เราทำโรงเรียนสอนนาฏศิลป์ไทย สอนดนตรีไทยเพราะต้องการสืบสานให้ศิลปะของไทยดำรงคงอยู่ เราต้องการเห็นเด็กไทย และคนไทยช่วยกันธำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมของไทยไว้ให้ยั่งยืนแรงใจสำคัญที่เราทำงานนี้ เพราะเราตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้คนไทยช่วยกันสืบสานวัฒนธรรมไทย
สัปดาห์นี้แนวหน้าวาไรตี้ โดย ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย พาคุณไปสนทนากับทายาทของ ครูเตือน พาทยกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย)พ.ศ. 2535 คือ อาจารย์บำรุง พาทยกุล และภรรยา คุณวราพร พาทยกุล ผู้บริหารโรงเรียนพาทยกุลการดนตรีและนาฏศิลป์
l กระแสความนิยมในนาฏศิลป์ไทย และดนตรีไทยในหมู่คนไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในยุคปัจจุบัน เป็นอย่างไรบ้างครับ มากขึ้นหรือน้อยลงเมื่อเทียบกับระยะ 20 ปีที่ผ่านมา
อาจารย์บำรุง : ความนิยมในเรื่องนี้ในยุคปัจจุบันก็ขึ้นๆ ลงๆ เป็นไปตามแรงฉุดของสังคม เช่นในบางช่วงผู้คนก็นิยมดนตรีไทยและนาฏศิลป์ไทยน้อยลงเพราะหันไปให้ความสนใจกับการแสดงและดนตรีของต่างชาติมากกว่า เช่น ในยุคหนึ่งเด็กไทยสนใจเพลงเกาหลีมาก บางยุคก็สนใจเพลงญี่ปุ่นมาก แต่เมื่อมีละครทีวีที่นำเสนอเรื่องของไทย เช่น เรื่องบุพเพสันนิวาส หรือเรื่องเรือนมยุรา หรือภาพยนตร์เรื่องโหมโรง ก็ช่วยดึงให้คนไทยหันกลับมาสนใจนาฏศิลป์ไทย เพลงไทยเดิม และการแต่งกายแบบไทยมากขึ้น แต่ที่สำคัญคือในช่วงที่มีการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก็ช่วยให้คนไทยจำนวนไม่น้อยหันกลับไปให้ความสนใจกับเรื่องนาฏศิลป์ไทย ดนตรีไทยมากขึ้นอย่างน่าชื่นใจ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขอบคุณสื่อมวลชนบางแขนงด้วยที่พยายามนำเสนอเรื่องราวของนาฏศิลป์ไทยให้ผู้คนได้รับรู้เป็นระยะๆ
l คนไทยหลายคนบอกว่าสนใจนาฏศิลป์ไทย แต่ไม่มีเวลาเรียน บางกลุ่มบอกว่าไม่ทราบว่าจะไปเรียนที่ไหน บางคนบอกว่าในช่วงเด็กๆ อยากเรียนรำไทยมาก แต่ที่บ้านไม่สนับสนุน แต่ในขณะนี้สามารถไปเรียนรู้สิ่งที่สนใจได้แล้ว อาจารย์บำรุงจะฝากบอกอะไรกับคนกลุ่มนี้ครับ
อาจารย์บำรุง : มาที่เราได้เลยครับ เรายินดีสอนให้ เรายินดีสนับสนุนในเรื่องนี้เป็นอย่างมากครับที่บอกว่าให้ไปที่เรานั้น มิใช่เพราะว่าเราต้องการเงินทอง แต่แค่เพียงได้ยินว่าคุณสนใจนาฏศิลป์และดนตรีไทยเราก็แสนจะชื่นใจอย่างมากแล้วครับ ผมมาจากครอบครัวดนตรีไทย เห็นเครื่องดนตรีไทยและได้ยินเสียงดนตรีไทยมาตั้งแต่เด็ก แล้วยังรับราชการที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ ซึ่งปัจจุบันคือสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์มาตั้งแต่หนุ่มจนเกษียณอายุราชการ บอกตรงๆ ว่าเมื่อได้ยินว่าคนไทยสนใจศิลปะไทย นาฏศิลป์ไทย ดนตรีไทย ฟังแล้วชื่นใจเป็นที่สุด สำหรับโรงเรียนของเรานั้นเป็นโรงเรียนที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้องจากกระทรวงศึกษาธิการ เรายินดีให้ความรู้ด้านนาฏศิลป์ไทย ดนตรีไทยกับทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ขอแค่เพียงบอกว่าสนใจและตั้งใจมาหาความรู้ด้านนี้ เรายินดีต้อนรับทุกคนครับ ลองมาคุยกับเราว่าคุณสนใจเล่นดนตรีไทยชนิดไหน หรือสนใจนาฏศิลป์ชนิดใด อันที่จริงก่อนที่จะมาเปิดโรงเรียนนี้ ที่บ้านของคุณพ่อของผม (ครูเตือน) ซึ่งอยู่ที่ย่านคลองสานท่านก็สอนเด็กๆ ในย่านนั้นมาโดยตลอด ในสมัยก่อนไม่ได้คิดเงินคิดทองใดๆ ผู้ปกครองนำลูกนำหลานไปไว้ที่บ้านของคุณพ่อ คุณพ่อก็สอนให้ด้วยใจเมตตา แต่ต่อมามีผู้สนใจมากขึ้น เราก็จึงเปิดโรงเรียนแห่งแรกอยู่แถวๆ ย่านบางลำพู-บางขุนพรหม แล้วสุดท้ายก็มาเปิดโรงเรียนอยู่ในที่ปัจจุบัน คือตรงข้ามกับสถานีตำรวจดุสิต โรงเรียนของเราเปิดให้บริการทุกวัน สามารถเลือกเวลาเรียนได้ เพราะบางคนว่างเฉพาะช่วงเย็น บางคนว่างเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ เราจึงต้องดูความเหมาะสมของคนเรียนเป็นสำคัญ แต่ที่เน้นมากๆ คือ ต้องเรียนอย่างต่อเนื่อง เพราะหากเรียนแบบครึ่งๆ กลางๆ ก็ไม่เกิดประโยชน์ ผมรับรองด้วยเกียรติของความเป็นลูกศิลปินแห่งชาติ และในฐานะครูสอนดนตรีไทย ว่าเราต้องการช่วยเผยแพร่ศิลปะแขนงนี้เป็นสำคัญ เราไม่ได้คิดเรื่องเงินเป็นที่ตั้ง เพราะศิลปะของไทยมีค่ามากกว่าเงินทองทั้งปวง ผู้ที่เรียนกับเราทุกคน เมื่อจบการศึกษาแล้วจะได้รับประกาศนียบัตรรับรอง นอกจากสอนให้รู้เรื่องด้านนาฏศิลป์และดนตรีไทยแล้ว เรายังมีเวทีให้ผู้เรียนได้แสดงอย่างจริงๆ จังๆ ด้วย เพราะคนที่เรียนแล้วเมื่อได้แสดงก็จะเกิดความภาคภูมิใจ และเป็นการเพิ่มประสบการณ์ให้ชีวิต การเรียนในด้านนี้ต้องเกิดมาจากใจรักเป็นอันดับแรก แต่การที่จะรู้ว่าใจรักหรือไม่นั้นก็ต้องเข้าไปสัมผัสก่อน บางคนอาจนึกว่าใจรัก แต่เมื่อเข้าไปสัมผัสจริงแล้วอาจจะบอกว่าไม่ใช่ก็ได้ หรือตรงกันข้ามบางคนอาจจะบอกว่าไม่รัก แต่เมื่อเข้าไปสัมผัสแล้วกลับตั้งใจจริงและฝึกฝนอย่างหนักจนประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมก็มีมากมาย ขอย้ำว่าเราสอนให้เด็กค่อยๆ ซึมซับการสุนทรียะของนาฏศิลป์และดนตรีไทย เราไม่บังคับ เพราะหากเขาฝืนเรียน เขาจะไม่มีความสุข
l มีผู้เกษียณอายุจากการทำงานแล้ว หากสนใจจะมาศึกษาเพิ่มเติม หรือบางคนอาจจะมาเริ่มต้นเลยตัวอย่างเช่น ผมได้คุยกับคนกลุ่มหนึ่งเขาบอกว่าไปดูโขนรามเกียรติ์ตอนสืบมรรคา มาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 แล้วเห็นความงามในการร่ายรำของทศกัณฐ์หน้าทองและประทับใจกับเสียงดนตรีที่ไพเราะเหลือเกินแบบนี้เขาสามารถเข้ามาเรียนได้ไหมครับ อายุเป็นอุปสรรคไหมครับ
อาจารย์บำรุง : หากมีใจรักเป็นทุนเดิมอยู่แล้วทุกอย่างจะง่ายขึ้น แต่ก็อาจจะไม่ง่ายเหมือนการเริ่มเรียนเริ่มฝึกตั้งแต่ช่วงเป็นเด็ก เพราะเด็กนั้นจะสามารถซึบซับได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ แขนขายังอ่อน ดัดให้อ่อนช้อยได้ง่ายกว่า แต่ก็ยังยืนยันครับว่า หากมีใจรักแล้วอย่างไรก็ไม่ย่อท้อกับอุปสรรค บางคนมาฝึกหัดรำในช่วงอายุ 30 กว่าๆ ก็สามารถรำได้ดีมาก อ่อนช้อยงดงาม แต่ต้องใช้เวลาและความอดทนมากเป็นพิเศษ ส่วนเรื่องการเล่นดนตรีไทยก็เช่นกัน ก็ต้องเรียนรู้และฝึกฝนให้มาก ทุกอย่างอยู่ที่ความตั้งใจจริง อายุอาจไม่ใช่อุปสรรคสำคัญ ยกเว้นเสียแต่ว่าอายุมากแล้วแต่อยากจะเล่นบทผาดโผนของหนุมาน ถ้าแบบนี้ก็คงยากมากเพราะคนอายุมากๆ จะตีลังกา กระโดดโลดเต้นมากๆก็คงยาก (หัวเราะ)
l ขออนุญาตถามเรื่องค่าเล่าเรียน หลายคนเกรงว่าจะไม่มีเงินเพียงพอ
อาจารย์บำรุง : ขอย้ำว่าเราไม่ได้เน้นเรื่องเงินเราเน้นเรื่องความตั้งใจจริงเป็นอันดับแรก ในสมัยก่อนการถ่ายทอดความรู้ด้านนี้ไม่เคยคิดเงินคิดทองใดๆ ครูที่ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียนให้ความรู้ด้วยใจจริงๆแถมยังให้ข้าวปลาอาหารกินอีกด้วย แต่สำหรับโรงเรียนของเรานั้นอาจไม่สามารถทำแบบการสอนในสมัยโบราณได้เนื่องจากเรามีค่าใช้จ่ายสารพัด เช่น ค่าสถานที่ ค่าครูผู้สอน ค่าน้ำค่าไฟฟ้า เป็นต้น รวมถึงค่าวัสดุอุปกรณ์ในการเรียนการสอน เราเก็บค่าเล่าเรียนที่เรียกได้ว่าถูกมาก เช่นเราเรียนเราสอนกันสี่สัปดาห์ สัปดาห์ละ1 ชั่วโมง เราคิดค่าเรียนเพียงพันกว่าบาทเท่านั้น เราทำโรงเรียนแห่งนี้เพราะต้องการสืบสานศิลปะไทยให้คงอยู่ และเราตระหนักเสมอว่าเรามีรากเหง้ามาจากครูดนตรีไทยแต่ที่สำคัญที่สุดคือเราได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นจากกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ท่านพระราชทานพระเมตตาให้กับคุณพ่อของผม และกับโรงเรียนแห่งนี้เสมอมา ดังนั้นเมื่อเราสอนความรู้ด้านศิลปะไทยให้กับเด็กและเยาวชน และกับใครก็ตาม ผมและคณาจารย์ก็จะพร่ำบอกกับเด็กและทุกคนให้น้อมนำพระราโชวาทด้านศิลปะไทยของพระองค์ท่านไปใช้ในชีวิตประจำวันด้วย พระองค์ตรัสกับพวกเราว่าการเปิดโรงเรียนสอนนาฏศิลป์ไทย และดนตรีไทยเปรียบเสมือนการช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจของพระองค์ท่านในการสืบสานสิ่งสำคัญเหล่านี้ เพราะฉะนั้นเมื่อโรงเรียนของเราจะทำกิจกรรมใดๆ ก็ตาม เราก็จะต้องเข้าไปกราบบังคมทูลให้ทรงทราบเรื่องราวต่างๆ โดยละเอียด ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ด้วยพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านจึงทำให้โรงเรียนของเรายังคงดำเนินกิจการต่อไปได้ทุกวันนี้ และเราก็มั่นใจว่าเราจะอยู่ได้
อย่างสง่างาม และศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ของไทยก็จะต้องดำรงอยู่ได้อย่างสง่างามด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน
l ขอเรียนถามอาจารย์วราพรครับ ทุกวันนี้นักเรียนสนใจเรียนด้านใดมากที่สุดครับ ระหว่างการร่ายรำกับการเล่นดนตรีไทย
อาจารย์วราพร : มีสัดส่วนพอๆ กันค่ะ แต่หากจะพูดตามตัวเลขตรงๆ ก็ต้องบอกว่าเด็กสนใจเรียนการรำมากกว่าดนตรีไทยเล็กน้อย แต่เราก็พยายามดูด้วยว่าเด็กคนไทยมีแววในการเล่นดนตรีไทยบ้าง หากเราพบเราก็พยายามโน้มน้าวให้เขาลองเล่นดูก่อน ซึ่งหลายคนก็สนใจเรียนและสามารถเล่นได้ดีในที่สุด ดนตรีไทยที่เราสอนก็มีทุกประเภท เช่น ขิม ซอ ระนาด จะเข้ ขลุ่ย กลอง ฆ้องวง เป็นต้น ส่วนเด็กเล็กๆ ที่มาหันเรียนนั้น เรามักจะให้ลองเล่นขิมก่อน เพราะดูแล้วเข้ากับเด็กได้ง่ายและดีที่สุด
l เด็กๆ ที่หัดเรียนดนตรีไทยและนาฏศิลป์ไทยควรจะเริ่มต้นที่อายุเท่าไรครับ
อาจารย์วราพร : เราตั้งเกณฑ์เบื้องต้นไว้ที่ 6 ขวบค่ะ แต่มีเด็กหลายคนที่เริ่มเรียนกับเราด้วยอายุเพียง 4-5 ขวบก็มีค่ะ เราต้องคุยและต้องสัมผัสกับเด็กก่อน แล้วให้เด็กได้ลองเล่น แต่ปรากฏว่าเด็กอายุ 5 ขวบหลายคนสามารถเล่นขิมได้ดีมากจนน่าอัศจรรย์ใจ นั่นอาจเป็นเพราะเด็กสนใจเสียงดนตรีที่เขาบรรเลง เด็กๆ ชอบขิม เพราะตีลงไปบนเส้นเส้นใดก็จะมีเสียงดังขึ้นมา ทำให้เด็กสนใจมาก ส่วนซอจะให้เริ่มเรียนเมื่ออายุมากขึ้นสักนิด เช่น 8-9 ขวบ ส่วนพวกร่ายรำก็มีเด็กอายุ 3 ขวบมาเริ่มเรียนกับเรา เพราะผู้ปกครองอยากให้ลูกอยู่กับการร่ายรำตั้งแต่ยังเด็กมากๆ แล้วเด็กก็สนุกนะคะ เมื่อเขารำแล้วเราชมว่ารำสวยมาก เขาชอบ แล้วก็ยิ่งหัดรำ เราจะให้เด็กได้ทดลองก่อน เรายังไม่คิดค่าเรียนใดๆ จนกว่าเด็กจะตัดสินใจเรียนจริงๆ จังๆเราไม่บังคับเด็กค่ะ เพราะถ้าเขาไม่สมัครใจจริงๆ เขาจะไม่อยากเรียน และอาจจะเกลียดศิลปะไทยไปเลยก็ได้วิธีการดูว่าเด็กคนไหนเรียนได้หรือไม่ได้ก็เริ่มแบบง่ายๆคือทดลองเรียน ทดลองรำ ดูว่าเขาทำตามครูได้มากน้อยเพียงใด เขาสนุกไหม รู้หรือไม่ว่ามือซ้ายมือขวาอยู่ข้างไหน ยกเท้าซ้ายเท้าขวาได้ตามที่ครูบอกหรือไม่สรุปคือให้ทดลองก่อนค่ะ ถ้าเด็กชอบจริงๆ จึงค่อยว่ากันในเรื่องการเรียนการสอนที่เต็มรูปแบบ แต่ทุกอย่างเป็นไปตามวัยของเด็ก
l หากผู้ปกครองเด็กที่ดูรายการเราอยู่ หรือดูหนังสือพิมพ์แนวหน้า อยากให้ลูกหลานที่ซนมากๆ มาเรียนกับครูวราพร ครูจะรับไว้ไหมครับ
อาจารย์วราพร : ขอให้เข้ามาคุยกันก่อนนะคะ นำลูกหลานตัวน้อยๆ มาด้วยนะคะ ทางเรายินดีรับลูกหลานทุกคน เพราะอยากให้เขาเรียนศิลปะไทย แล้วถ้าเด็กพร้อมเรียน เราก็ยินดีมากค่ะ ตัวอย่างคือ หลานของดิฉันอายุ 4 ขวบเศษ แรกๆ ก็ซนมากๆ มากจนหลายคนนึกว่าจะเรียนไม่ได้ แต่เมื่อเราค่อยๆ คุยกับเขา ค่อยๆ ฝึกเขา หรือมีของรางวัลให้เขาเมื่อเขาตีขิมได้ ยิ่งตีได้เป็นเพลงง่ายๆ ก็ให้ของรางวัลกับเขา มาเดี๋ยวนี้ เขาตีขิมเก่งมาก เล่นเพลงต่างๆ ได้ดี และออกแสดงมาแล้วหลายเวที เขาภูมิใจในความสามารถมาก แล้วก็มีสมาธิมากขึ้น นิ่งมากขึ้น เพราะฉะนั้นต้องขอยืนยันเหมือนเดิมว่าพาบุตรหลานของคุณไปคุยกับเราก่อน เรายินดีต้อนรับทุกท่านครับ เด็กซนมากแค่ไหนก็ตาม ขอให้ได้คุยกันก่อนเท่านั้น เพราะเด็กซนหรือเด็กขี้อายก็อาจจะมีพรสวรรค์ด้านดนตรีและนาฏศิลป์ไทยอยู่ในตัวของเขา แล้วที่สำคัญคือในยุคนี้เด็กที่จะต้องมีความสามารถพิเศษเพื่อใช้เป็นคะแนนเพิ่มสำหรับการสอบเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยก็นิยมมาเรียนศิลปะไทยด้านนาฏศิลป์และดนตรีไทยมากขึ้น แรกๆ อาจจะแค่อยากได้คะแนนพิเศษเพิ่ม แต่เมื่อเขาเข้าใจและรำได้จริงๆ เขาก็ภูมิใจมาก โรงเรียนของเรามีเวทีการแสดงให้เด็กๆ ได้อวดความสามารถกับชาวโลกในหลายประเทศ เช่นไปแสดงที่ญี่ปุ่น จีน อเมริกา แคนาดา เป็นต้น ส่วนในประเทศไทยนั้นเราก็จัดการแสดงเป็นประจำ เมื่อเขาได้แสดงอวดสายตาผู้ชมแล้ว เขาก็ยิ่งภูมิใจในความสามารถของเขา ขอฝากผู้ปกครองได้โปรดให้การสนับสนุนให้ลูกหลานได้สัมผัสกับศิลปะแขนงต่างๆ ของไทย อยากปล่อยให้สิ่งดีๆ งามๆของเราสูญหายไปเลย เมื่อเด็กได้สัมผัสสิ่งดีๆ แล้ว เขาจะประทับใจในสิ่งดีเหล่านั้น แล้วเขาจะหวงแหนและรักษาศิลปะไทยไว้สืบต่อไป ขอให้ทุกคนช่วยกันส่งเสริม บำรุง รักษาศิลปะไทยให้อยู่ยืนยงตราบนานเท่านาน เพื่อความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทยของเราทุกคน
คุณจะได้พบกับรายการดี ที่ครบครันด้วยสาระและความบันเทิง รายการแนวหน้าวาไรตี้ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา16.00-16.25 น. ทางโทรทัศน์ TNN2 ช่อง 784 ดิจิทัลทีวี หรือ True Visions 8 และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTubeผู้หญิงแนวหน้า by คุณแหน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี