คนไทยหลายคนได้ยินชื่อชุมชนกุฎีจีนมาแสนนาน แต่ไม่เคยไปเยี่ยมเยือนแม้แต่ครั้งเดียว หลายคนบอกว่าได้ยินว่าชุมชนนี้มีความผสมกลมกลืนของศาสนาทั้ง 3 คือ พุทธ คริสต์ และอิสลามอย่างลงตัว บางคนบอกว่าย่านนี้มีบ้านเรือนเก่า ๆ อายุกว่าร้อยปีหลงเหลืออีกเป็นจำนวนมิใช่น้อย หลายคนบอกว่าชุมชนนี้มีขนมฝรั่ง (แบบไทย ๆ) อร่อย หอม หวาน ชวนให้ลิ้มลอง
ในเมื่อเราต่างก็ได้ยินเรื่องดี ๆ ของชุมชุนกุฎีจีนมามากมาย แล้วทำไมเราไม่ไปสัมผัสด้วยตัวเอง
กุฎีจีน (กะดีจีน) เป็นย่านเก่าแก่แห่งหนึ่งของธนบุรี เคยเป็นทำเลของพ่อค้าชาวจีนฮกเกี้ยนที่ตั้งทำมาหากินอยู่แถมริมคลองวัดกัลยาณมิตร บางกระแสบอกว่าชุมชนนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว แต่บางกระแสบอกว่านี่คือชุมชนที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี เป็นที่รวมตัวของผู้คนที่หนีสงครามหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เป็นที่ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระราชทานให้ผู้คนได้อยู่อาศัย อย่างไรก็ตามยังมีร่องรอยและสิ่งบ่งชัดว่าย่านนี้คือที่อยู่อาศัยชองคนหลากหลายเชื้อชาติ เช่น ไทย จีน แขก ฝรั่ง ญวน และมอญ
ต้องยอมรับว่ากุฎีจีนคือชุมชนนานาชาติจริง ๆ เพราะมีทั้งวัดของศาสนาพุทธ โบสถ์ของศาสนาคริสต์ ศาลเจ้าจีน และยังเป็นแหล่งชุมชนใหญ่ของผู้นับถือศาสนาอิสลามด้วย โดยทุกคนแม้จะนับถือศาสนาแตกต่างกัน แต่ไม่ได้มีความคิดแตกแยกแต่อย่างใด (คำว่ากุฏีจีน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า มาจากศาลเจ้าจีนขนาดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ศาลเจ้านั้นสร้างโดยชาวจีน มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช)
เราเริ่มต้นเที่ยวกันที่โบสถ์ซางตาครูส (santa cruz ภาษาโปรตุเกส แปลว่า ไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์) เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันแคทอลิก ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก คือแบบอิตาเลียนยุคเรเนสซองส์ โบสถ์ที่เห็นอยู่นี้คือโบสถ์หลังที่ 3 สร้างโดยบาทหลวงกูเลียล โมกิ้น ดาครูส ตามประวัติระบุว่าโบสถ์หลังแรกเป็นไม้ทั้งหลัง สร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อหลังแรกทรุดโทรมมากจึงสร้างใหม่มีรูปทรงคล้ายศาลเจ้าจีน ต่อมาถูกน้ำท่วม และไฟไหม้ จึงสร้างโบสถ์หลังใหม่เมื่อ พ.ศ. 2456 ขอชมว่าภายในโบสถ์สวยงามแบบเรียบง่าย แต่แฝงไว้ด้วยความน่าศรัทธาเลื่อมใส เหนือบานประตูกรุด้วยกระจกสีโค้งครึ่งวงกลมแบบ rose window โบสถ์นี้เปิดวันละ 2 ช่วงคือ 06.00-08.00 น. และ 17.00-20.00 น.
ออกจากโบสถ์ซางตาครูส เราไปวัดกัลยาณมิตร วัดนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2368 โดยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) ต้นสกุลกัลยาณมิตร ชื่อของวัดนี้ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) แล้วทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารหลวง และพระประธานเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ชื่อ พระพุทธไตรรัตนนายก คนไทยเรียกว่าหลวงพ่อโต คนจีนเรียกซำปอฮุดกง หรือซำปอกง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 5 วา 3 ศอกคืบ สูง 7 วา 2 ศอกคืบ 10 นิ้ว ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้เหมือนในครั้งกรุงศรีอยุธยา คือมีพระโตอยู่นอกกำแพงพระนคร ดังเช่น วัดพนัญเชิง ส่วนพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ (หรือปางป่าเลไลย์) รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทาน นับว่าเป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงเรื่องพุทธประวัติ และแสดงวิถีชีวิตชาวบ้านในสมัยรัชกาลที่ 3 วัดนี้มีหอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกสมัยรัชกาลที่ 4 และมีหอระฆังที่สร้างภายหลังเพื่อเก็บระฆังยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย จุดเด่นอีกอย่างของวัดกัลยาฯ คือการสร้างรูปปั้นเทพเจ้าจีนไว้มากมาย ดังนั้นวัดนี้จึงเป็นสถานที่ซึ่งชาวไทยเชื้อสายจีนนิยมไปกราบไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตลอดทั้งปี
ไม่ไกลจากวัดกัลยาฯ ก็จะเป็นที่ตั้งศาลเจ้าจีน ศาลเจ้าเกียนอันเกง (ว่ากันว่าเป็นศาลต้นตระกูลของตันติเวชกุลและสิมะเสถียรซึ่งเป็นจีนฮกเกี้ยน) ศาลเจ้าเก่าแก่ที่รักษาศิลปะแบบจีนไว้อย่างครบครัน อาทิ ภาพเขียนสี และลวดลายปูนปั้นที่วิจิตรงดงาม ศาลเจ้านี้เป็นที่ประดิษฐานของเจ้าแม่กวนอิม
นอกจากนี้ ชุมชนกุฎีจีนยังเป็นที่พักอาศัยชองพี่น้องมุสลิมอีกด้วย ตามประวัติกล่าวว่าในยุคกรุงธนบุรี ชาวมุสลิมคือกลุ่มชนที่มีจำนวนมากรองจากชาวจีน บางส่วนอพยพมาจากกรุงศรีอยุธยามาสมทบกับกลุ่มที่อยู่มาตั้งแต่ดั่งเดิมในสมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากกรุงธนบุรีคือเมืองท่าสำคัญจึงมีพ่อค้ามุสลิมจากมลายูเข้ามาทำมาค้าขายจำนวนมาก เขตศูนย์กลางของมุสลิมในธนบุรีอยู่ที่บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ โดยมีสุเหร่าต้นสน หรือกุฎีใหญ่เป็นศูนย์รวมจิตใจของพี่น้องมุสลิม
ว่ากันว่าย่านกุฎีจีนในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 2 - รัชกาลที่ 4 จากบริเวณวัดประยุรวงศาวาส ไปถึงวัดอรุณราชวราราม เคยเป็นที่พำนักของราชทูตจากประเทศตะวันตก และคณะมิชชันนารีโปรเตสแตนท์กลุ่มแรก ๆ คนเหล่านี้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ แล้วช่วยวางรากฐานให้วงการแพทย์ การศึกษา และการพิมพ์ของบ้านเรา เช่น หมอบรัดเลย์ที่ทุกคนคุ้นชื่อกันดี นอกจากนั้นคณะมิชชันนารี และคณะเพรสไบทีเรียน คือกลุ่มหมอแมททูน และภรรยา รวมทั้งหมอบุช และภรรยา กับหมอเฮ้าส์ ได้ก่อตั้งโรงเรียนแบบตะวันตกขึ้นในบริเวณบ้านพัก ต่อมาเมื่อนักเรียนมีจำนวนมากขึ้น จึงย้ายไปตั้งโรงเรียนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ตำบลสำเหร่ ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย
กุฎีจีนยังขึ้นชื่อในเรื่องขนมฝรั่งอร่อยอีกด้วย โดยเฉพาะขนมไข่ ขนมผิง ที่มีส่วนประกอบหลักคือไข่ แป้ง และน้ำตาล เล่ากันว่าต้นตำรับของขนมกุฎีจีนมาจากชาวโปรตุเกสที่เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา จากนั้นขนมแบบฝรั่งก็ถูกดัดแปลงและผสมผสานกับตำรับแบบไทยและจีนจนกลายเป็นขนมอร่อย หอม หวานของบ้านกุฎีจีน ขนมฝรั่งกุฎีจีนมีเอกลักษณ์คือการโรยหน้าด้วยฟักเชื่อม ลูกพลับแห้ง ลูกเกด ยิ่งได้กินหลังจากอบเสร็จใหม่ ๆ ด้วยแล้ว รับรองว่าจะติดใจไม่รู้ลืม
เห็นแล้วใช่ไหมว่า แม้โลกจะหมุนไปไวสักเพียงใดก็ตาม แต่ชาวกุฎีจีน ฝั่งธนฯ ก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์และความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้อย่างน่าชื่นชม
วิธีไปเที่ยวกุฎีจีนที่แสนสะดวกคือขี่จักรยานเที่ยว โดยคุณนั่งเรือข้ามฝากจากท่าเรือปากคลองตลาด หรือท่าเรือสะพานพุทธฯ ก่อนลงเรือก็อย่าลืมยืมจักรยานของกทม. ที่มีไว้บริการที่บริเวณใต้สะพานพุทธฯ (เจ้าหน้าที่จะถ่ายสำเนาบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ตไว้เป็นเครื่องค้ำประกัน) ขอย้ำยืมฟรี เวลาให้บริการยืมตั้งแต่ 10.00-19.00 น.
โบสถ์ซางตาครูส
วัดกัลยาณมิตร
ศาลเจ้าเกียงอันเกง
มัสยิดต้นสนคลองบางหลวง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี