่แล้วเราได้คุยกันคร่าวๆ เกี่ยวกับการกลืนสิ่งแปลกปลอมรวมถึงการตรวจวินิจฉัยไปแล้ว วันนี้เรามาคุยกันต่อครับ
@หากพบว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในทางเดินอาหารแล้ว จะมีวิธีรักษาอย่างไร
สำหรับแนวทางการรักษาคร่าวๆ คือ ต้องพิสูจน์ทราบให้ได้ก่อนว่า อะไรคือสิ่งแปลกปลอม? มีขนาดและลักษณะเป็นอย่างไร? ติดอยู่ที่บริเวณใด? ติดมานานแค่ไหน? การอุดตันมากแค่ไหน? สภาพของสัตว์ป่วยเป็นอย่างไร? ยังดูปกติอยู่ หรือโทรม อ่อนแรงแล้ว
ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยในการพิจารณาหาทางเลือก และทางออกของปัญหานี้ ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงความพร้อมของอุปกรณ์และเครื่องมือที่คลินิก หรือโรงพยาบาลสัตว์นั้นๆ อีกด้วย
คุณหมอบอยได้ยกกรณีตัวอย่างให้เห็นดังนี้ครับ
-การติดของกระดูกก้างปลา หรือเข็มเย็บผ้า ที่ติดอยู่ในช่องปาก และเป็นสุนัขที่ใจดี ไม่ดุร้าย ก็จะง่ายต่อการเปิดปาก แล้วเอาอุปกรณ์คีบเอาออกได้โดยตรงเลย แต่ทั้งนี้ก่อนจะคีบออก สัตวแพทย์ผู้แก้ไขสามารถจะเลือกใช้ยาลดปวด หรือยาซึมกับสุนัขก่อนจะลงมือ เพื่อช่วยให้สุนัขสงบลง และลดความเจ็บปวดเสียก่อนได้
-การติดของกระดูกสันหลังหมู (เล้ง) กระดูกไก่ (ที่แหลมคม) หรือเบ็ดตกปลา ในหลอดอาหารที่ลึกเข้าไป จากช่องปาก กรณีนี้การตรวจวินิจฉัยอาจจำเป็นต้องรวมไปถึง การตรวจสอบการฉีกขาดของหลอดอาหารเสียก่อน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่ค่อยพบการฉีกขาดเพราะหลอดอาหารค่อนข้างมีความยืดหยุ่นสูง การแก้ไขก็สามารถทำได้โดยการส่องกล้องเข้าไป เเล้วค่อยๆ คีบออกมา ทั้งนี้บริเวณของหลอดอาหารที่มักจะพบว่ามีการอุดตันมักอยู่บริเวณหลอดอาหารส่วนท้ายก่อนที่จะผ่านเข้าไปในกระเพาะอาหาร เนื่องจากมีกล้ามเนื้อหูรูดกันทำให้ไม่สามารถเข้ากระเพาะส่วนต้นเข้าไปได้
ปัญหาใหญ่จะเกิดได้มากขึ้น ในกรณีที่ไม่สามารถคีบออกหรือดันลงไปในกระเพาะได้ หรือมีการฉีกขาดของหลอดอาหาร ทำให้เศษอาหารหลุดเข้าไปในช่องอก กรณีนี้สัตวแพทย์มีความจำเป็นที่จะต้องทำการผ่าตัดเปิดช่องอกเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวในลำดับถัดไป ทั้งนี้การผ่าตัดช่องอกจำเป็นต้องอาศัย “ทีมศัลยสัตวแพทย์ที่มีความชำนาญและอุปกรณ์ช่วยเหลือ” เพิ่มเติม ซึ่งสัตวแพทย์จะทำการเตรียมพร้อมและชี้แจงทำความเข้าใจกับเจ้าของเพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์เลวร้ายที่สุนัขประสบอยู่
-ถ้าเป็นสิ่งแปลกปลอมชิ้นไม่ใหญ่นัก และไม่มีขอบคม เช่น ก้อนหิน ลูกแก้ว หรือแม้กระทั่งกระดูกหมูที่ติดอยู่ในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ สัตวแพทย์จะพิจารณาว่าของเหล่านั้นมีแนวโน้มว่าจะก่อให้เกิดปัญหาการอุดตันหรือไม่ (จากการประมวลผลจากการตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยา หรืออัลตร้าซาวนด์) หากไม่มีปัญหาการอุดตันเกิดขึ้น การรอคอยหรือการให้เวลาเพื่อดูสถานการณ์ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งมีหลายครั้งที่พบว่าสุนัขสามารถขับถ่ายออกมาได้เองตามปกติ ทั้งนี้สัตวแพทย์อาจพิจารณาที่จะให้ยาระบายอ่อนๆ มาช่วยให้สุนัขขับถ่ายออกมาได้คล่องขึ้น
(อ่านต่อตอนจบสัปดาห์หน้านะครับ)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี