มหาวิทยาลัยศิลปากร นำโดย ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมด้วยอาจารย์ บุคลากรและนักศึกษาทั้งศิษย์เก่าและปัจจุบัน เข้าร่วมในพิธีรำลึกถึง ศ.ศิลป์ พีระศรี เนื่องในวันครบรอบ 128 ปี ศ.ศิลป์ พีระศรี โดยได้รับเกียรติจาก ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธี ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ เมื่อวันที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมาโดยภายในงานประกอบด้วยการทำบุญตักบาตร กิจกรรมร่วมวางช่อดอกไม้ ณ ลานอนุสาวรีย์ ศ.ศิลป์ พีระศรี เคารพอัฐิ ศ.ศิลป์ พีระศรี ณ พิพิธภัณฑ์ ศ.ศิลป์ พีระศรี จากนั้นกิจกรรมแสดงปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 25 พิธีมอบเหรียญที่ระลึก และกิจกรรมมอบเหรียญรางวัลศิลป์ พีระศรี นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดง 3 นิทรรศการจาก 3 คณะ ได้แก่ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ครั้งที่ 37 เรื่อง “ปรับตัวเพื่ออยู่รอด : Surviving” ณ บริเวณหอศิลป์ PSG Art Gallery ของคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ นิทรรศการจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เรื่อง “Collective Adaptation” ณ หอศิลปะสถาปัตยกรรมพระพรหมพิจิตร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และปิดท้ายด้วยนิทรรศการผลงานสร้างสรรค์ของคณาจารย์จากคณะมัณฑนศิลป์ ณ หอศิลปะและการออกแบบ เพื่อให้บุคคลภายนอกทั่วไปและนักศึกษาสามารถเข้าชมฟรีได้ตลอดทั้งวัน ก่อนที่จะร่วมกันร้องเพลงซานตาลูเซียและจุดเทียนโดยพร้อมเพรียงกันเพื่อเป็นการแสดงออกในการรำลึกถึง ศ.ศิลป์ พีระศรี
ศ.ศิลป์ พีระศรี เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 เดิมชื่อคอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) ชาวอิตาลีสัญชาติไทย เป็นประติมากรจากเมืองฟลอเรนซ์ที่เข้ามารับราชการในประเทศไทยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยถือเป็นปูชนียบุคคลคนหนึ่งของไทยที่ได้สร้างคุณูปการในทางศิลปะและมีผลงานที่เป็นที่กล่าวขานจนเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งและอาจารย์สอนวิชาศิลปะที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งภายหลังได้รับการยกฐานะให้เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัย มีความรักใคร่ ห่วงใยและปรารถนาดีต่อลูกศิษย์อยู่ตลอดจนเป็นที่รักและนับถือทั้งในหมู่ศิษย์และอาจารย์ด้วยกัน เขายังเป็นผู้วางรากฐานที่เข้มแข็งให้แก่วงการศิลปะไทยสมัยใหม่จากการที่ได้พร่ำสอนและผลักดันลูกศิษย์ให้ได้มีความรู้ความสามารถในวิชาศิลปะทั้งงานจิตรกรรมและงานช่าง มีจุดประสงค์ให้คนไทยมีความรู้ความเข้าใจในศิลปะและสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะได้ด้วยความสามารถของบุคลากรของตนเอง การก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรจึงเปรียบเสมือนการหว่านเมล็ดพันธุ์ให้แก่คนไทยเพื่อที่จะออกไปสร้างศิลปะเพื่อแผ่นดินของตน และถึงแม้จะริเริ่มรากฐานของความรู้ด้านศิลปะตะวันตกในประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันเขาได้ศึกษาศิลปะไทยอย่างลึกซึ้ง เนื่องจากต้องการให้คนไทยรักษาความงามของศิลปะไทยเอาไว้ จึงได้เกิดการสร้างลูกศิษย์ที่มีความรู้ทั้งงานศิลปะตะวันตกและศิลปะไทยออกไปเป็นกำลังสำคัญให้แก่วงการศิลปะไทยเป็นจำนวนมาก และเกิดรูปแบบงานศิลปะไทยสมัยใหม่ในที่สุด
ด้วยคุณูปการนี้ ศ.ศิลป์ พีระศรี จึงได้รับการยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคลของมหาวิทยาลัยศิลปากรและของประเทศไทย โดยเฉพาะในงานประติมากรรมที่ได้มีผลงานที่โดดเด่นมากมายที่สร้างไว้แก่ประเทศไทย ได้แก่ พระพุทธรูปประธานที่พุทธมณฑล, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และรวมไปถึง พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่วงเวียนใหญ่,พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และพระบรมราชานุสาวรีย์ของกษัตริย์ไทยอีกหลายพระองค์ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ศ.ศิลป์ จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทยและเป็นบิดาแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยในวันที่15 กันยายนของทุกปีจะถือเป็นวันศิลป์ พีระศรี ซึ่งมหาวิทยาลัยจะจัดงานรำลึกขึ้นทุกปีเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของ ศ.ศิลป์ ที่มีต่อมหาวิทยาลัยและประเทศไทยหลายประการ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี