อาการปวดศีรษะ เป็นโรคยอดฮิตของทุกเพศทุกวัย โดยอาการปวดศีรษะส่วนใหญ่ที่พบได้บ่อยมักเป็นชนิดไม่รุนแรง สามารถรักษาได้ด้วยการดูแลตนเอง หรือรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ แต่ในบางกรณี อาจเกิดจากเนื้องอกในสมอง หรือโรคร้ายแรงอื่นๆ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะควรรู้คือ อาการปวดแบบไหนเป็นชนิดไม่รุนแรง และอาการปวดแบบไหนเป็นอันตรายและควรรีบพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ลองมาดูกันว่าอาการเหล่านั้นมีอะไรบ้าง
พญ.ศุภมาศ วิบูรณ์สุขสันต์ อายุรศาสตร์โรคสมองและระบบประสาทรพ.เวชธานี เผยว่า อาการปวดศีรษะชนิดรุนแรง บางกรณี อาจมีสาเหตุมาจากโรคร้ายแรงในสมอง เช่น เลือดออกในสมอง ติดเชื้อในสมอง หรือ เนื้องอกในสมอง ถึงแม้จะพบไม่บ่อย แต่จำเป็นต้องรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT-Scan หรือ ตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI เป็นต้น
โดยอาการปวดศีรษะที่ต้องรีบพบแพทย์มีดังนี้ ปวดศีรษะเฉียบพลัน และรุนแรงขึ้นมาทันที โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยมีอาการปวดศีรษะ แบบเป็นๆ หายๆ มาก่อน, ปวดศีรษะมากขึ้นเรื่อยๆ ปวดขึ้นทุกวัน ทานยาแก้ปวดแล้วก็ไม่ดีขึ้น, ปวดมากจนไม่สามารถนอนหลับได้ หรือปวดมากจนตื่นกลางดึก, มีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย เช่น ไข้ ตามัว เห็นภาพซ้อนชาแขนขา แขนขาอ่อนแรง คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง, เป็นการปวดศีรษะครั้งแรก หลังอายุ 50 ปี สำหรับผู้ที่ไม่มีลักษณะอาการตามที่ระบุมาข้างต้น ก็มักจะเป็นอาการปวดศีรษะชนิดที่ไม่รุนแรง
พญ.ศุภมาศ วิบูรณ์สุขสันต์
ส่วนอาการปวดศีรษะชนิดไม่รุนแรง สาเหตุ อาจเกิดจากปวดศีรษะจากความเครียด (Tension Type Headache) พบมากที่สุดในทุกช่วงอายุ เกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะซึ่งกระตุ้นจากความเครียด พักผ่อนน้อย หรือการกระทำที่ส่งผลให้กล้ามเนื้อคอบ่า ไหล่ เกร็งหรือตึง มีลักษณะปวดแบบตื้อๆ มึนๆ (Dull Aching) เหมือนมีอะไรมาบีบรัดบริเวณหน้าผาก ขมับ หรือท้ายทอย อาการปวดมักเป็นไม่มาก อาจปวดได้ตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมงจนถึงหลายวันการรักษาเบื้องต้น อาจรับประทานยาแก้ปวดชนิดพาราเซตามอล และพักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด อาการจะดีขึ้นหลังจากนั้น ปวดศีรษะไมเกรน พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ช่วงวัยรุ่นถึงวัยกลางคน อาการปวดค่อนข้างจำเพาะมีลักษณะปวดตุ๊บๆ (Throbbing) บริเวณขมับ ร้าวมาที่กระบอกตา หรือร้าวไปท้ายทอย มักปวดบริเวณข้างใดข้างหนึ่ง แต่บางรายอาจปวดทั้ง 2 ข้าง ส่วนใหญ่จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย และอาจมีอาการกลัวแสงหรือกลัวเสียง(Photophobia, Phonophobia) มีอาการนำก่อนปวด เช่น เห็นแสงผิดปกติ ทั้งนี้ อาการปวดมักมีปัจจัยกระตุ้นชัดเจน เช่น อากาศร้อน ความเครียด กลิ่นบางชนิด เช่น น้ำหอม บุหรี่ อาหารบางชนิด เช่น ชีส ช็อกโกแลต หรือรอบประจำเดือน เป็นต้น ระดับความปวดจะปวดมากกว่าชนิดแรก ตั้งแต่ปวดปานกลางไปจนถึงรุนแรงได้ มักจะมีอาการปวดอยู่นาน 4-72 ชั่วโมง การรักษาเบื้องต้น แนะนำให้นอนพักและอยู่ในที่เงียบ สงบ แสงไม่จ้าจนเกินไปหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ อาจรับประทานยาแก้ปวดชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น Naproxen, Ibuprofen หรือรับประทานยาแก้ปวดไมเกรน เช่นกลุ่ม Ergot, Triptans แต่ควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ปวดศีรษะชนิดคลัสเตอร์ (Cluster headache) พบได้รองลงมา มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และวัยกลางคนขึ้นไป เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของระบบประสาทสมองคู่ที่ 5 และหลอดเลือดที่เกี่ยวข้อง รวมถึงระบบประสาทอัตโนมัติ มีลักษณะอาการปวดศีรษะเป็นชุดๆ มักปวดเวลาเดิมๆ ปวดติดต่อกันระยะเวลาหนึ่งแล้วหายไป อาการปวดแต่ละครั้งมักไม่นานมาก ประมาณ 1 ชั่วโมง แต่จะปวดรุนแรงกว่าไมเกรน ตำแหน่งมักปวดที่รอบกระบอกตา และอาจมีอาการตาแดง น้ำตาไหล น้ำมูกไหลหนังตาตกร่วมด้วยได้ การรักษาเบื้องต้นเวลามีอาการปวด ผู้ป่วยมักจะกระสับกระส่าย นอนนิ่งๆ ไม่ได้ การดมออกซิเจน และใช้ยาแก้ปวดที่จำเพาะ จะช่วยลดอาการปวดศีรษะได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการปวดจึงควรมาพบแพทย์
อย่างไรก็ตาม อาการปวดศีรษะมีได้หลายชนิด และมีวิธีการรักษาที่ต่างกัน หากไม่แน่ใจอาการ ควรปรึกษาและพบแพทย์เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เนื่องจากอาจจะมีผลข้างเคียงจากยา หรือเกิดภาวะใช้ยาแก้ปวดเกินขนาด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี