วันอาทิตย์ ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ผู้หญิง
เพราะสังคมไทยมีรากมีเหง้า สังคมของเราจึงยังดำรงคงอยู่ได้

เพราะสังคมไทยมีรากมีเหง้า สังคมของเราจึงยังดำรงคงอยู่ได้

วันเสาร์ ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2562, 06.00 น.
Tag :
  •  

สังคมที่ไร้รากไร้เหง้า ก็เปรียบเสมือนต้นไม้ที่ไม่มีรากแก้วหยั่งลึกลงดิน เมื่อต้นไม้ที่ไร้รากแก้วต้องแรงลมที่พัดแรงสักหน่อย ก็จึงโค่นล้มลงได้ง่าย แต่สังคมไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะสังคมของเรามีรากมีเหง้า มีความเป็นมา ดังนั้นสังคมไทยของเราจึงดำรงคงอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ นาฏศิลป์ไทยนับเป็นรากเหง้าอย่างหนึ่งของสังคมไทย เราคนไทยควรจะต้องช่วยกันรักษาทำนุบำรุงไว้ และอยากเห็นคนไทยทุกคนภาคภูมิใจกับรากเหง้าชนิดนี้

รายการแนวหน้าวาไรตี้ โดย ดร.เฉลิมชัยยอดมาลัย พาคุณไปสนทนากับ คุณครูเวณิกา บุนนาค ครูนาฏศิลป์ไทย ผู้ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2558 สาขาศิลปะการแสดง ด้านนาฏศิลป์ไทย คุณครูเวณิกาย้ำเตือนคนไทยว่าขออย่าได้ละเลยหลงลืมรากเหง้าของตัวเราเอง แม้โลกจะเปลี่ยนไปมากมายเพียงใด แต่เราก็จะต้องช่วยกันรักษารากเหง้าของสังคมไทยเอาไว้ให้ได้


สถานที่ที่รายการแนวหน้าวาไรตี้พาคุณไปสนทนากับคุณครูเวณิกาคือ พระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า ของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ แต่หลายคนอาจจะยังจำได้ว่าที่แห่งนี้แต่เดิมคือที่ตั้งของวิทยาลัยนาฏศิลป์ แต่ปัจจุบันวิทยาลัยนาฏศิลป์ย้ายไปอยู่ที่พุทธมณฑลแล้ว

ขอกราบเรียนถามคุณครูว่าสิ่งสำคัญที่สุดของคนที่ต้องการจะร่ำเรียนทางด้านนาฏศิลป์ไทยต้องมีสิ่งใดเป็นพื้นฐานครับ

คุณครู ปัจจัยข้อแรกที่สำคัญที่สุดคือ ผู้จะเรียนต้องมีใจรักในนาฏศิลป์ ประการต่อมาคือต้องอดทน ย้ำว่าอดทนมาก ต้องอดทนและใส่ใจในการจดจำท่ารำต่างๆ ต้องขยันฝึกซ้อมเป็นประจำ ทั้งเช้าสายบ่ายค่ำ คือซ้อมบ่อยๆ ซ้อมตลอดเวลา ซ้อมจนชำนาญจดจำได้ขึ้นใจ นี่คือหัวใจสำคัญของการเรียนนาฏศิลป์ แต่อันที่จริงก็เป็นหัวใจของการเรียนในทุกสาขาวิชาก็ว่าได้ เพียงแต่นาฏศิลป์ต้องฝึกให้มากที่สุด

ผมเคยเห็นเด็กตัวเล็กๆ เล็กมากๆ ที่ฝึกนาฏศิลป์ ขอเรียนถามคุณครูว่า เด็กเหล่านั้นเขาฝึกอะไรกันบ้างครับ

คุณครู อันดับแรกคือฝึกการทรงตัว การวางท่าทาง การเคลื่อนไหว แล้วก็ค่อยๆ เรียนรู้เพิ่มเติมไปเรื่อยๆ เช่น ท่าของตัวพระ ท่าของตัวนาง ท่าของตัวยักษ์ เป็นต้น และจะต้องมีการดัดมือดัดเท้าด้วย เพื่อให้แขนอ่อน มืออ่อน และขาก็ต้องถูกดัดเพื่อให้เล่นเป็นตัวต่างๆ ได้อย่างสมบทบาท เช่น ยักษ์ ลิง นางฟ้า เทวดา เหล่านี้เป็นต้น ต่อมาก็ฝึกในเรื่องการปะของพระ และของนางว่าต้องทำอย่างไร การปะเท้าของพระมีกี่แบบ ของนางมีกี่แบบ ของยักษ์ระดับสูงมีกี่แบบ สิ่งเหล่านี้ต้องฝึกบ่อยๆ และต้องจดจำให้ได้ขึ้นใจ ท่าของพระก็จะเป็นแบบหนึ่ง ท่าของนางก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ท่าของยักษ์ของเขนก็จะอีกแบบหนึ่งแต่ละตัวจะมีลักษณะเฉพาะของท่าทางที่สามารถบ่งบอกได้ว่าเป็นตัวละครตัวใด แม้กระทั่งท่าทางของตัวนางก็มีหลากหลาย เช่น นางชั้นสูง และนางจำพวกทาสี ท่านั่ง ท่าเดิน ท่าเจรจาก็จะต่างกันไป จะนำไปแสดงปะปนกันไม่ได้เป็นอันขาด เพราะเป็นลักษณะเฉพาะของตัวละครแต่ละตัว

ผมจำได้ว่าเมื่อไม่นานมานี้คุณครูได้แสดงหน้าพระที่นั่งถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่วังสระปทุม คุณครูแสดงเป็นตัวละครตัวไหนครับ

คุณครู รับบทเป็นพระลอค่ะ แสดงในบทพระลอตามไก่ค่ะ แต่ในอดีตนั้นดิฉันรับบทอื่นๆ ด้วย เช่น อิเหนา เป็นต้น

ขอเรียนถามว่า เมื่อคุณครูต้องรับบทพระลอในสมัยก่อน ตั้งแต่คุณครูอายุยังไม่มากเช่นทุกวันนี้ กับการที่กลับมารับบทพระลอในวันที่แสดงหน้าพระที่นั่งอีกครั้ง คุณครูรู้สึกว่าตัวเองมีความแตกต่างในการรับบทไหมครับ

คุณครู ดิฉันรับบทพระลอมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ยังสาวๆ แต่ทุกครั้งที่รับบทนี้ ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ตาม ก็จะต้องสวมวิญญาณของพระลอให้ได้ต้องทำให้ทุกคนที่ชมการแสดงของเราเห็นว่าเราคือพระลอจริงๆ ท่านอาจารย์ลมุล ยมะคุปต์ และท่านอาจารย์หม่อมแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ท่านกรุณาสั่งสอนดิฉันมาตั้งแต่ยังเด็กๆ ว่า เวลาจะรับบทเป็นตัวอะไรก็ตามเราก็ต้องทำใจให้คล้อยตามอย่างแท้จริงว่าเราคือตัวละครตัวนั้น คือเราต้องสวมวิญญาณของตัวละครให้แนบเนียนมากที่สุด เพราะให้ทุกอย่างสมจริง เมื่อเราแสดงบทนาง หรือบทยักษ์ หรือบทพระ หรือจะบทอะไรก็แล้วแต่ เราก็ต้องสวมบทบาทตัวเหล่านั้นให้สมจริง ทั้งอากัปกิริยา การแสดงออกทางสีหน้าท่าทาง

คุณครูครับ มีเสียงวิจารณ์จากคนรุ่นหลังๆว่านาฏศิลป์ไทยเป็นเรื่องที่ยากมาก บางคนบอกว่าเยิ่นเย้อ กว่าจะร้องจะพูดแต่ละบทแต่ละครั้ง หรือกว่าจะเคลื่อนไหวในแต่ละทีก็แสนจะเชื่องช้า มีท่าทางมากมายเต็มไปหมด คุณครูจะบอกอะไรกับคนรุ่นหลังที่อาจไม่เข้าใจนาฏศิลป์ไทย ซึ่งเป็นงานศิลป์ชั้นสูงบ้างครับ

คุณครู ดิฉันก็พอจะเข้าใจเด็กรุ่นหลังๆ อยู่บ้างนะคะ เขาอาจจะบอกว่านาฏศิลป์ไทยเชื่องช้า แต่ก็ต้องย้ำว่า นี่คือศิลปะของไทย เป็นรากเหง้าอย่างหนึ่งของความเป็นไทย เป็นศิลปะของชาติไทย เป็นสิ่งที่เราต้องศึกษาและต้องช่วยกันรักษาเอาไว้ ถ้าเราไม่ช่วยกันรักษา งานศิลป์ชั้นสูงของชาติก็อาจจะสูญหายไปได้ ดิฉันไม่บังคับกะเกณฑ์ว่าเด็กทุกคนต้องรำไทย ไม่หวงห้ามที่เขาจะชอบดูการแสดงของประเทศอื่นๆ แต่ขอฝากว่า อย่าลืมศิลปะการแสดง และนาฏศิลป์ของไทย ถ้าเราเป็นคนไทยแล้วเราไม่อนุรักษ์สิ่งนี้ไว้ ต่อไปก็จะสูญหายไป นี่คือรากคือเหง้าของไทย ของสังคมเรา

คุณครูครับ นาฏศิลป์ชนิดนี้ในเขตภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ มีเฉพาะในบ้านของเราเท่านั้นใช่ไหมครับ มีที่อื่นๆ บ้างไหมครับ มีที่ลาว เขมรเมียนมา ไหมครับ

คุณครู นาฏศิลป์ชั้นสูงแบบนี้มีเฉพาะในบ้านของเราเท่านั้น ที่อื่นๆ ไม่มี แม้อาจจะมีบางประเทศที่มีการร่ายรำ แต่ก็ไม่เหมือนกับของบ้านเรา มันมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ เช่น เมียนมา และเขมรก็มีการเล่นเรื่องรามเกียรติ์ แต่การแต่งกาย การเคลื่อนไหว ท่าทางของตัวพระ ตัวนาง และตัวยักษ์ ก็ต่างไปจากของบ้านเรา

ขอเรียนถามคุณครูว่า เวลาที่คุณครูสอนลูกศิษย์ลูกหา ครูปลูกฝังอะไรกับเขาบ้างครับ

คุณครู จะย้ำเตือนกับพวกเขาทุกคนเสมอๆ ว่า เรามีหน้าที่สำคัญในการช่วยกันทำนุบำรุงและสืบสานศิลปวัฒนธรรมและนาฏศิลป์ของเรา เราต้องช่วยกันอนุรักษ์ และต้องช่วยกันส่งเสริมสร้างสรรค์ การสร้างสรรค์คือการทำให้นาฏศิลป์ของเราไม่ล้าสมัยคืออาจจะมีการผสมผสานสิ่งใหม่เข้ากับยุคสมัยใหม่ แต่ต้องยึดมั่นในกรอบปฏิบัติของนาฏศิลป์อย่างเคร่งครัดด้วย เราต้องทำควบคู่กันไปทั้งอนุรักษ์และสร้างสรรค์

อยากชวนคุณครูคุยอีกเรื่องคือ เรื่องการแต่งองค์ทรงเครื่องของโขน ที่หลายคนรู้ดีว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เช่นเวลาผู้รับบทเป็นทศกัณฐ์ หรือหนุมาน แม้กระทั่งพระราม พระลักษมณ์  ต้องใช้เวลาแต่งตัวเป็นชั่วโมง เมื่อรัดเครื่องเรียบร้อยแล้วถ้าจะต้องการไปปลดทุกข์ไม่ว่าจะปลดหนัก ปลดเบาก็แสนจะยากเย็น อยากทราบว่าคนที่รับบทเหล่านั้นเขาต้องฝึกความอดทนอย่างไรบ้างครับ

คุณครู เขาต้องฝึกตั้งแต่เด็กๆ เลยคะ ฝึกให้เคยชิน แล้วเขาก็ต้องรู้ว่าเวลาแต่งองค์รัดเครื่องแล้วจะกินจะดื่มน้ำก็ต้องระมัดระวังจะตามใจปากไม่ได้ดังนั้นเขาจึงต้องมีระเบียบวินัย มีความอดทนอย่างมากค่ะ คนที่มีใจรักในงานนาฏศิลป์ไทยจึงต้องมีระเบียบแบบแผน มีครู มีการฝึกปฏิบัติอย่างเป็นประจำเมื่อตัดสินใจเข้ามาอยู่ในแวดวงนี้ก็ต้องศึกษา ต้องปรับตัว และต้องยอมรับว่านี้คือแบบฉบับของไทย

ผมมีคำถามอีกข้อคือ เดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่บางคนเขานำเอาโขนรามเกียรติ์ไปแสดงกันแบบไม่เข้าใจรากเหง้า เช่น ผมเคยเห็นว่ามีการให้หนุมานแบกนางสีดาขึ้นบ่าแล้วพาออกไปหน้าม่าน ในการแสดงเปิดตัวสินค้าชนิดหนึ่ง เรื่องแบบนี้คนที่รู้ขนบบอกว่าผิดอย่างมาก คุณครูมีความเห็นเรื่องนี้อย่างไรครับ

คุณครู ตายจริง ทำแบบนั้นผิดขนบจริงๆ ค่ะ ผิดมากด้วย อันที่จริงแล้ว สีดานั้นจะไม่มีใครแต่ต้องตัวของนางได้เลย ยกเว้นพระรามพระองค์เดียวเท่านั้น หนุมานเป็นทหารเอกของพระรามไม่มีสิทธิ์แตะตัวกายของนางสีดา เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นมาจากความไม่เข้าใจในสาระสำคัญของตัวแสดงแต่ละตัว เมื่อไม่เข้าใจแล้วนำไปแสดงออกในทางที่ไม่เหมาะไม่ควรก็ทำให้ไม่งาม เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะผิดขนบอย่างที่สุด

คือจริงๆ แล้วตัวละครของเรามีชั้นยศใช่ไหมครับ

คุณครู ใช่ค่ะ และละตัวมีชั้นมียศ มีตำแหน่ง ส่วนคนที่ไม่เข้าใจ ไม่เคยศึกษาก็อาจจะทำอะไรที่ผิดไปจากสิ่งที่ผู้มีความรู้จริงเขาประพฤติปฏิบัติกัน สำหรับคนไทยที่รู้และเข้าใจเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งจะไม่ทำเรื่องผิดขนบเป็นอันขาดค่ะ ส่วนฝรั่งต่างชาติอาจไม่เข้าใจขนบประเพณีของเรา เขาก็จึงทำไปตามความคิดเห็นของเขา ซึ่งถ้าเราเห็นก็ต้องช่วยกันบอกข้อเท็จจริงให้เขารับรู้

ในฐานะศิลปินแห่งชาติ ด้านนาฏศิลป์ไทย คุณครูมีโอกาสถวายการแสดงหน้าพระที่นั่งมาหลายครั้ง อยากเรียนถามคุณครูว่านอกจากบทพระลอ และอิเหนา คุณครูรับบทตัวละครใดอีกบ้างครับ  

คุณครู สมัยก่อนนั้นเคยรับบทพระลักษมณ์ ในครั้งนั้นคุณพิมพ์แข กุญชร ณ อยุธยา รับบทพระราม

ขอเรียนถามคุณครู ในฐานะที่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ ถวายงานแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพระองค์ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์งานด้านนาฏศิลป์ไทยมาโดยตลอด คุณครูมีความประทับใจในพระองค์ท่านอย่างไรบ้างครับ

คุณครู นับเป็นบุญของดิฉัน รู้สึกดีใจ ภาคภูมิใจปลื้มปีติมาก และรู้สึกโชคดีมาก มีอยู่ครั้งหนึ่งดิฉันไม่สบาย ลูกศิษย์ไปเยี่ยมดิฉัน หลายคนมอบเงินให้ด้วย ดิฉันไม่ได้นำเงินนั้นไปใช้ส่วนตัวเลย แต่เก็บรวบรวมไว้เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระองค์ท่านเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงละครแห่งชาติ ดิฉันกราบบังคมทูลว่าเป็นเงินจากลูกศิษย์ พระองค์ท่านทรงมีรับสั่งว่า ดีนะเราจะได้ทำบุญด้วยกัน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

สุดท้าย คุณครูจะฝากอะไรถึงผู้ชมรายการที่มีลูกมีหลาน บางคนบอกว่าอยากให้ลูกหลานเรียนนาฏศิลป์ แต่เด็กบางคนบอกว่าไม่เอา ไม่ชอบ ครูจะฝากอะไรถึงทั้งผู้ปกครองและเด็กครับ

คุณครู สำหรับเด็กนั้น ถ้าจะเรียนนาฏศิลป์ต้องหัดตั้งแต่เด็กๆ นะคะ เมื่อเขาหัดจนชำนาญแล้ว เขาจะเกิดความภูมิใจ ส่วนผู้ปกครอง ก็ต้องดูว่าลูกหลานสนใจไหม แต่ที่สำคัญคือต้องปลูกฝังให้เขารู้จักนาฏศิลป์ไทยด้วย พาเขาไปดูไปชมนาฏศิลป์บ้าง คุยกับเขาเรื่องความสำคัญของนาฏศิลป์ไทยบ้าง ถ้าเห็นว่าลูกหลานสนใจก็ขอให้สนับสนุนให้เขาได้ร่ำเรียนอย่างจริงจัง เมื่อเด็กเขามีโอกาสสัมผัสแล้ว เขาอาจจะชอบ แต่ถ้าเขาไม่ชอบก็อย่าบังคับ อย่าฝืนใจเขา ขอฝากทิ้งท้ายว่า บ้านเมืองและสังคมไทยของเรามีรากมีเหง้า มีความเป็นมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เราคนไทยทุกคนภาคภูมิใจ โดยเฉพาะในเรื่องนาฏศิลป์ไทย ดิฉันขอย้ำว่าอย่าลืมรากเหง้าของตนเอง

คุณสามารถพบรายการดีที่ครบครันด้วยสาระและความบันเทิง รายการแนวหน้าวาไรตี้ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา16.00-16.25 น. ทางโทรทัศน์ TNN2 ช่อง 784 ดิจิทัลทีวี หรือ True Visions 8 และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube ผู้หญิงแนวหน้า by คุณแหน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • มูลนิธิสิริวัฒนภักดี ไทยเบฟ - TCC GROUP สนับสนุนการจัดแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวาระ 70 พรรษากรมสมเด็จพระเทพฯ มูลนิธิสิริวัฒนภักดี ไทยเบฟ - TCC GROUP สนับสนุนการจัดแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวาระ 70 พรรษากรมสมเด็จพระเทพฯ
  • มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ มอบเครื่องผลิตออกซิเจน-อุปกรณ์การแพทย์ ส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ จ.ราชบุรี มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ มอบเครื่องผลิตออกซิเจน-อุปกรณ์การแพทย์ ส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ จ.ราชบุรี
  • SJM เปิด\'แกลเลอรีศิลปะ แกรนด์ ลิสบัว พาเลซ\'พร้อมนิทรรศการแรก \'The Lisboa, Stories of Macau\' SJM เปิด'แกลเลอรีศิลปะ แกรนด์ ลิสบัว พาเลซ'พร้อมนิทรรศการแรก 'The Lisboa, Stories of Macau'
  • เปิดโครงการ ‘ฮีโร่พันธุ์ใหม่...หัวใจเข้มแข็ง’ เปิดโครงการ ‘ฮีโร่พันธุ์ใหม่...หัวใจเข้มแข็ง’
  • ศิริราช ผนึกกำลัง MIT ดัน ‘Hackathon นวัตกรรมสุขภาพ’ สู่อาเซียน เฟ้นหาไอเดียเด่นพลิกโฉมวงการสุขภาพในอนาคต ปีที่ 2 ศิริราช ผนึกกำลัง MIT ดัน ‘Hackathon นวัตกรรมสุขภาพ’ สู่อาเซียน เฟ้นหาไอเดียเด่นพลิกโฉมวงการสุขภาพในอนาคต ปีที่ 2
  • ทรู คอร์ปอเรชั่น ผ่านมาตรฐาน มอก.9999 สะท้อนองค์กรดิจิทัลต้นแบบที่เติบโตอย่างยั่งยืน ทรู คอร์ปอเรชั่น ผ่านมาตรฐาน มอก.9999 สะท้อนองค์กรดิจิทัลต้นแบบที่เติบโตอย่างยั่งยืน
  •  

Breaking News

‘ภูมิธรรม’ยันรับมือน้ำท่วม‘แม่สาย’ได้ เตรียมเครื่องมือล้างดินโคลนหลังน้ำลด

'อโมริม'คุมผีต่อ! แจ้ง'การ์นาโช่'หาทีมใหม่ได้เลย

‘เพื่อไทย’พร้อมถกงบ69 เปิดสมัยวิสามัญ เริ่มที่‘พ.ร.ก.แก้คอลเซ็นเตอร์ ต่อด้วย‘ตั๋วร่วม 20 บาท’

วิเคราะห์ 7 ข้อตีแสกหน้า‘ภูมิธรรม’ เบี่ยงประเด็นโต้ครหา‘นายกฯ’ใช้เงินหลวงไปต่างประเทศ

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved