เสมาเมืองฟ้าแดดสงยางที่วัดโพธิ์ชัยเสมาราม
อาทิตย์นี้เดินทางตามรอยกรมศิลปากรที่จัดโครงการเผยแพร่มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ไปตามแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีสำคัญของแต่ละภาค ซึ่งพบว่ามีการศึกษาและขุดค้นขุดแต่งของนักโบราณคดีอยู่มากมาย แต่ละแห่งล้วนมีคุณค่าต่อความเป็นภูมิบ้านภูมิเมืองแตกต่างกัน โดยเฉพาะจังหวัดกาฬสินธุ์นั้นมีเมืองฟ้าแดดสงยาง อยู่ที่อำเภอกมลาไสยเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญ สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 ประมาณ 1,400 ปี ล่วงมาแล้วมีพื้นที่ประมาณ 300-500 ไร่ผังเมืองเป็นวงรีมีคันดินล้อมรอบเป็นคูเมืองสองชั้นวัดโดยรอบยาวประมาณ๕ กิโลเมตร ขนาดผังเมืองยาว 2,000 เมตร กว้างประมาณ 1,350 เมตร ประตูเมืองนั้นสันนิษฐานว่าอยู่ตรงคูเมืองทั้ง 4 ทิศภายในเมืองนั้นมีร่องรอยโบราณสถานอยู่หลายแห่ง
จากร่องรอยของศาสนสถาน 14 แห่งนั้นพบว่าสร้างขึ้นตามคติพุทธศาสนาเป็นศิลปกรรมแบบทวาราวดี โดยเฉพาะที่พระธาตุยาคู นั้นพบใบเสมาหินทรายสีแดง มีทั้งแท่งหินกลมเหลี่ยมและแผ่นศิลา เป็นแบบแผ่นหินทรายเกลี้ยง แผ่นหินทรายสลักลวดลายและมีจารึกตัวอักษรโบราณ เสมาที่พบส่วนใหญ่ไม่มีลวดลายแผ่นเสมาที่มีลวดลายนั้นมักเป็นเสมารูปกลีบบัว จำหลักเป็นลายสถูปแบบทวารวดีภาพสำคัญคือภาพจำหลักเรื่องราวพุทธประวัติ และมหานิบาตชาดกฝีมืองดงามมากทำให้ทราบถึงคติความเชื่อความนิยมรวมถึงการแต่งกายและสถาปัตยกรรมเครื่องไม้ในสมัยนั้น
เสมาทวาราวดีรอบพระธาตยาคู
เมืองฟ้าแดดสงยางแห่งนี้นับเป็นแหล่งเสมาหินใหญ่และสำคัญที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งพบใบเสมามากกว่า 130 แผ่นที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วนอกจากนี้ยังพบพระพิมพ์ดินเผา ที่สร้างแบบสกุลช่างฝีมือคุปตะ รุ่นหลัง อายุราว 1,000-2,000 ปี ลูกปัด เครื่องประดับ เครื่องปั้นดินเผากล้องยาสูบดินเผาลวดลายอมราวดีก้านขดเป็นรูปตัวมังกร อายุ 7,000 ปีสิ่งที่น่าสนใจคือ กล้องยาสูบชนิดเดียวกันทำด้วยทองสัมฤทธิ์ อายุ 5,000-6,000 ปี เป็นหลักฐานที่ยืนยันว่ายุคโลหะของสุวรรณภูมินั้นได้เริ่มต้นจากบริเวณนี้ก่อนแหล่งโบราณคดีทุกแห่งในโลกนอกจากนี้ยังพบโครงกระดูกมนุษย์ปะปนอยู่ในหลุมขุดภายในบริเวณเมืองโบราณนี้ด้วย
เสมาฟ้าแดดสงยางที่วัดเหนือ
สำหรับใบเสมาหินหลายชิ้นของเมืองแดดสงยางนั้นได้มีการนำไปไว้ในที่ต่างๆก่อนบ้างแล้วทำให้กระจัดกระจายจนภายหลังได้รวมไว้จำนวนหนึ่งอยู่ที่วัดโพธิ์ชัยเสมาราม และนำใบเสมาสำคัญที่ลงทะเบียนไปเก็บรักษาและแสดงที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดขอนแก่นใบเสมานั้นเป็นเครื่องหมายบอกเขตทำสังฆกรรมในพุทธศาสนา แต่ที่เกิดขึ้นก่อนในสมัยโบราณนั้นคือหินตั้ง หินแขวน(กังสดาร)ซึ่งเป็นประเพณีการนับถือบรรพบุรุษตามความเชื่อของผู้คนในเอเชียอาคเนย์จนมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเสมาในพุทธศาสนากล่าวคือในยุคสมัยทวาราวดีนั้นกลุ่มคนที่อยู่ในภาคอีสานไม่นิยมสร้างสถูปเจดีย์ขึ้นบูชา ส่วนมากใช้ปักเสมาหินไว้รอบเนินดินหรือบนเนินดินที่กำหนดให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แทนเช่นที่ ภูพระบาท เสมาหินจึงทำหน้าที่เป็นหลักเขตของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นเครื่องหมายบริเวณที่ศักดิ์สิทธิ์ไปในตัวดังนั้นการปักเสมาในเมืองฟ้าแดดสงยางจึงไม่เป็นที่กำหนดเขตทำสังฆกรรมที่มีโบสถอยู่ตรงกลางเท่านั้นแต่พบว่ามีการปักเสมารอบโบสถ รอบวิหารและรอบธาตุเจดีย์ เรียกได้ว่าสถานที่ใดเกี่ยวเนื่องพุทธศาสนาแล้วได้ปักใบเสมาไว้โดยรอบเสียทั้งหมดด้วยเหตุนี้ ใบเสมาหินเมืองฟ้าแดดสงยางจึงมีจำนวนมากที่พัฒนาฝีมือจากศรัทธาจนทำให้ภาพจำหลักบนใบเสมาต่างมีความประณีตและงดงามที่สุดในแผ่นดิน
เสมาภาพพิมพาพิลาบ
เสมาศิลาสลักรูปเทวดา
เสมาศิลปทวาราวดี-1
ภาพการสยายผมลูปพระบาท
เสมาเมืองฟ้าแดดสงยาง
ใบเสมาขนาดใหญ่ตั้้งรอบพระธาตุยาคู
พลาดิศัยสิทธิธัญกิจ Paladisai@siamrecorder.com
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี