วิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ และ ชาญศิลป์ ตรีนุชกร นายกสมาคมธรรมศาสตร์ฯ ประกาศความพร้อมงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 74 ร่วมด้วย ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์, สราวุธ ทรงศิวิไล, วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ และ ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศความพร้อมงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 ภายใต้แนวคิด “Make a CHANGE เปลี่ยน ปรับ ขยับสังคม” เพื่อปลุกกระแสสังคมให้ตระหนักรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับแคมเปญ “Waste This Way รักษ์โลกให้ถูกทาง” โดยร่วมมือกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหญ่ของการปรับใช้วิธีการจัดการขยะในงานอย่างถูกต้อง ถูกวิธี และนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้มากที่สุด ด้วยแนวคิดหลัก “ลด เปลี่ยน แยก” แต่ยังคงความสมัครสมานสามัคคีของการแข่งขันและการเชียร์ของทั้งสองสถาบัน โดยปีนี้จุฬาฯ เป็นเจ้าภาพจัดงานในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 14.00 น. เป็นต้นไปที่ สนามศุภชลาศัย
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงการจัดงานในปีนี้ว่า งานฟุตบอลประเพณีฯ มีมากว่า 90 ปี เริ่มด้วยนิสิตนักศึกษาของทั้งสองสถาบันร่วมกันจัดกีฬาเพื่อสานสัมพันธ์และความสามัคคีและเพื่อให้แนวคิดต่างๆ ต่อสังคมตามช่วงเวลานั้นๆ โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 74 และปีนี้ผู้จัดมองว่าจะมีประเด็นใดบ้างที่จะช่วยให้สังคมได้ขยับตามแนวความคิดและสถานการณ์ปัจจุบัน จึงกลายเป็นแนวคิด Make a CHANGE เปลี่ยน ปรับ ขยับสังคม และอาจมีการเสนอหลายๆ ประเด็นที่อยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงของงานที่จะสามารถเปลี่ยนแปลง หรือให้แนวคิดเกี่ยวกับสังคมได้
นายสราวุธ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน ฝ่ายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจัดงานแต่ละครั้งนิสิต นักศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง จากทั้งสองสถาบันได้แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ผ่านกิจกรรมการแข่งขันฟุตบอล ขบวนพาเหรด การเชียร์และกิจกรรมเพื่อสังคมอื่นๆ ตลอดมาการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 ในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่ชาวจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ จะได้ร่วมแรงร่วมใจกันอีกครั้ง โดยแสดงพลังในการเรียกร้องและปรับเปลี่ยนสังคมไทยตามแนวคิด Make a CHANGE ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย และปีนี้ฝั่งสแตนด์ของทั้งสองสถาบันจะมีการรณรงค์ว่าเมื่องานจบแล้วจะไม่มีขยะแม้แต่ชิ้นเดียว โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพลังอันแข็งแกร่งจากพวกเราชาวจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ จะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่เปลี่ยนแปลงปรับปรุง พร้อมทั้งทำให้เกิดการขับเคลื่อนที่มีความหมายให้กับสังคม และร่วมกันพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
ทางด้าน ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการแข่งขันฟุตบอลประเพณีฯ ว่า เป็นสิ่งที่ทั้งสองมหาวิทยาลัยให้ความสนใจเป็นอย่างดี เพราะที่จริงแล้วฟุตบอลเป็นแค่เพียงการแข่งขัน ซึ่งทั้งสองสถาบันได้ใช้ฟุตบอลในการสร้างความสัมพันธ์มาโดยตลอด ปีนี้เป็นอีกปีที่ร่วมกัน make a changeเพื่อให้บ้านเมืองของเราเจริญรุดหน้าต่อไปได้
ด้านฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร นายกสมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมสำคัญของทั้งสองสถาบัน โดยเราร่วมสืบสานการทำงานฟุตบอลประเพณีฯ และกำลังทำการ Make a change เปลี่ยนปรับไปในสิ่งที่ดีมากขึ้น สำหรับการดูแลเรื่องสภาพแวดล้อม ดูแลเรื่องขยะทั้งหลายที่ยังเป็นปัญหาอยู่ในประเทศ โดยทั้งสองสถาบันได้ร่วมมือกันในการพยายามในการรียูส (Reuse) รีดิวซ์ (Reduce) และรีไซเคิล (Recycle) อีกทั้ง ยังมีเรื่องของการบริจาคเลือดให้สภากาชาดไทย ที่ทั้งสองสถาบันทำร่วมกันคือ “เลือดไม่แบ่งสี”ที่ทำขึ้นเพื่อประเทศไทย เพื่อคนที่เจ็บป่วยนอกเหนือจากนั้นเรายังมีกิจกรรมที่กระจายไปสู่สังคมต่างๆ ไม่ว่าจะทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง ศูนย์พัทยา ศูนย์รังสิต หรือท่าพระจันทร์ ก็มีการดำเนินงานเกี่ยวกับเรื่องขยะและเรื่องบริจาคเลือดด้วย ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เราทำเพื่อสังคมในทาง มธ.เองเราได้เตรียมเรื่องการเชียร์ พาเหรดต่างๆ ซึ่งการทำพาเหรดเราต้องทำแบบสร้างสรรค์ แนะสิ่งต่างๆ ให้แก่สังคม เพื่อจะทำให้สังคมมีการปรับเปลี่ยน สามัคคี สร้างสรรค์ และรักกันของคนไทยให้มากขึ้น ซึ่ง มธ.พร้อมทุกปี แม้ผลการแข่งขันจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ แพ้ชนะไม่ใช่เรื่องสำคัญ เรายังเป็นพี่น้องกันเหมือนเดิมแม้สีเสื้อจะต่างกันแต่ใจรักกัน
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน ฝ่ายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าแนวคิดหลักในการจัดงานในปีนี้ คือ Make a CHANGE เปลี่ยน ปรับ ขยับสังคม นำเสนอโดยนิสิตนักศึกษาทั้งสองสถาบัน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทันสมัยทันสถานการณ์โลก แสดงถึงความพร้อมและศักยภาพของคนรุ่นใหม่ในการมีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ อย่างตัวเองก่อน เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว ย่อมส่งผลให้สังคมไทยขยับไปในทางที่ดีขึ้น งานฟุตบอลประเพณีฯ ก็เช่นเดียวกัน เป็นการสร้างความรัก ความสามัคคี ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน โดยความรักสามัคคีที่แน่นแฟ้นเหล่านี้จะแปรเปลี่ยนเป็นพลังสำคัญในการร่วมแรงร่วมใจพัฒนาชาติบ้านเมืองต่อไปในอนาคต ซึ่งการเตรียมพร้อมไม่ว่าจะขบวนแปรอักษร ล้อการเมืองเป็นที่ประจักษ์ในชื่อเสียงอยู่แล้วที่เห็นในทุกปี และปีนี้ล้อการเมืองก็ยังคงมีเพราะกลายเป็นสัญลักษณ์ของงานฟุตบอลประเพณีฯ ไปแล้ว แต่ก็พยายามควบคุมเพื่อไม่ให้เยอะเกินไป แต่จากการไปดูรู้สึกว่าจะดุเดือดเข้มข้นกว่าปีที่แล้ว
ด้าน ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูลรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า งานฟุตบอลประเพณีฯ ไม่ใช่การแข่งขันกีฬา แต่เป็นการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยกัน แล้วทำกิจกรรมกันตั้งแต่รุ่นเก่า ซึ่งทางธรรมศาสตร์เราเน้นการประชาสัมพันธ์ผ่านกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่สังคม เช่น กิจกรรมเลือดไม่แบ่งสี และไม่ว่าผลการแข่งขันจะเป็นอย่างไร ที่แน่นอนคือสองสถาบันทำอะไรดีๆ ด้วยกันแบบนี้จะชนะใจคนดู ชนะใจสังคมไทย และจะทำให้เรามีความมั่นใจว่าประเทศชาติจะก้าวหน้า
ในเรื่องความพร้อมของนักกีฬา นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ผู้จัดการทีมฟุตบอลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า เรื่องความพร้อมไม่ต้องห่วง เพราะนักฟุตบอลของฝั่งจุฬาฯ แม้จะมาจากหลากหลายสโมสร หลายลีก แต่ด้วยเลือดสีชมพูทำให้เราเป็นทีมเดียวกันได้และกัปตันทีมยังคงเป็น อภิวัฒน์ งั่วลำหิน กองหน้าเป็น ศุภชัย ใจเด็ด และ สุภโชคสารชาติ ในปีนี้พิเศษมี ลีซอ-ธีรเทพวิโนทัย มาร่วมสร้างสีสันโดยเชื่อว่าการแข่งขันจะดุเดือด และหลังจากการแข่งขันจุฬาฯ เป็นเพื่อนกับธรรมศาสตร์แน่นอน
ขณะที่ฝั่งธรรมศาสตร์ นายสมชายพูลสวัสดิ์ ผู้จัดการทีมฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่านักฟุตบอลซ้อมกันอย่างเต็มที่ กีฬาเราเล่นด้วยสปิริต เกมไม่ว่าจะเป็นอย่างไร จบเกมเราคือพี่น้องกัน มีความสามัคคีกันเหมือนเดิม ซึ่งผลกีฬาแพ้ชนะ มันก็เป็นเรื่องของกีฬา แต่เราต้องเล่นด้วยสปิริต นี่คือนโยบายของทางฝั่งธรรมศาสตร์
งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อนิสิต นักศึกษา ทั้งสองสถาบันร่วม “Make a CHANGE เปลี่ยน ปรับ ขยับสังคม” ผ่านแคมเปญ “Waste This Way รักษ์โลกให้ถูกทาง” โดยความร่วมมือของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GCเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหญ่ของการปรับใช้วิธีการจัดการขยะในงานฟุตบอลประเพณีอย่างถูกต้อง ถูกวิธี และนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้มากที่สุด ด้วยแนวคิดหลัก “ลด เปลี่ยน แยก” โดยร่วมกัน“ลด” การสร้างขยะโดยใช้ภาชนะที่สามารถย่อยสลายได้ทั้งหมด “เปลี่ยน” โดยหันมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น และ “แยก” ภายในงานจะมีการแยกขยะทุกประเภท เพื่อนำไปทำลายทิ้ง หรือสามารถนำไปใช้ซ้ำและรีไซเคิลได้
เริ่มที่ ขบวนพาเหรด ถือเป็นอีกหนึ่งสีสันที่ผู้คนจดจำได้ในงานฟุตบอลประเพณีฯ ทุกปี แต่ในขบวนพาเหรดถือเป็นอีกหนึ่งส่วนที่สร้างขยะจำนวนมาก ในปีนี้พวกเราจึงตัดสินใจที่จะ “ลด” การใช้วัสดุตกแต่งที่ไม่จำเป็น และ “เปลี่ยน” มาใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งเราทราบกันว่า “โฟม” มักเป็นหนึ่งในวัสดุหลักของขบวนพาเหรดเสมอ และ “โฟม” ใช้เวลาย่อยสลายตามธรรมชาตินานที่สุด ดังนั้น เราอาจพูดได้ไม่เต็มปากว่า ขบวนพาเหรด คือสื่อที่ต้องการเคลื่อนไหวเพื่อสังคม ถ้าวัสดุในสื่อนี้ยังคงทิ้งปัญหาไว้ให้สังคมและโลกของเราอยู่แบบนี้ ดังนั้น ขบวนพาเหรดในงานฟุตบอลประเพณีฯ ปีนี้จึงยึดหลัก CircularEconomy โดยการพยายามใช้วัสดุอื่นมาทดแทน “โฟม” ให้ได้มากที่สุด เพื่อลดขยะที่จัดการยากและใช้ประโยชน์จากวัสดุที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตาม ขยะจากขบวนพาเหรดยังเป็นส่วนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ 100% งานในปีนี้จึงจัดเตรียมเส้นทางการจัดการขยะของขบวนพาเหรดเอาไว้ เช่น ไม้ประเภทต่างๆ จะนำไปบริจาคให้มูลนิธิและผู้ด้อยโอกาส ผ้าดิบจะนำไปทำถุงยาและส่งให้กับโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล โฟม กระดาษ และวัสดุแห้งอื่นๆ จะนำไปเผาเพื่อผลิตเป็นพลังงานทดแทน(Refuse Derived Fuel: RDF) ต่อไป
อีกทั้ง งานฟุตบอลประเพณีฯ ปีนี้ได้ตัดสินใจเปลี่ยนวิธีการผลิตเสื้อและถุงยังชีพตามปกติมาเป็นแบบ Upcycling เพื่อเป็นการใช้ขยะให้เกิดประโยชน์มากกว่าเดิม โดยทำมาจาก “ขวดพลาสติก” ซึ่งที่ผ่านมา เคยเป็นขยะตัวร้ายในงาน โดยพลาสติกจำนวน 14 ใบ = เสื้อของทีมงาน 1 ตัว ขวดพลาสติกจำนวน 7 ใบ = ถุงยังชีพ 1 ใบนอกจากนี้ ขยะขวดพลาสติกที่ถูกแยกภายในงาน ยังสามารถทำเป็น“รองเท้ากีฬา” เพื่อมอบให้กับน้องๆ ผู้ด้อยโอกาสได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ในงานยัง “ลด” การใช้สิ่งที่ไม่จำเป็นอย่างขวดหรือแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วต้องทิ้ง (Single-use)โดยขอให้ทุกคนพกขวดน้ำส่วนตัวมาเอง เราจะจัดเตรียมซุ้มน้ำหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นชานมแสนอร่อยๆ หรือชามะนาวเย็นชื่นใจซึ่งสามารถเติมได้ตลอดทั้งงาน โดยจัดให้เติมฟรีกับผู้ที่พกขวดหรือแก้วส่วนตัวมาเอง เพื่อเป็นการร่วมรณรงค์ให้ “ลด” การใช้ขยะโดยที่ไม่จำเป็น ซึ่งถือเป็นหนึ่งวิธีการที่ได้ผลดีที่สุดในการรักษ์โลกให้ถูกทาง พร้อมจัดเตรียมอุปกรณ์และวิธีการในการแยกขยะเอาไว้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นถังขยะเพื่อรองรับขยะ4 ประเภท คือ 1.น้ำแข็งและหลอด 2.ขยะแห้ง หรือ ขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ 3.ขยะเศษอาหารทุกชนิด 4.ขยะที่เลอะหรือขยะเหลือทิ้งและยังจัดเตรียมทีมงานที่อยู่ดูแลจุดทิ้ง เพื่อมอบความรู้เกี่ยวกับการแยกขยะเบื้องต้นให้กับผู้ร่วมงาน ซึ่งสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงด้วย เพราะหากเราแยกขยะกันได้อย่างถูกวิธีแล้ว ขยะจะสามารถสร้างประโยชน์อะไรหลายอย่างให้สังคมเราได้มากเลยทีเดียว
ขอเชิญชวน นิสิต นักศึกษา ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน ทั้งสองสถาบัน มาแสดงพลังเป็นส่วนร่วมในการปลุกและเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น สามารถซื้อบัตรเข้าร่วมงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 ได้ที่ www.thaiticketmajor.com บัตรราคา300 บาท และ 200 บาท ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563หรือจนกว่าบัตรจะหมด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี