โขนคือนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย ซึ่งเป็นการรวมสรรพศาสตร์ และสรรพศิลป์เข้าด้วยกัน อาทิ ท่าร่ายรำที่งดงาม บทกวีที่ใช้ขับร้อง การบรรเลงดนตรี การขับร้องเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ เครื่องแต่งองค์ทรงเครื่องศิราภรณ์ และฉากที่ใช้ในการแสดง ซึ่งทั้งหมดถูกร้อยรัดเข้าด้วยกันอย่างเหมาะเจาะและกลมกลืน เพื่อให้การแสดงสมจริงสมจังมากที่สุด การแสดงโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่ได้นำเสนอผ่านสายตาผู้ชมมาแล้วกว่า 1 ทศวรรษ คือเครื่องยืนยันถึงความวิจิตรบรรจงและความอลังการของโขนได้เป็นอย่างดี เมื่อการแสดงโขนรามเกียรติ์ตอนต่าง ๆ จบลง ฉากที่ยิ่งใหญ่ตระการตาและเครื่องแต่งองค์ของตัวละคร รวมถึงเครื่องประกอบการแสดงอื่นๆ ได้ถูกนำไปเก็บรักษาเพื่อให้ผู้สนใจได้ไปศึกษาและชื่นชมได้ ณ อาคาร เรียน-รู้-เรื่องโขน ที่ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด
แนวหน้าวาไรตี้โดย ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย จะพาคุณไปชมอาคาร เรียน-รู้-เรื่องโขน และสนทนาถึงความสำคัญของอาคารแห่งนี้กับ อาจารย์สุดสาคร ชายเสมคณะกรรมการโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
l กราบเรียนถามอาจารย์ว่า อาคารเรียน-รู้-เรื่องโขนนี้จะทำให้ผู้เข้าชมได้รับรู้เรื่องราวอะไรเกี่ยวกับโขนบ้างครับ
เมื่อพูดถึงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ หลายคนคงเห็นตรงกันว่ามีความยิ่งใหญ่ และอลังการมาก อันที่จริงโขนคือนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยที่มีประวัติยาวนานหลายร้อยปี และด้วยความสำคัญของโขนจึงทำให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงสนพระทัย และทรงมีพระราชประสงค์จะให้การแสดงโขนอยู่ยืนยงคู่กับแผ่นดินไทย เมื่อมีการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ แล้ว พระองค์ท่านทรงมีพระราชกระแสให้เก็บรักษาฉากการแสดง รวมถึงสิ่งต่างๆ ที่ใช้แสดงโขนไว้ด้วยกันเพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสไปชม และศึกษาเรื่องราวต่างๆ ของโขน และจากพระราชประสงค์นี่เองจึงทำให้เกิดอาคาร เรียน-รู้-เรื่องโขนแห่งนี้ขึ้นมา ที่นี่จึงเป็นที่เก็บรักษาทุกสิ่งอย่างเกี่ยวกับโขน และเป็นที่ที่ซึ่งประชาชนทั้งไทยและต่างชาติสามารถมาศึกษา เรียนรู้ และค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับโขนได้เป็นอย่างดี ที่นี่ยังเป็นที่จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับโขนที่ถือได้ว่าสมบูรณ์แบบเกือบจะที่สุดของเมืองไทย ซึ่งในอนาคตอันใกล้อาคารแห่งนี้จะยิ่งมีความสมบูรณ์ในเรื่องโขนมากขึ้นและมากขึ้นเป็นลำดับ
l หากจะพูดแบบสั้นๆ แต่ให้ความเข้าใจได้อย่างชัดเจนคือ อาคาร เรียน-รู้-เรื่องโขน แห่งนี้สามารถบอกเล่าถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโขนได้อย่างครบครันใช่ไหมครับ เพราะเท่าที่ผมได้พบเห็นก็คือภายในอาคารแห่งนี้มีการบอกเล่าว่าโขนคืออะไร นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นองค์ประกอบของการแสดงโขน เช่น เรื่องราวของพัสตราภรณ์ ศิราภรณ์ อาวุธในการแสดงโขน ฉากต่างๆ แล้วยังบอกเล่าถึงการผลิตหัวโขน การทอผ้าที่ใช้ทำพัสตราภรณ์ และเครื่องถนิมพิมพาภรณ์สำหรับใช้แต่งองค์ทรงเครื่องของตัวแสดงด้วย ผมขอเริ่มจากพัสตราภรณ์ก่อนครับ เพราะงามจนเกินบรรยาย ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยบอกเล่าให้ทราบด้วยครับ
ก่อนอื่นต้องบอกว่า แล้วเครื่องทรงหรือพัสตราภรณ์ ของโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ นั้นเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก ทุกอย่างดูสมจริงราวกับเครื่องทรงของเจ้านายชั้นสูงนี่คือความพิเศษของโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จริงๆ และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงส่งเสริมเรื่องนี้ เพราะทรงมีพระราชประสงค์ให้อนุรักษ์และฟื้นฟูงานศิลป์ที่ทรงคุณค่าของแผ่นดินเอาไว้ ตัวอย่างพัสตราภรณ์ที่อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ท่านได้ออกแบบ และจัดสร้างขึ้นมา เช่น ผ้ากรองทองที่ทำเป็นสไบ ก็ใช้เส้นทองถักร้อยขึ้นมาแล้วสอดไหมสอดดิ้นเงินจนออกมาสุดแสนจะวิจิตร งานชิ้นนี้คือของจริงที่รักษาขนบของสกุลช่างดั้งเดิมแบบโบราณไว้ทุกกระเบียดนิ้ว เรียกว่าเป็นการเก็บรักษางานของช่างหลวงในราชสำนักไว้อย่างครบถ้วน ส่วนเรื่องของศิราภรณ์ก็เป็นงานที่ต้องพิถีพิถันอย่างมากเช่นกัน แม้กระทั่งหัวโขนที่เราใช้สำหรับการแสดงโขนของมูลนิธิฯ ก็ทำขึ้นอย่างประณีต โดยเรามีแผนกผลิตหัวโขนของเราเองที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของการทำหัวโขนไว้ทุกขั้นตอนทุกอย่างที่เราทำขึ้นมานั้นล้วนแล้วแต่เป็นการทำเพื่อถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทั้งสิ้น ดังนั้นนอกจากจะเน้นความงดงามวิจิตรแล้ว ยังคำนึงถึงแบบแผนตามฝีมือช่างโบราณอย่างครบถ้วนทุกขั้นตอน
l อาจารย์ครับ หากผมจะกล่าวว่า เครื่องแต่งองค์ทรงเครื่องของตัวละครสำคัญในรามเกียรติ์ก็คือการจำลองเครื่องทรงของเจ้านายชั้นสูงหรือพระมหากษัตริย์จะถือว่าผิดไหมครับ
ก็ไม่ผิด เพราะตัวละครหลักที่สำคัญมากๆ อย่างเช่นพระราม นางสีดา ก็เปรียบเสมือนพระมหากษัตริย์และพระมเหสี เพราะฉะนั้นเครื่องทรงของตัวละครสำคัญทั้งสองก็เปรียบเสมือนเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์กับพระมเหสีนั่นเอง เพียงแต่ในการแสดงละครจะต้องทำให้ดูละม้ายกับเครื่องทรงของเจ้านายชั้นสูงให้มากที่สุด เพื่อให้สมฐานะของตัวแสดงที่เป็นเสมือนพระมหากษัตริย์ ดังนั้นการได้ดูโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จึงเท่ากับเราได้เรียนรู้ว่าของดีของวิเศษในราชสำนักเป็นเช่นไร แล้วจะเห็นว่าความวิจิตรบรรจงนี้คือความเป็นเอกลักษณ์ของไทยที่ชัดเจนที่สุด
l นอกจากพัสตราภรณ์ที่แสดงวิจิตรแล้ว ยังมีเรื่องของศิราภรณ์ และเรื่องหัวโขน เรื่องของอาวุธ และเครื่องสูงสำหรับประกอบฉากอีกด้วย ซึ่งทุกอย่างวิจิตรพิสดารมากจริงๆ แต่ผมขอไปที่เรื่องหัวโขนก่อนครับอาจารย์ เพราะเมื่อทราบขั้นตอนการทำแล้วก็ต้องกราบคารวะผู้ที่คิดค้นเรื่องนี้ เพราะเปี่ยมไปด้วยภูมิปัญญาจริงๆ เช่นการทำหัวโขนให้สามารถใช้ได้คงทนนั้นหัวโขนก็ต้องทำมาจากกระดาษข่อยที่นำมาปิดทับกันเป็นชั้นๆ หลายสิบชั้น อาจารย์กรุณาเล่าเรื่องนี้ให้ทราบด้วยครับ
ถูกต้องครับ เพราะว่าจริงๆ แล้วพระองค์ท่านทรงมีรับสั่งว่า การที่เราสามารถจะฟื้นการแสดงโขนแบบโบราณที่แท้จริงขึ้นมาได้ เราก็จะต้องฟื้นสรรพวิชาช่างทั้งหมดให้เข้ามาทำงานร่วมกันให้สมบูรณ์ เราต้องไม่ปล่อยให้ความรู้ด้านช่างทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับโขนสูญสลายมลายไป อย่างเช่นหัวโขนที่ทำมาจากกระดาษข่อย เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะระยะหลังๆ นี้ผู้คนไม่ค่อยผลิตกระดาษข่อยแล้ว เกือบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านจึงทำให้มีการค้นหาว่าใครที่ยังสามารถผลิตกระดาษข่อยได้ เมื่อค้นจนพบก็ได้ไปสืบหาแหล่งผลิตที่บางซื่อ จนได้พบบ้านขุนสมุทร ในซอยไสวสุวรรณ แล้วได้พบกับทายาทของขุนสมุทร จนนำมาสู่การสืบสานการผลิตกระดาษข่อย ณ ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด ต้องขอบคุณทายาทของขุนสมุทร คือคุณน้าสมชาติ แตงเพียร ที่ช่วยรักษาศิลปะแขนงนี้ไว้ หัวโขนที่ทำจากกระดาษข่อยจะมีคุณภาพดี ไม่บุบง่ายเหมือนกับหัวโขนที่ทำจากกระดาษชนิดอื่นๆ หัวโขนที่ทำจากกระดาษข่อยจึงมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และคงสภาพได้ดีมาก แม้จะผ่านการใช้งานหลายสิบครั้งก็ตาม กล่าวได้เลยว่ากระดาษข่อยมีความคงทนมากเป็นพิเศษ และนับเป็นภูมิปัญญาไทยที่น่ายกย่องมาก
l ผมสังเกตเห็นว่ามีน้องๆ ในศูนย์ศิลปาชีพฯ สามารถผลิตกระดาษข่อยได้ น้องเหล่านี้มาจากไหนครับ
อ้อ! นี่คือเด็กรุ่นใหม่จริงๆ อายุเพียง 14 ปีเท่านั้น เขามาไกลมาก มาจากอำเภออมก๋อย เชียงใหม่ เขาได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้ามาเรียนรู้เรื่องนี้ จนเดี๋ยวนี้เขาสามารถผลิตกระดาษข่อยได้อย่างค่อนข้างชำนิชำนาญ นอกจากนั้นยังมีเด็กรุ่นใหม่อายุประมาณ 20 ปีต้นๆ คนนี้ก็เก่งมาก สามารถวาดหน้าโขนได้อย่างแสนวิจิตร ฝีมือดีมาก แล้วก็มีสมาธิในการวาดหน้าโขนอย่างหาตัวจับได้ยากมาก เด็กรุ่นใหม่เหล่านี้คือผู้สืบสานงานศิลป์ของไทยเอาไว้ เขาคือผู้อนุรักษ์ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ทำหน้าที่สำคัญนี้ หากไม่มีการอนุรักษ์งานศิลป์เหล่านี้ไว้ให้ดีแล้ว ในที่สุดของสวยของงามของไทยก็จะสูญหายไปหมดสิ้น ทั้งหมดทั้งมวลนี้ต้องบอกว่านับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่พระราชทานให้กับสังคมไทย เพื่อจะให้เราทุกคนไม่ลืมรากเหง้าของเรา แล้วที่สำคัญคือเรายังสามารถสืบทอดต่อไปได้อีก
l เรื่องความวิจิตรของหัวโขน รวมทั้งความวิจิตรอลังการของเครื่องยอดของตัวพระ และตัวยักษ์ชั้นสูงอย่างทศกัณฐ์ และยักษ์ชั้นสูงอีกหลายตน ทั้งหมดนั้นช่างแสนวิจิตรจริงๆ ช่างที่ทำสิ่งเหล่านี้ต้องได้รับการฝึกฝนนานแค่ไหนครับ
ต้องฝึกกันนานพอควรเลยครับ ฝึกกันอย่างจริงๆ จังๆ โดยครูช่างที่มีความรู้ในเรื่องนี้โดยเฉพาะ เช่นอาจารย์ภาณุวัฒน์ รอดสวัสดิ์ ที่สร้างหัวโขนสหัสกุมาร ที่ใช้แสดงในตอนสืบมรรคา และยังต้องได้รับการดูแลจากอาจารย์สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร จากสำนักช่างสิบหมู่ ต้องบอกเลยว่างานการผลิตหัวโขนของเรานั้นต้องผ่านการดูแลอย่างพิถีพิถันมาก ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญจากครูช่างทั้งหลายมาช่วยกันทำงาน เราเชิญครูช่างฝีมือดีมาร่วมกันทำงานเพื่อถวายพระองค์ท่าน และเพื่อสืบสานรักษาศิลปะของไทยไว้ให้ยั่งยืน และช่วยอบรมสั่งสอนให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และสืบสานต่อไป งานที่ทำออกมาจึงได้รับการยอมรับว่าสุดยอดของฝีมือ
l ขอเรียนถามอาจารย์เรื่องฉากท้องพระโรงบ้างโดยเฉพาะท้องพระโรงกรุงลงกา ที่แสนวิจิตรนั้น หลายคนบอกว่านี่คือฉากจำลองจากท้องพระโรงในพระที่นั่งสมัยกรุงศรีอยุธยาผสมกับกรุงรัตนโกสินทร์ ใช่ไหมครับ
คือจริงๆ แล้ว เราศึกษาค้นคว้าจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของเรา โดยศึกษาจากตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แล้วก็ไล่เรื่อยมาจนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อเราได้ข้อมูลมาอย่างครบถ้วนแล้ว เราก็เริ่มลงมือทำฉากท้องพระโรงกรุงลงกา หากจะพูดแบบคนทำงานศิลป์ ก็ต้องบอกว่าเราก็ฝันว่าจะได้ทำสิ่งที่สุดยอดออกมา เราฝันอยากจะให้สิ่งที่เราทำออกมานั้นเหมือนจริงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วก็ฝันต่อไปว่าเมื่อฉากนั้นมีตัวละครเข้าไปเล่นอยู่ ก็จะต้องออกมาแล้วเหมือนกับว่าอยู่ในท้องพระโรงจริงๆ นี่คือฝันของคนทำงานศิลป์ การทำฉากยิ่งใหญ่แบบนี้ต้องศึกษาหลักของสถาปัตยกรรมจริงๆ ก่อน ต้องดูทั้งในแง่ของระยะ และมุมต่างๆ โดยละเอียด เพื่อให้งานที่ออกมาสมจริงมากที่สุด เมื่อต้องทำพระราชบัลลังก์หรือที่ประทับของทศกัณฐ์ก็ต้องทำให้ออกมาดูยิ่งใหญ่สมฐานะยักษ์ชั้นเจ้าผู้สูงศักดิ์ ส่วนองค์ประกอบฉาก เช่น คชสีห์ ราชสีห์ ก็คือการศึกษาจากการปกครองของไทย เพราะเรามีกลาโหมและมหาดไทย ซึ่งทั้งสองสิ่งก็คือตัวแทนของกันและกัน เพราะฉะนั้นฉากที่เราสร้างขึ้นมาจึงมีความหมายที่สอดคล้องกับความจริงของสังคม ส่วนฉัตรทั้งสองข้างที่อยู่ขนาบกันบุษบกมาลาก็ทำขึ้นมาเพื่อให้สมกับฐานะของตัวละคร แต่การทำฉากแบบนี้จะทำให้เหมือนจริงกับท้องพระโรงของพระมหากษัตริย์ของไทยไม่ได้ เพราะการแสดงก็คือการแสดง แต่ก็พยายามทำให้สอดคล้องสมจริงกับฐานะของตัวละครให้มากที่สุดเท่านั้น
l อย่างเครื่องสูงที่ประกอบฉากท้องพระโรงกรุงลงกาก็ทำแบบย่อส่วนลงมาจากของจริงในท้องพระโรงใช่ไหมครับ คือถ้าเป็นของจริงที่ใช้ในพระราชพิธีจะมีขนาดใหญ่กว่านี้ แต่ในฉากจะมีขนาดเล็กลงมา นั่นเป็นเพราะเราถือกันว่าเราจะไม่ทำสิ่งใดเทียมเจ้าเทียมนายใช่ไหมครับ
ใช่ครับใช่ นั่นคือการถวายพระเกียรติครับ ละครก็คือละคร ส่วนเรื่องจริงก็คือเรื่องจริง แต่โขนคือการแสดงที่นำเสนอให้เห็นว่าทศกัณฐ์เป็นกษัตริย์ก็จริง แต่เป็นกษัตริย์ในเทพนิยาย ดังนั้นเมื่อทำฉากท้องพระโรงของกรุงลงกาจึงต้องให้ดูแล้วเชื่อว่านี้คือท้องพระโรงของกษัตริย์ในเทพนิยาย ดังนั้นจึงต้องสมจริง แต่ดูแลงดงามเหมือนทิพย์พิมาน งามแบบเทพ งามแบบทิพย์ เป็นทิพยสภาวะ
l เมื่อพูดถึงท้องพระโรงกรุงลงกาแล้ว ก็ต้องกล่าวถึงพลับพลาสำหรับทำพิธีลับหอกโมกขศักดิ์บ้าง เมื่อดูพลับพลาแล้วต้องบอกว่านี่คือศิลปะไทยที่สมบูรณ์แบบมาก มีมุข มีช่อฟ้า ใบระกา โดยทำเป็นพลับพลาโถงอาจารย์กรุณาเล่าถึงความโดดเด่นของพลับพลานี้ด้วยครับ
พลับพลานี้โรงพิธีลับหอกโมกขศักดิ์ของกุมภกรรณยักษ์ชั้นสูงอีกรายหนึ่ง พลับพลาจะมีรายละเอียดมากมาย และมีการตั้งเครื่องสังเวยด้วย จะเห็นว่ามีบุษบก แล้วในบุษบกก็จะมีเครื่องสังเวย มีการตั้งบุษบกสี่ทิศ แต่ละทิศจะมีเทวดาประจำด้วย ถ้าเราเข้าไปดูพิจารณาใกล้ๆ จะเห็นเครื่องสังเวยมีของต่างๆ เช่น กุ้งพล่า ปลายำ และอีกสารพัด ซึ่งทำเป็นเครื่องสังเวยจริงๆ ที่ต้องใช้ในพิธีกรรม จะเห็นว่าเราต้องศึกษารายละเอียดก่อนสร้างงานออกมา เราต้องค้นคว้าจริงๆ จังๆ ไม่ใช่อยู่ๆ นึกอยากจะสร้างอะไรก็ทำขึ้นมาลอยๆ เราทำแบบนั้นไม่ได้ เราต้องเคร่งครัดในขนบประเพณีจริงๆ เพราะเราทำเพื่อถวายพระเกียรติพระองค์ท่าน จะทำให้เสียพระเกียรติมิได้เป็นอันขาด พลับพลานี้เป็นศิลปกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา เหตุที่เลือกยุคนี้เพราะดูแล้วอลังการมาก สันหลังคามีบราลี แล้วมีหน้าบันมีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์
l ยังมีอีกหนึ่งพลับพลา ที่ดูแล้วเหมือนเรือนไทยที่สร้างด้วยไม้ นี่คือพลับพลาสนามของพระราม เห็นแล้วนึกถึงเรือนไทยของภาคกลาง นี่คือการแสดงให้เห็นศิลปะเรือนไทยภาคกลางใช่ไหมครับ
พลับพลาของพระรามเป็นศิลปะแบบอยุธยา และเป็นแบบราชสำนักด้วย เป็นฝีมือของช่างหลวง ช่องตรงใต้ถุนมีไม้กากบาท ส่วนด้านบนมีมุขหน้า มีกระจังปฏิญาณ
ประดับ พลับพลานี้เป็นที่ประทับของพระราม และพระลักษมณ์เวลาอยู่ในฉากการแสดงจะทำให้เห็นว่าราวกับมีกฤดาภินิหาร ซึ่งทำให้สื่อไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยเพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยมีความยิ่งใหญ่สง่างามดูแล้วเคร่งขรึม แต่ทรงไว้ด้วยพระราชอำนาจ แม้จะดูเป็นเรือนไทยทำด้วยไม้ แต่ดูแลมีความยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ ทั้งหมดนี้คือการเสริมพระราชฐานันดรของพระมหากษัตริย์ เป็นการเสริมพระราชอิสริยยศของเจ้านายชั้นสูง
l อาคาร เรียน-รู้-เรื่องโขน ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิดอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 40 กว่ากิโลเมตร เท่านั้นไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เลย อยากให้อาจารย์ช่วยกรุณาเชิญชวนให้คนไทยและชาวต่างชาติไปชมสถานที่แห่งนี้
ขออนุญาตเรียนให้ทราบว่า อาคารเรียน-รู้-เรื่องโขนแห่งนี้ เป็นสถานที่แห่งแรกในเอเชียอาคเนย์ที่ตั้งใจให้ความรู้เรื่องโขนของไทยอย่างแท้จริง เราทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจ เพื่อให้คนไทยและคนทุกคนเข้าใจโขนให้ดีมากยิ่งขึ้น อาคารแห่งนี้เกิดขึ้นมาได้ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้คนไทยรู้และเข้าใจเรื่องโขน แล้วที่สำคัญคือเมื่อมีการแสดงโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพมานานกว่าทศวรรษ เมื่อได้หารือร่วมกันกับคณะกรรมการ โดยเฉพาะท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ท่านได้ย้ำว่าฉากการแสดงโขนที่เราได้สร้างขึ้นมานั้น เราจะไม่ปล่อยทิ้งให้เสียหายไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะสิ้นเปลืองเงิน และการทิ้งไปก็คือการทิ้งสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาล ดังนั้นเราต้องเก็บรักษาไว้ เพื่อให้ประชาชนที่สนใจได้มีโอกาสไปศึกษาได้ในภายภาคหน้า ดังนั้นจึงมีอาคาร เรียน-รู้-เรื่องโขนขึ้นมา และอาคารแห่งนี้จะเพิ่มคุณค่าความรู้เรื่องโขนให้มากยิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคต วันนี้อาคารแห่งนี้ยังเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น ดังนั้นคนไทยจึงต้องสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่พระราชทานแหล่งเรียนรู้เรื่องโขนให้กับเราทุกคน อย่าลืมว่าโขนคือศิลปกรรมและนาฏศิลป์ ที่ล้ำค่าของมวลมนุษยชาติ และยังเป็นเครื่องเชิดหน้าชูตาคนไทยและประเทศไทย วันนี้โขนได้กลายเป็นมรดกโลกไปแล้ว ชนชาติต่างๆ ก็ให้การยอมรับว่าไทยคือชาติที่เป็นผู้นำในเรื่องนี้ และนี่คือพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่พระราชทานให้คนไทยทุกคน เพื่อให้คนไทยไม่ละเลยหลงลืมศิลปะชั้นสูงของชาติไทย
คุณสามารถพบรายการดีที่ครบครันด้วยสาระและความบันเทิง รายการ แนวหน้าวาไรตี้ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา16.00-16.25 น. ทางโทรทัศน์TNN2 ช่อง 784 ดิจิทัลทีวี หรือ True Visions 8และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube ผู้หญิงแนวหน้าby คุณแหน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี