จุฬาฯ เปิดหลักสูตรสองปริญญาภายใน 6 ปี
ควบ ป.ตรี-แพทย์ และ ป.โท-วิศวะฯ ชีวเวช
ผลิตนักวิชาการ นักวิจัย สู่วงการแพทย์ไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงข่าวเปิดโครงการผลิตบัณฑิตแพทย์ 2 ปริญญา ภายในเวลา 6 ปี โดยปริญญาตรี แพทยศาสตร์ และปริญญาโท วิศวกรรมชีวเวช เพื่อมุ่งผลิตบัณฑิตที่เชี่ยวชาญทั้งสาขาแพทยศาสตร์และวิศวกรรมชีวเวช ให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานวิชาการ องค์ความรู้ วิจัย และนวัตกรรม
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในปี 2563 นับเป็นการเปลี่ยนแปลงและการเริ่มต้นครั้งใหม่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เปิดโครงการหลักสูตรควบข้ามระดับและข้ามศาสตร์ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตและหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิศวกรรมชีวเวช โดยหลักสูตรนี้เกิดจากการที่คณะแพทย์มองว่านิสิตแพทย์ของเรามีศักยภาพ และเมื่อปี 2560 เราได้ปรับหลักสูตร ซึ่งได้เปิดช่วงเวลาให้นิสิตได้มีโอกาสค้นพบว่าตัวเองต้องการจะเสริมสร้างศักยภาพในด้านใดจึงพบว่าวิศวกรรมชีวเวชเป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายของนิสิต
จุดเด่นของหลักสูตรนี้คือ บัณฑิตที่จบการศึกษาจะได้รับ 2 ปริญญา คือปริญญาตรี แพทยศาสตรบัณฑิต และปริญญาโท
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิศวกรรมชีวเวช โดยใช้ระยะเวลาในการศึกษาเพียง 6 ปี เป็นหลักสูตรที่มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญทั้งสาขาแพทยศาสตร์และวิศวกรรมชีวเวช ซึ่งเหมาะกับนิสิตแพทย์ที่มีความสนใจทางด้านวิศวกรรมชีวเวช ต้องการเป็นแพทย์วิชากร นักวิจัยชั้นนำ หรือผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านแพทยศาสตร์และวิศวกรรมชีวเวช ที่สร้างสรรค์ผลงานวิชาการ องค์ความรู้ วิจัยและนวัตกรรม
“นิสิตในโครงการนี้จะเป็นนิสิตแพทยศาสตร์ที่สนใจอยากจะเรียนวิศวกรรมชีวเวช โดยการเรียนจะเป็นการเรียนหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2560) แต่เราจะสร้างความหลากหลายให้เด็กมาเรียน โดยให้เด็กใช้ช่วงเวลาที่เขาสามารถสร้างเสริมตัวเองมาเรียนหลักสูตรเพิ่มอีก 1 หลักสูตรในสาขาวิศวกรรมชีวเวช ซึ่งการเรียนของหลักสูตรนี้ เมื่อเรารับนักเรียนเข้าไปเรียนในตอนต้น เขาสามารถค้นหาว่าเขาต้องการสิ่งนี้จริงหรือไม่ เมื่อเข้าไปสู่ปีที่ 2-3 ก็จะมีวิชาเลือกเสรีซึ่งสามารถเลือกเรียนวิศวกรรมชีวเวชได้ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาในระดับปริญญาโท หลังจากนั้นหากเรียนจบปีที่ 3 จะมีหน่วยกิต 120 หน่วยกิต ซึ่งเพียงพอที่จะสมัครเรียนต่อในระดับปริญญาโทได้ เมื่อเด็กมีความพร้อมในช่วงประมาณปี 3 ก็จะเข้าตามเกณฑ์ที่เราตั้งไว้ แล้วเมื่อขึ้นสู่ปี 4-6 จะเรียนรายวิชาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตควบคู่กับการทำสัมมนาและการทำวิทยานิพนธ์ในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต ซึ่งจะทำในช่วงเวลาวิชาเฉพาะเพื่อส่งเสริมสมรรถนะผู้เรียน หรือช่วงนอกเวลาได้ และเมื่อจบแล้วสถานะก็จะเหมือนเด็กแพทย์ทั่วไป แต่จะได้ความพิเศษติดตัวคือ มีความรู้ในเรื่องของวิศวกรรมชีวเวชด้วย”
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลักสูตรสหสาขาวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหลักสูตรบัณฑิตศึกษาที่ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ.2549 โดยริเริ่มขึ้นจากความร่วมมือหลักระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งในอดีตอาจารย์ทำงานร่วมกันจึงต้องการขยายลงมาถึงนิสิต เพื่อเป็นโอกาสในการเอาความรู้มาประยุกต์ใช้ในการทำงานของตัวเองในทางการแพทย์
โดยจุดเด่นของหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช คือความร่วมมือที่เข้มแข็งของทั้งสองคณะ ที่ร่วมกันพัฒนาโจทย์วิจัยที่ท้าทาย และตอบโจทย์หรือแก้ไขปัญหาที่พบอยู่จริงในการแพทย์ในปัจจุบัน นิสิตที่เรียนในหลักสูตรฯ จะมีอาจารย์ที่ปรึกษา 2 ท่าน โดยท่านหนึ่งจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และอีกท่านหนึ่งจากคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี และเข้าใจปัญหาที่แท้จริงของเทคโนโลยีการแพทย์ นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์สายสุขภาพอื่นๆ อีกด้วย อาทิ คณะทันตแพทยศาสตร์คณะเภสัชศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะสหเวชศาสตร์เป็นต้น
ทั้งนี้ หลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช ประกอบไปด้วย 6 สาขาวิจัย ได้แก่ สาขา Medical instruments and biosensors, สาขา Biomechanics, สาขา Rehabilitation, สาขา Medical Imaging, สาขา Tissue engineering and Drug delivery
system และสาขา Bioinformatics ซึ่งทั้ง 6 สาขาวิจัยนี้ ครอบคลุมเทคโนโลยีการแพทย์ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย วิเคราะห์โรค การรักษาโรค การฟื้นฟูผู้ป่วย รวมถึงการป้องกันการเกิดโรค จะเห็นได้ว่า ทุกศาสตร์ทุกสาขาของแพทย์ ล้วนใช้ศาสตร์วิศวกรรมชีวเวชเข้าไปช่วยพัฒนาได้ทั้งสิ้น
“หลักสูตรนี้ต้องเป็นแพทย์กับวิศวกรรมชีวเวช เพราะวิศวกรรมชีวเวชมีการบูรณาการมากและด้วยตัวของมันเองก็ข้ามศาสตร์มากมายอยู่แล้ว จะเห็นได้ว่ามีสาขาวิชาเยอะมากเกือบจะทุกภาควิชาในคณะวิศวกรรมศาสตร์มารวมกัน ทั้งชีวกลศาสตร์, อุปกรณ์ทางการแพทย์, เรื่องของเนื้อเยื่อ, เวชศาสตร์ฟื้นฟู, ชีวสารสนเทศศาสตร์, รังสี, กระดูกเทียม รวมทั้งเทคโนโลยีทางภาพถ่ายทั้งหลาย และการบริหารโรงพยาบาล ก็รวมอยู่ในวิศวกรรมชีวเวชหมดแล้ว ส่วนในเรื่องของกระดูกเทียม ได้พัฒนาการทำกระดูกเทียมที่สามารถออกแบบตัวกระดูกให้กับคนไข้แต่ละคนได้
ดังนั้น การไปผูกร่วมเอานิสิตคณะแพทย์เข้ามาทำงานร่วมกับกลุ่มนี้ ก็จะเป็นการเสริมความรู้และเสริมเทคนิค วิธีการที่จะนำพาเทคโนโลยีต่างๆ ไปสู่การใช้งานได้เร็วขึ้น และเมื่อสองฝั่งมารวมกันสิ่งที่เกิดขึ้นก็จะเกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในงานทางการแพทย์ และเรามองว่าจะเป็นประโยชน์กับทั้งวงการแพทย์และวงการวิศวกรรม และหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมมือกันและเปลี่ยนแปลงในระบบทางการศึกษา เพราะการเรียนอย่างเดียวตลอดเวลา อาจไม่เพียงพอในโลกยุคอนาคตที่ตัวผู้เรียนหรือตัวบัณฑิตมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นหลักสูตรนี้จะเป็นหลักสูตรแรกที่เป็นสองปริญญาที่ข้ามระหว่างปริญญาตรีกับปริญญาโท หลังจากนี้ถ้าหลักสูตรนี้ประสบผลก็จะเห็นอีกหลายหลักสูตรในจุฬาฯ อีกทั้ง นี่จะเป็นนิมิตใหม่ในประเทศไทยที่เราจะมีการข้ามศาสตร์กันมากขึ้น”
สำหรับค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ประธานหลักสูตรสหสาขาวิศวกรรมชีวเวช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการเรียนจะจัดเก็บค่าเล่าเรียนทั้งสองหลักสูตรในอัตราตามประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง อัตราการเรียกเก็บเงินค่าเล่าเรียนและเงินเรียกเก็บประเภทอื่นๆ สำหรับนิสิต และในส่วนของแผนการรับนิสิตโครงการ จะคัดเลือกและให้ทุนแก่นิสิตในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตที่มีคุณสมบัติครบถ้วน เข้าศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช 10 คน ต่อปีการศึกษา
ขณะที่ การรับสมัครนิสิตเข้าโครงการ อาจารย์ ดร.นายแพทย์ดนัย วังสตุรค ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า สำหรับนิสิตในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ปัจจุบันชั้นปีที่ 1 และ 2 คาดว่าจะสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้เลยในปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป และในส่วนของผู้ที่สนใจเข้าศึกษาในโครงการ
ที่เป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สามารถสมัครสอบคัดเลือกได้ตามระบบ TCAS รอบที่ 1-3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันเริ่มสมัครผ่านระบบ TCAS63 ในวันที่ 17-27 เมษายน 2563 โดยสมัครเข้ามาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เลย สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อีเมล aamdcu@gmail.com หรือโทร.02-2564478 ฝ่ายวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี