ถ้าอาชีพ “ครู” คือการทำหน้าที่มอบวิชาความรู้ให้กับศิษย์สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ ก็ถือว่าได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างดีที่สุดแล้ว แต่สำหรับ อาจารย์สัณห์ไชญ์ เอื้อศิลป์ คณบดี คณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา หน้าที่ของเขาไม่ใช่เพียงแค่สอนหนังสือ ทำผลงานวิชาการ แล้วรับเงินเดือนซึ่งมาจากภาษีของประชาชนเพียงเท่านั้น แต่ครูคนนี้ตระหนักดีถึงหน้าที่ของครูที่มีต่อสังคมและประเทศชาติอีกด้วย ซึ่งงานวิจัย “ลา คอสตูม บ้านปึก บาย มูพา” (La Costume Banpuek by MUPA) คือหนึ่งในผลงานที่แสดงให้เห็นในสิ่งที่เขาตระหนักได้เป็นอย่างดี
“ผมมาทำงานที่ชลบุรี 16 ปีแล้ว ผ้าทอบ้านปึกเป็นสินค้าชุมชนที่เราคุ้นเคย เวลามีแขกบ้านแขกเมืองมา ผ้าทอบ้านปึกก็จะเป็นหนึ่งในของที่ระลึกวางในกระเช้า หรือห่อของขวัญผูกโบ หรือไม่ก็เห็นถูกตัดเป็นชุดสำเร็จในดีไซน์ที่ใส่แล้วก็จะเป็นผู้มีวัยวุฒิสูงทันที พอได้รับโจทย์มาให้ทำงานวิจัยเพื่อชุมชน ผมก็เลยจับสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราก่อน จึงได้เลือกทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอบ้านปึก”
อาจารย์สัณห์ไชญ์ เล่าต่อว่า จากการลงพื้นที่พูดคุยกับกลุ่มผ้าทอบ้านปึก นำโดย กำนันเกษม อินทโชติ ทำให้ทราบว่าผ้าทอบ้านปึกมีเรื่องราวที่น่าสนใจนานนับร้อยปี โดยมีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า เมื่อครั้งที่ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในรัชกาลที่ 5 เสด็จแปรพระราชฐานมายังตำบลอ่างศิลา ทรงเห็นความยากลำบากในการทำมาหากินของชาวบ้าน จึงทรงมีพระราชดำริในการสร้างอาชีพ ด้วยการนำช่างมาสอนทอผ้าให้แก่ชาวบ้านจนกลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อในสมัยนั้น และได้สืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่นโดยใช้ชื่อว่า “ผ้าทอคุณย่าท่าน” บ้านปึก ชลบุรี
“ในการทำงานยึดตามวิสัยทัศน์ของคณะ คือ Innovation from tradition คือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่โดยไม่ทำให้รากเหง้าของตนเองสูญเสียไป อัตลักษณ์ของผ้าทอบ้านปึก คือ มี 2 ลวดลาย ได้แก่ ลายไส้ปลาไหล กับ ลายนกกระทา มีคุณสมบัติที่โดดเด่น คือเป็นผ้าฝ้ายทอมือ มีเนื้อแน่นเมื่อสัมผัสแล้วจะให้ความรู้สึกนุ่ม แต่สีส่วนใหญ่จะเป็นสีสด ฉูดฉาด สิ่งแรกที่เราทำคือ ขอให้ชาวบ้านลองเพิ่มเส้นเงินเข้าไปที่ชายผ้าและปรับโทนสีของผ้าให้มีความนุ่มนวล คลาสสิก และทอเป็นสีพื้น เช่น ขาว ดำ สีคราม สีครีม เพิ่มลาย เช่น ลายสมุก ลักษณะสี่เหลี่ยมขัดไปขัดมาคล้ายลายบนหลังเต่า และได้ทำการศึกษาภาพจิตรกรรมฝาผนังจากวัดเตาปูนและวัดเกตุงามซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีลายกระเบื้องลายดอกพิกุล ลายราชวัตร ลายประจำยาม และลายไทยอื่นๆ ที่งดงาม มาออกแบบเป็นลายใหม่ด้วยเทคนิคเรขศิลป์ หรือ Graphic Design อีกทั้ง ในจิตรกรรมฝาผนังนั้นมีสีที่โดดเด่นคือ เหลืองและเขียว จึงให้ชาวบ้านได้ทดลองทอผ้าสีพื้นทั้งเหลืองและเขียว และนำลายที่ได้มาพิมพ์ลงบนผ้า โดยให้ชื่อสีใหม่ที่ได้นี้ว่า เหลืองเตาปูนกับเขียวเตาปูน”
ในการทำงาน อาจารย์สัญห์ไชญ์ บอกว่า ไม่ใช่เป็นการนำความรู้ที่เป็น “วิชาการ” อย่างชัดเจนเข้าไปยัดเยียดให้กับชาวบ้าน เพราะยากต่อการเข้าใจ แต่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทีมวิจัยพัฒนา ซึ่งมีทั้ง คณาจารย์ นักศึกษาของคณะดนตรีและการแสดง และกลุ่มทอผ้าบ้านปึก ที่สำคัญคือการทำให้ชาวบ้านเห็นภาพจริงมากกว่าคำพูดทางวิชาการที่เข้าไม่ถึง
“ตอนที่ขอให้ชาวบ้านทอผ้าลวดลาย สีสันอย่างที่เราแนะนำ ลุงๆ ป้าๆ ก็จะงง ว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร อีกทั้งผ้าทอบ้านปึกแบบดั้งเดิมก็มักไปตัดชุดสำเร็จที่คนรุ่นใหม่เห็นแล้วก็ต้องว่าแก่ เราก็อยากจะทำให้เขาเห็นผ้าทอบ้านปึกในมุมมองที่มันเป็น Hi Fashion มากขึ้น ด้วยการตัดเย็บชั้นสูงหรือ โอต กูตูร์ (Haute Couture) แล้วจัดแสดงแฟชั่นโชว์มีผู้ใหญ่ในจังหวัดมาชม พอเขาได้เห็นผลงานต้นแบบที่เราออกแบบให้ไม่ว่าจะเป็น ชุดราตรี เดรส หรือชุดสูท กางเกง กระโปรง ชาวบ้านก็ตื่นเต้นนะว่าผ้าทอบ้านปึกทำได้ขนาดนี้เลย ก็เป็นแรงบันดาลใจ กำลังใจให้กับกลุ่มผู้ทอผ้าได้เป็นอย่างดีว่า แค่ลดทอนเรื่องสีสัน เพิ่มตรงนี้นิด ทำตรงนี้อีกหน่อย เขาจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ของเขาได้อย่างไร”
ในฐานะ คณบดี คณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา และหัวหน้าทีมวิจัย “ลา คอสตูมบ้านปึก บาย มูพา” (La Costume Banpuek by MUPA) อาจารย์สัณห์ไชญ์ ยอมรับว่า เป็นอีกหน้าที่ที่เขาภูมิใจในการเป็น “ครู”
“ปลื้มใจที่งานชิ้นนี้มันออกมาได้ดีมากกว่าที่คิด ตกใจมากตอนเห็นผ้าทอบ้านปึกในแพทเทิร์นใหม่ๆ แม้จะเป็นลวดลายดั้งเดิมแค่เปลี่ยนสี มีทั้งชุดราตรีที่ดูหรูหรา ชุดสูทที่ดูเรียบแต่เท่ ทันสมัยคนรุ่นใหม่ใส่ได้ ที่สำคัญคือมันเป็นผลงานที่เราทำร่วมกันทั้งคณะอาจารย์ นักศึกษา และชาวบ้าน มันได้ขนาดนี้เลยเหรอ มันเกิดทั้งคุณค่าและมูลค่าไปพร้อมๆ กัน
ในระยะเวลา 16 ปีที่สอนหนังสือมา สิ่งที่สัมผัสได้คือส่วนใหญ่พอทำงานไปสักระยะมันจะเกิด Comfort Zone นอกจากสอนหนังสือแล้ว เป้าหมายคือการทำผลงานวิชาการเพื่อให้ได้มา ซึ่ง รศ., ผศ., ศ. อะไรก็ว่าไป แต่ในความรู้สึกส่วนตัว หน้าที่เราไม่ใช่แค่สอนหนังสือนักศึกษาและทำตำแหน่งทางวิชาการเท่านั้น เราควรต้องเอาความรู้ ความเชี่ยวชาญที่เรามี ไปทำอะไรเพื่อประชาชนและชุมชนที่เราอยู่ด้วย แบบนั้นจึงจะคุ้มค่ากับเงินเดือนที่ได้รับ ซึ่งผมเองก็พยายามที่จะปลูกฝังให้นักศึกษาตระหนักถึงความสำคัญตรงนี้ในการนำความรู้ สิ่งที่ตนเองถนัดลงไปช่วยชุมชน เพราะสิ่งที่นักศึกษาจะได้กลับมาคือองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่มันไม่มีอยู่ในตำรา”
แฟชั่นนิสต้าหรือดีไซเนอร์ที่สนใจอยากเห็น ผ้าทอบ้านปึก จากผลงานวิจัย “ลา คอสตูม บ้านปึก บาย มูพา” (La Costume Banpuek by MUPA) หน้าตาจะเป็นอย่างไร มีความสวยงามแค่ไหน ไม่ต้องเดินทางไปถึงบ้านปึก เพราะ อ.สัณห์ไชญ์ ได้นำมาอวดโฉมให้คนในวงการแฟชั่นได้ชมอย่างใกล้ชิดในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2562 (Thailand Research Expo 2019)” ระหว่างวันที่ 7-10 เมษายน 2562 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร