วันเสาร์ ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ผู้หญิง
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก : พระราชพิธีเบื้องต้น พิธีสรงมุรธาภิเษก พิธีถวายน้ำอภิเษก พิธีถวายสิริราชสมบัติ และถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก : พระราชพิธีเบื้องต้น พิธีสรงมุรธาภิเษก พิธีถวายน้ำอภิเษก พิธีถวายสิริราชสมบัติ และถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์

วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2562, 06.00 น.
Tag : ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเบื้องต้น พิธีถวายน้ำอภิเษก พิธีถวายสิริราชสมบัติ พิธีสรงมุรธาภิเษก
  •  

“พระราชพิธีเบื้องต้น” ประกอบด้วยการเจริญพระพุทธมนต์ ตั้งน้ำวงด้าย จุดเทียนชัยและเจริญพระพุทธมนต์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ในเวลาเย็นทรงจุดเทียนนมัสการพระรัตนตรัย พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ วันรุ่งขึ้นทรงถวายภัตตาหารเช้า เป็นเวลา 3 วัน
ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบมา

ส่วนพิธีพราหมณ์อาจกระทำมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เอกสารมิได้กล่าวถึง ปรากฏหลักฐานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ว่าโปรดให้ประกอบพิธียกพระเศวตฉัตร 7 ชั้นที่พระที่นั่งอัฐทิศ และพระที่นั่งภัทรบิฐ ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พร้อมทั้งการถวายเครื่องพลีกรรมบวงสรวงเทวดา ณ เทวสถานต่างๆ ในพระนคร และการถวายน้ำสังข์ ถวายใบมะตูมให้ทรงทัด กับถวายใบสมิต (ใบมะม่วง ใบทอง ใบตะขบ) เพื่อทรงปัดพระเคราะห์ก่อนจะมอบให้พระมหาราชครูนำไปบูชาชุบโหมเพลิงเพื่อป้องกันอันตรายทั้งปวง


หลังจากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระแท่นบรรทมเพื่อทรงสดับพระสงฆ์สวดเจริญพระปริตรต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วัน ขั้นตอนพระราชพิธีดังกล่าวเป็นแบบอย่างสืบมาในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7)ต่อมาในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) มีการปรับเปลี่ยนขั้นตอนตามความเหมาะสม

โดยก่อนวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โปรดให้ประกอบพระราชพิธีในเวลาเย็นวันเดียวคือวันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2493 เจริญพระพุทธมนต์บนพระแท่นลา หน้าตั่งทุกตั่งตั้งบัตรเทวรูปนพเคราะห์ 3 ชั้น สำหรับโหรบูชาเทวดานพเคราะห์เฉพาะวันนี้ และจะถอนไปในวันรุ่งขึ้น รวมทั้งการจัดเครื่องบูชาพระมหาเศวตฉัตร 5 แห่ง ประกอบด้วย พระมหาเศวตฉัตรภายในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระมหาเศวตฉัตรภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระมหาเศวตฉัตรภายในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

พระมหาเศวตฉัตรภายในพระที่นั่งอนันตสมาคมและพระมหาเศวตฉัตรภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และปูชนียสถานและสิ่งสำคัญ 13 แห่งในพระนคร อนึ่ง..”วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2493 เวลา 10.00 น. เจ้าพนักงานพระอาลักษณ์เชิญพานพระสุพรรณบัฏ พร้อมด้วยดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ออกจากพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มาขึ้นพระราชยานกงที่เกยพลับพลาหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเข้าขบวนแห่อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระแท่นมณฑลในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

“พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ประกอบด้วย พิธีสรงมุรธาภิเษก พิธีถวายน้ำอภิเษกจากผู้แทนทิศทั้ง 8 ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ และพิธีถวายสิริราชสมบัติและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ “พิธีสรงมุรธาภิเษก...มุรธาภิเษก แปลว่า การรดน้ำที่พระเศียร น้ำที่รดเรียกว่าน้ำมุรธาภิเษก การสรงมุรธาภิเษกจึงหมายถึงการยกให้ หรือการแต่งตั้งโดยการทำพิธีรดน้ำ” ซึ่งตามคติความเชื่อของพราหมณ์ถือว่าการยกให้ผู้ใดเป็นใหญ่ ทรงสิทธิ์อำนาจนั้น จะต้องทำด้วยพิธีรดน้ำศักดิ์สิทธิ์

ซึ่งน้ำสรงมุรธาภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่บรรจุในทุ้งสหัสธารานั้น เจือด้วยน้ำปัญจมหานทีในมัธยมประเทศ (อินเดีย) และน้ำเบญจสุทธคงคาอันเป็นแม่น้ำสำคัญทั้ง 5 ของราชอาณาจักรไทย น้ำสี่สระเจือด้วยน้ำอภิเษก ซึ่งทำพิธีพลีกรรม ตักมาจากปูชนียสถานสำคัญในจังหวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร และเจือด้วยน้ำพระพุทธปริตรที่ได้ทำพิธีเตรียมไว้

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร นั้นเสด็จประทับเหนืออุทุมพรราชอาสน์ ณ มณฑปพระกระยาสนาน เจ้าพนักงานไขสหัสธารา หลังจากสรงสหัสธาราแล้ว สมเด็จพระสังฆราชขึ้นถวายน้ำพระพุทธมนต์ด้วยครอบพระกริ่งที่พระปฤษฎางค์ และพระครอบยันตรนพคุณที่พระหัตถ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ทูลเกล้าฯ ถวายน้ำพระพุทธมนต์ด้วยพระเต้าเบญจคัพย์ที่พระหัตถ์ พระโหราธิบดีทูลเกล้าฯ ถวายพระเต้านพเคราะห์ทรงรับไปสรงที่พระอังสาทั้งซ้ายขวา

พระราชครูวามเทพมุนี (สวาสดิ์ รังสิพราหมณกุล)ทูลเกล้าฯ ถวายน้ำมหาสังข์ น้ำเทพมนตร์ในพระเต้าเบญจคัพย์ และพระครอบสัมฤทธิ์ แล้วทูลเกล้าฯถวายใบมะตูมทรงทัดและใบกระถินเพื่อทรงถือ พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (ก๊าด วัชโรทัย) ทูลเกล้าฯ ถวายพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ อนึ่ง...ขณะทรงสรงมุรธาภิเษก พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมสังข์ แตร มโหระทึก และเครื่องดุริยางค์ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารปืนใหญ่ยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบยุค 21 นัด เฉลิมพระเกียรติ

“พิธีถวายน้ำอภิเษก” เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรสรงมุรธาภิเษกแล้วทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์เสด็จออกจากหอพระสุลาลัยพิมาน ไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศ ภายใต้เศวตฉัตร 7 ชั้น ผู้แทนสมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษก และพระราชครูวามเทพมุนี ทูลเกล้าฯ ถวายน้ำเทพมนตร์เวียนไปครบ 8 ทิศ เมื่อเสด็จมาประทับยังทิศบูรพาอีกครั้ง เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตรณ สงขลา) ประธานวุฒิสภา กราบบังคมทูลถวายชัยมงคลเป็นภาษามคธ แล้วทูลเกล้าฯ ถวายน้ำอภิเษก

แต่เดิมราชบัณฑิตและพราหมณ์เป็นผู้ถวายน้ำอภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงรับน้ำอภิเษกจากสมาชิกรัฐสภาทั้ง 8 ทิศ เป็นนัยแสดงถึงความเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย จากนั้น พระราชครูวามเทพมุนีกราบบังคมทูลถวายชัยมงคลด้วยภาษามคธและภาษาไทย แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายนพปฎลมหาเศวตฉัตร

ขณะนั้นพราหมณ์เป่าสังข์ ชาวพนักงานแกว่งบัณเฑาะว์ ประโคมฆ้องชัย แตร มโหระทึก และเครื่องดุริยางค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงรับและพระราชทานเจ้าพนักงาน แล้วเสด็จจากพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ไปยังพระที่นั่งภัทรบิฐ โดยมีขบวนเชิญพระชัยนวโลหะและพระคเณศนำเสด็จ และเจ้าพนักงานเชิญนพปฎลมหาเศวตฉัตรตามเสด็จด้วย

“พิธีถวายสิริราชสมบัติ และถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จไปยังพระราชอาสน์อีกด้านหนึ่งเรียกว่าพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร พระราชครูวามเทพมุนีร่ายเวทย์สรรเสริญศิวาลัยไกรลาสจบแล้วถวายพระสุพรรณบัฏ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องขัตติยราชวราภรณ์ เครื่องขัตติยราชูปโภค และพระแสงอัษฎาวุธ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎในตอนนี้ อันเป็นขั้นตอนสำคัญแห่งพิธี ซึ่งในแต่ละรัชกาลจะมีลำดับพิธีการก่อนหลังแตกต่างกันไป

“แต่เดิมความสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอยู่ที่ทรงรับน้ำอภิเษกเพื่อแสดงความเป็นใหญ่ในแคว้นทั้ง 8แต่ในสมัยนี้อนุโลมการสวมพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นสำคัญตามคติในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)”ในลำดับพิธีการนี้พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถาชาวพนักงานประโคมสังข์ บัณเฑาะว์ ฆ้องชัย ฯลฯพระอารามทั้งหลายย่ำระฆัง หลังจากพิธีถวายสิริราชสมบัติและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่พระที่นั่งภัทรบิฐแล้ว พระครูพราหมณ์ฝ่ายต่างๆ ถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะมีพระปฐมบรมราชโองการเป็นภาษาไทย

“พระมหาพิชัยมงกุฎ” รวมพระจอมสูง 66 เซนติเมตร หนัก 7.3 กิโลกรัม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) โปรดให้สร้างขึ้น ทำด้วยทองลงยาประดับเพชร ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โปรดเกล้าฯ ให้ซื้อเพชรเม็ดใหญ่จากเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย พระราชทานนามว่า “พระมหาวิเชียรมณี” แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดับไว้บนยอดพระมหาพิชัยมงกุฎแทนยอดพุ่มข้าวบิณฑ์

ในสมัยโบราณถือว่ามงกุฎมีค่าสำคัญเท่ากับราชกกุธภัณฑ์อื่นๆ และพระมหาเศวตฉัตรเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุด เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงรับมงกุฎมาแล้วก็เพียงทรงวางไว้ข้างพระองค์ แต่ต่อมา “เมื่อประเทศไทยติดต่อกับประเทศในทวีปยุโรปมากขึ้น จึงนิยมตามราชสำนักยุโรปที่ถือว่า ภาวะแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ที่เวลาได้สวมมงกุฎ” ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเชิญทูตานุทูตในประเทศไทยร่วมในพระราชพิธีและทรงรับพระมหาพิชัยมงกุฎมาทรงสวม แต่นั้นมาก็ถือว่าพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นสิ่งสำคัญในบรรดาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และพระมหากษัตริย์จะทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 พ.ศ.2416 โปรดให้เพิ่มพระปฐมบรมราชโองการภาษามคธอีกหนึ่งภาษา พระปฐมบรมราชโองการจึงประกอบด้วยภาษาไทยและภาษามคธ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อมาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7)

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9)หลังจากคณะพราหมณ์ถวายพระพรชัยมงคล พระราชครูวามเทพมุนีถวายพระพรชัยมงคลด้วยภาษามคธ แล้วกราบบังคมทูลเป็นภาษาไทยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการพระราชทานอารักขาแก่ประชาชนชาวไทยด้วยภาษาไทย พระราชครูวามเทพมุนีรับพระบรมราชโองการด้วยภาษามคธ แล้วกราบบังคมทูลเป็นภาษาไทย จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งทักษิโณทก ตั้งพระราชสัตยาธิษฐานจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจปกครองราชอาณาจักร

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

'เสื้อแดงโคราช' แห่ต้อนรับ 'ทักษิณ' เป็นประธานเททองหล่อรูปเหมือน 'หลวงพ่อคูณ'

‘ปาเกียว’พร้อม! ตะบันรุ่นใหญ่สุดรอบ 12 ปี

คุกคืนที่2!‘สีกากอล์ฟ’เครียดบ้าง ทำใจได้ อาจเจอ‘สีกาเก็น’ในแดนระหว่างพิจารณาคดี

หนุ่มดวงถึงฆาต! ขี่จยย.จะไปทำงาน-หลบหลุมน้ำ 'เฉี่ยวรถกระบะเสียชีวิต'

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved