สืบเนื่องจากวันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี ที่ถือให้เป็นวันสะเก็ดเงินโลก (World Psoriasis Day) นั้น ในปีนี้ทางสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ต่างได้จัดกิจกรรม “วันสะเก็ดเงินโลก World Psoriasis Day” เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) ซึ่งมีอาการของโรคเด่นบริเวณผิวหนัง แต่ปัจจุบันมีหลักฐานว่าเป็นโรคทางภูมิคุ้มกันและไม่ติดต่อ สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย โรคนี้ยังมีความสัมพันธ์กับโรคอื่นๆ อีกด้วย เช่น โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินโรคหัวใจและหลอดเลือด ตลอดจนสภาวะซึมเศร้าและปัญหาทางสุขภาพจิต เป็นต้น
อีกทั้ง กิจกรรมนี้ยังจัดขึ้นเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินมีความกล้าที่จะบอกเล่าเกี่ยวกับอาการนอกเหนือจากบริเวณผิวหนังของโรคที่ตนต้องเผชิญให้กับแพทย์ผู้รักษามากขึ้นผ่านแคมเปญวันสะเก็ดเงินโลกในปีนี้ คือ “BeInform” เพื่อประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเองในการรักษาให้ตรงจุดและครอบคลุม อันจะช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคร่วมและให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ศาสตราจารย์คลินิก แพทย์หญิงณัฏฐา รัชตะนาวิน อาจารย์ประจำสาขาวิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคที่มีอาการอักเสบเรื้อรังของผิวหนัง ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ในปัจจุบันอุบัติการณ์ของโรคสะเก็ดเงินในประเทศไทย กำลังมีการสำรวจในประชากรทั่วไป แต่พบได้เป็นอันดับที่ 4-5 ในคลินิกผิวหนังในโรงเรียนแพทย์และศูนย์การแพทย์ ของกระทรวงสาธารณสุข และในด้านการแพทย์เองก็อยู่ในระหว่างการศึกษาถึงสาเหตุของโรคที่แท้จริงว่ามาจากสาเหตุใดผื่นสะเก็ดเงินเกิดจากการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ผิวหนังที่มีการแบ่งตัวเร็วกว่าปกติประมาณ 5 เท่า ชึ่งเกิดจากการกระตุ้นของสารเคมีในเซลล์เม็ดเลือดขาว ที่เรียกว่า ลิมโฟไซต์ (Lymphocytes) ชนิดเซลล์ที (T-Cell) ทำให้เกิดการอักเสบจนกลายเป็นผื่นขนาดใหญ่ตามร่างกาย ลักษณะผื่นนูนแดง มีสะเก็ดสีขาวพบได้ทั่วร่างกาย พบบ่อยบริเวณหนังศีรษะ ข้อศอก หัวเข่า หรือเล็บบางครั้งพบที่อวัยวะเพศ และพบประวัติในครอบครัวประมาณร้อยละ 30 นอกจากนี้ อีกประการที่สำคัญคือ โรคสะเก็ดเงินไม่ได้เป็นโรคที่มีอาการทางด้านผิวหนังเท่านั้น แต่ยังมีความสัมพันธ์กับโรคร่วมอื่นๆ อาทิ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงภาวะซึมเศร้าและปัญหาทางด้านจิตใจ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การให้ความรู้แก่ ผู้ป่วย ญาติและประชาชนทั่วไปจะช่วยเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วยมีจิตใจที่เข้มแข็ง มีสติในการเผชิญหน้ากับสิ่งรบกวนทางจิตใจ จะช่วยลดการเกิดพฤติกรรมการแยกตัวออกจากสังคม ลดความรู้สึกหดหู่ การขาดความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากสภาพร่างกายภายนอกอันเป็นผลจากโรค และสิ่งสำคัญที่สุดคือกำลังใจจากบุคคลใกล้ชิดถือเป็นยาขนานเอกในการช่วยเยียวยารักษาโรคสะเก็ดเงินให้มีอาการดีขึ้น และดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
แพทย์หญิงพู่กลิ่น ตรีสุโกศล รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขึ้นชื่อว่าโรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ทางการแพทย์ยังคงไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ตามที่ผู้ป่วยหลายท่านนั้น ปรารถนา การรักษาจึงเป็นในแบบควบคุมอาการเพื่อป้องกันการกำเริบของโรค อีกทั้งสิ่งที่ทางการแพทย์ให้ความสำคัญอีกประการคือ ปัจจุบันยังมีผู้ป่วยอีกหลายท่านยังคงไม่ทราบว่า แท้จริงแล้วโรคสะเก็ดเงินไม่ได้เป็นโรคที่มีอาการทางด้านผิวหนังเท่านั้น แต่ยังมีความสัมพันธ์กับโรคอื่นๆ และปัญหาทางด้านจิตใจที่ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะซึมเศร้าได้ จนอาจนำไปสู่การเกิดอุบัติการณ์ของโรคสะเก็ดเงิน เพราะฉะนั้นการเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่คนในสังคมผ่านโครงการ “วันสะเก็ดเงินโลก World Psoriasis Day” นับว่าเป็นโอกาสอันดีให้โรคสะเก็ดเงินอยู่ในความสนใจและทำความรู้จักโรคได้อย่างเข้าใจยิ่งขึ้น
ส่วนแคมเปญ “Be Informed” เป็นแคมเปญประจำปีนี้ เพื่อมุ่งหวังในการต่อยอดการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วย ผ่านการส่งเสริมให้ผู้ป่วยบอกเล่าถึงอาการต่างๆ แม้ว่าจะเป็นอาการนอกเหนือจากผิวหนังให้แพทย์รับรู้ เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยมีประสิทธิภาพและตรงจุดมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี การดูแลตนเองอย่างเหมาะสมก็จะสามารถช่วยควบคุมอาการของโรคให้สงบได้โดยแนะให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ ได้แก่ ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ การสูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ ความอ้วน รวมถึงยาบางชนิดที่สามารถกระตุ้นให้โรคกำเริบได้ นอกจากนี้ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงหรือการติดเชื้อ หรือโรคหวัด ก็อาจทำให้ผู้ป่วยบางรายเกิดผื่นเห่อขึ้นได้ในขณะเดียวกัน ขอแนะนำให้ผู้ป่วยติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรย้ายหรือเปลี่ยนแพทย์ผู้ทำการรักษาไปเรื่อยๆ เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาให้ตรงจุดและติดตามอาการอย่างต่อเนื่องและใช้ระยะเวลานาน
ทั้งนี้ การดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินอย่างเหมาะสม จะเป็นการควบคุมอาการของโรคไม่ให้รุนแรง และยังทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติได้เร็วยิ่งขึ้น โดยมีเคล็ดลับสี่ประการที่แนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ดังนี้ 1.เข้าใจโรคสะเก็ดเงิน ผู้ป่วยจำเป็นต้องรู้จักและเข้าใจโรคสะเก็ดเงินอย่างถูกต้อง เพื่อสามารถดูแลและรักษาตนเองได้อย่างเหมาะสมต่อไป 2.ดูแลร่างกายและจิตใจอย่างเคร่งครัด ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ 3.หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น การแกะเกา การปล่อยให้ผิวหนังแห้งขุย การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา เป็นต้น 4.สังเกตและป้องกันตนเองจากภาวะโรคแทรกซ้อน กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณข้อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อให้ทำการวินิจฉัยและรักษาอาการที่อาจเกิดจากโรคข้อเสื่อมอักเสบ หรือผู้ป่วยบางรายที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป ยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนไข้ที่มีน้ำหนักในเกณฑ์ปกติ
ส่วนแนวทางการรักษานั้นในปัจจุบันแม้จะยังไม่สามารถรักษาให้หายขาด การรักษาเป็นไปเพื่อควบคุมอาการเท่านั้น โดยวิธีการรักษาส่วนใหญ่จะเป็นยารูปแบบยาทา ยารับประทานและการฉายแสง แต่ล่าสุดได้มีนวัตกรรมในการรักษาที่ตรงจุด (Treat To Target) ในรูปแบบยาฉีด เป็นการรักษาแบบพุ่งเป้าที่ให้ผลการรักษามากกว่าผิวกายให้เรียบเนียนอีกด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี