อาคารสถาปัตยกรรมมิได้เป็นเพียงสิ่งปลูกสร้างที่ออกแบบเพื่อให้เป็นไปตามฟังก์ชั่นการใช้งานเท่านั้น หากแต่ยังเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนยุคสมัยได้อย่างรอบด้าน เมื่อผนวกรวมเข้ากับการใช้งานที่เคลื่อนผ่านไปตามวันเวลา อาคารแต่ละแห่งย่อมเปี่ยมด้วยเรื่องราว เรื่องเล่า ความผูกพัน และความทรงจำมากมาย การตัดสินใจทุบตึกใดตึกหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตึกที่เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร ดังเช่น “โรงแรมดุสิตธานี” ย่อมผ่านการคิดใคร่ครวญและประเมินผลได้ผลเสียมานับครั้งไม่ถ้วน 50 ปี กับการเป็นบ้านชั่วคราวของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งให้บริการด้วยมิตรไมตรีอันอบอุ่นแบบไทย 50 ปีที่เติบโตไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ย่อมเป็น 50 ปีที่ทุกความประทับใจผนึกแน่นอยู่ในเสาทุกต้น หน้าต่างทุกบาน ทุกฝ้าเพดาน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ต้องตัดสินใจทุบโรงแรมดุสิตธานี เป็นเรื่องยากอย่างยิ่งสำหรับผู้เป็นเจ้าของ ทีมผู้บริหารและพนักงานโรงแรมดุสิตธานีทุกคน
โรงแรมดุสิตธานี
ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงแรมดุสิตธานี เป็นหนึ่งในตำนานอาคารสถาปัตยกรรมโมเดิร์นยุคแรกๆ ของเมืองไทย เริ่มก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2510 ออกแบบโดยสถาปนิกชาวญี่ปุ่นซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากพระปรางค์วัดอรุณฯ โดยผสมผสานเอกลักษณ์ไทยและความเป็นสากลเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนและโดดเด่น สำหรับ 50 ปีที่แล้ว โรงแรมดุสิตธานีเคยเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทย ออกแบบและตกแต่งทันสมัยที่สุดในยุคนั้น แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป โจทย์ของธุรกิจโรงแรมเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ผู้บริหารเริ่มเล็งเห็นว่า ห้องพักขนาด 32 ตารางเมตร ซึ่งกว้างขวางโอ่โถงมากสำหรับยุคเมื่อ 50 ปีก่อน แต่ในปัจจุบันก็อาจจะยังไม่ตอบโจทย์สำหรับการจะเสริมบริการเพื่อสร้างประสบการณ์อันเหนือระดับให้แก่ลูกค้าให้สมกับการเป็นโรงแรมระดับโลกในทศวรรษใหม่แม้ทางโรงแรมเคยปรับปรุงด้วยการทุบผนังเพื่อขยายขนาดห้องมาบ้างแล้วก็ตาม แต่ด้วยโครงสร้างเดิมทำให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบห้องได้ตามความต้องการ กว่าแปดเดือนที่คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรเข้ามาศึกษาและเก็บข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ รวมถึงวิเคราะห์ถอดรหัสและวิจัย เพื่อศึกษาแนวความคิดการออกแบบโรงแรมดุสิตธานี
โดย ผศ.ดร.ไธพัตย์ ภูชิสส์ชวกรณ์ ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ศึกษาวิจัยและถอดรหัสการออกแบบโรงแรมดุสิตธานี กล่าวถึงการออกแบบโรงแรมดุสิตธานีว่า มีความน่าสนใจที่จะทำการศึกษา วิเคราะห์และตีความหลายประการด้วยกัน นับตั้งแต่ที่มาของแนวความคิดในการออกแบบ ตลอดจนรูปแบบที่ปรากฏทั้งภายในภายนอก รวมไปถึงการแฝงไว้ซึ่งคติสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงมาจากวัฒนธรรมความเชื่อของชาวไทย ที่ได้มีปรากฏอยู่ในการออกแบบอย่างแยบยล โยโซ่ ชิบาตะ (Yozo Shibata) สถาปนิกชาวญี่ปุ่นผู้ออกแบบโรงแรมดุสิตธานี ได้ผสมผสานความเป็นไทยในหลากหลายมิติ ทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรม คติความเชื่อ และวัฒนธรรมค่านิยม ออกมาเป็นสถาปัตยกรรมแบบmodern architecture ของเมืองไทยในยุคนั้น นอกจากได้แรงบันดาลใจจากพระปรางค์วัดอรุณฯแล้ว แนวคิดการออกแบบในแง่ความทันสมัยเป็นสากลนั้น สถาปนิกได้เชื่อมโยงเข้ากับชื่อ “ดุสิตธานี” ซึ่งเป็นเมืองจำลองประชาธิปไตยที่รัชกาลที่ 6 ทรงสร้างขึ้น ส่วนในแง่ความเป็นไทย คือการจำลองสวรรค์ชั้นดุสิตมาสู่งานออกแบบ ก่อนลงพื้นที่ คิดว่าสถาปนิกคงออกแบบโดยนำองค์ประกอบศิลปะไทยและสถาปัตยกรรมไทยมาดัดแปลงให้ทันสมัยและเรียบง่ายสำหรับยุค 50 ปีที่แล้ว แต่หลังจากเข้าไปสำรวจอย่างละเอียด พบว่า มีคติสัญลักษณ์และความเชื่อซ่อนอยู่ในงานออกแบบมากมาย รวมถึงจำนวนตัวเลขและการแทนค่าเพื่อสื่อความหมายเชิญสัญลักษณ์ในการออกแบบหลายส่วน ได้แก่ เริ่มจากเลข 3 หมายถึง ไตรภูมิ เป็นแนวคิดในการแบ่งอาคารเป็น 3 ส่วนได้แก่ ส่วนฐานอาคาร ส่วนตัวอาคาร และส่วนยอดอาคาร โดยส่วนฐานอาคารหรือโพเดียมเปรียบเสมือนโลกบาดาล พบลักษณะของฐานบัว ใบบัว และกลีบบัวอยู่ในงานฝ้าเพดานของล็อบบี้ ในขณะที่ส่วนอาคารที่เหนือจากล็อบบี้ จะมองเห็นทาวเวอร์ จำนวน 16 ชั้น หมายถึง 16 ชั้นฟ้าตามความเชื่อไทย ส่วนยอดหลังคามี 3 ชั้น ซึ่งบริเวณอาคารส่วนนี้มีรูปลักษณ์คล้ายส่วนยอดของพระปรางค์ โดยยอดแหลมสีทองหมายถึงส่วนของพระปรางค์ หรือนภศูลในขณะที่เลข 6 นอกจากจะอนุมานหมายถึง รัชกาลที่ 6 แล้ว เลข 6 ยังถูกนำมาใช้เป็นเรขาคณิตหลักในการถ่ายทอดแนวคิดสู่การออกแบบทั้งโครงการ ไม่ว่าจะเป็น ผังตึกหลักหรือเมนทาวเวอร์ที่เป็นสามเหลี่ยม ซึ่งเมื่อตัดมุมจะกลายเป็นหกเหลี่ยมด้านไม่เท่า หรือแผนผังแบบรวงผึ้งรูปหกเหลี่ยมของโพเดียมและฝ้าเพดาน ส่วนล็อบบี้ หรือผังของสระว่ายน้ำรูปหกเหลี่ยม หรือผังของกรอบอาคารล้อมสวนรูปหกเหลี่ยม เป็นต้น ส่วนเลข 36 หมายถึง ไตรภูมิ 36 ชั้น (16 ชั้นฟ้า 15 ชั้นดิน อบายภูมิ 4 มนุษย์โลก 1) ซึ่งพบเลข 36 ในจำนวนดอกประจำยามที่ซุ้มผนังภายนอกอาคาร หรือจำนวนหลังคาจั่วของห้องพักที่อยู่รอบสวนของโรงแรมซึ่งการย่อมุมไม้ 36 ซึ่งเป็นโครงสร้างของพระปรางค์วัดอรุณฯ อันเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบโรงแรม คือคำตอบที่คลี่คลายมาสู่การใช้จำนวนตัวเลขต่างๆ ในการออกแบบ โดยเลข 3 และ 6 เมื่อบวกกันได้ 9 ยังเป็นตัวเลขมงคลที่ ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งโรงแรมชอบอีกด้วยทั้งหมดนี้ความน่าสนใจคือ เป็นการตรวจสอบระหว่างความบังเอิญและความตั้งใจ เนื่องจากสถาปนิกผู้ออกแบบเสียชีวิตแล้ว”
ด้าน สมเกียรติ โล่ห์จินดาพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด กล่าวว่า พื้นที่ 23 ไร่ แห่งนี้จะประกอบด้วยกลุ่มอาคารสูง 3 อาคาร เป็นการออกแบบประโยชน์ใช้สอยในลักษณะมิกซ์ยูส ซึ่งเป็นไปตามศักยภาพของทำเลที่ตั้ง โดยประกอบด้วยโรงแรม ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน และอาคารที่พักอาศัย ภาพรวมของโครงการทั้งหมดยังคงเจตนารมณ์ดั้งเดิมของการก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานี คือการออกแบบสถาปัตยกรรมระดับไอคอนิก โดยนอกจากรูปทรงและรายละเอียดภายในอาคารแล้ว กลุ่มอาคารสูงอันได้แก่ โรงแรมดุสิตธานีกรุงเทพฯ จะเป็นอาคารสีทอง เซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส จะเป็นอาคารสีเทา และดุสิตเรสซิเดนเซส จะเป็นอาคารสีพิงค์โกลด์ เปรียบเสมือนอัญมณีสามกษัตริย์ ณ ใจกลางแยกพระราม 4-สีลม ซึ่งเมื่อมองจากทางอากาศ โครงการ “ดุสิต เซ็นทรัลพาร์ค” จะโดดเด่นไม่กลืนไปกับหมู่อาคารอื่นๆ โครงสร้างสถาปัตยกรรมของโรงแรมดุสิตธานีใหม่ จะยังคงล้อไปกับตึกเดิมซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนฐานคือล็อบบี้ ห้องอาหาร และห้องนภาลัยบอลรูมส่วนตัวอาคารคือห้องพักจำนวน 259 ห้องจากเดิม 510 ห้อง และส่วนยอดเป็นรูฟท็อปบาร์ และยอดแหลมสีทองอันเป็นเอกลักษณ์ของโรงแรมดุสิตธานี ออกแบบในรูปทรงเดิมทุกประการ แต่ขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อให้มีสัดส่วนเหมาะสมกับอาคารที่ใหญ่กว่าเดิม โดยยอดเสาเดิมจะถูกติดตั้งไว้ภายใน แล้วนำยอดเสาใหม่ครอบลงไปในเวลาค่ำเมื่อเปิดไฟ จะมองเห็นเสาเดิมที่อยู่ด้านใน”
การออกแบบสถาปัตยกรรมที่เลือกใช้รูปแบบ Iconic
การนำองค์ประกอบศิลปะไทยและสถาปัตยกรรมไทยมาใช้ในการออกแบบ
ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ไปเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2562 โดยโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ จะสร้างเสร็จและเปิดใช้เป็นอาคารแรกในปี 2566 เอกลักษณ์และความสง่างามดั้งเดิมจะยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการนำของเดิมมาใช้ และการตีความแล้วออกแบบใหม่ให้ร่วมสมัย ซึ่งนอกจากจะผสานอยู่ในทุกรายละเอียดของอาคารใหม่แล้ว เรื่องราวที่เป็นเสมือนบันทึกหน้าหนึ่งของวงการโรงแรมและวงการสถาปัตยกรรมเมืองไทย จะจัดทำเป็น Heritage Floor โดยนำรายละเอียดการออกแบบทั้งหมดที่มหาวิทยาลัยศิลปากรทำงานวิจัย ถอดรื้อ และเก็บหลักฐานไว้ก่อนทุบอาคาร มาจัดทำเป็นชั้นนิทรรศการถาวรเพื่อการศึกษาต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี