ด้วยสำนึกรักบ้านเกิดและชื่นชอบผ้าไหมที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนตัวเอง ทำให้หญิงแกร่งแห่งเมืองดอกบัว อุบลราชธานี “วิยะดา อุนนะนันทน์” ก่อตั้งแบรนด์ผ้าไหม “จันทร์หอม” ธุรกิจเพื่อสังคม ที่เธอทำแล้วมีความสุข ชุมชนแข็งแรง สร้างรายได้แบบยั่งยืนจากภูมิปัญญาดั้งเดิม
วิยะดา เล่าว่า เธอใช้เวลา 5 ปี ในการอุทิศทั้งแรงกายแรงใจ เพื่อปลุกปั้นแบรนด์จันทร์หอมขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือสังคม หลังจากที่ได้โบกมือลาจากงานประจำที่เป็นพนักงานธนาคาร แล้วหันมาเอาดีทางด้านผ้าไหม ซึ่งเป็นความชอบส่วนตัวมานาน ถึงขั้นการเก็บสะสมไว้พอสมควร และมองเป็นว่าเป็นอาชีพที่ช่วยชาวบ้านได้มากมาย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ต้องอยู่บ้าน ผู้สูงอายุ และได้กอบกู้ รักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมไม่ให้สูญหาย
“ตัวเองมาถึงจุดหนึ่งที่คิดว่า ถ้าอยู่ใช้เงินไปเรื่อยๆ ก็สบายแล้ว แต่เรามาถามตัวเองว่า ได้ทำอะไรให้แผ่นดินนี้ อยากทำอะไรตอบแทนแผ่นดินเกิดก็ได้คำตอบว่า อยากอนุรักษ์ผ้าไหมอุบล ไม่ให้สูญหายไป”
จากความชอบส่วนตัวที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยคุณปู่คุณย่า ปลูกฝังให้เธอรู้จักกับผ้าไหมมาตั้งแต่เด็กๆ พอมาถึงรุ่นคุณแม่ และช่วงที่ต้องมาทำงาน ก็ไม่มีใครสืบทอด จนมาถึงเวลาที่เธอตั้งลุกขึ้นมาอีกครั้ง วิยะดา ได้ดึงเอาชุมชนกว่า 70 ครัวเรือน
เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตผ้าไหมจำหน่ายผ่านแบรนด์ “จันทร์หอม” ซึ่งจุดเด่นคือ ลวดลายการออกแบบ กระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ จะมีความเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นของจังหวัดอุบลราชธานี
“งานเน้นคุณภาพจะผลิตลายละ 1 ผืนเท่านั้นที่เป็นเอกลักษณ์ของอุบลผ้าลายโบราณ เรียกได้ว่าใส่ได้แบบสบายใจไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือนแน่นอน เช่น เราส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมด้วยการนำลายผาแต้ม สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในอุบลราชธานี มาเป็นลายทอผ้าไหม เพื่อเอาใจนักสะสม นอกจากนี้ ลวดลายต่างๆ จะเป็นคล้ายกับผ้าที่สตรีชั้นสูง เจ้าเมืองอุบลราชธานีสวมใส่ในสมัยก่อน รัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน และสร้างสรรค์ลายจากจินตนาการ ทำให้เป็นเอกลักษณ์อยากทำให้แบรนด์ผ้าไหมอุบลราชธานี ให้เป็นจดจำของคนไทยมากยิ่งขึ้น”
วิยะดา บอกว่า ไหมแบรนด์จันทร์หอม ราคาเริ่ม 2,000 กว่าบาท ไปถึงหลักแสนบาท ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของลวดลายและการทอ และถือว่าไม่แพงเลยเมื่อเทียบกับกระบวนการทำที่ต้องใช้มือทุกขั้นตอน และบางผืนใช้เวลาทอนานถึง 7 เดือน
“สำหรับรูปแบบทำธุรกิจ จะเน้นการทำธุรกิจเพื่อชุมชน เพื่อศิลปวัฒนธรรม ปีหนึ่งไม่ได้เน้นว่าต้องได้กำไรเท่านั้นเท่านี้ ทำด้วยความสุข สิ่งที่รัก ตอบแทนชุมชนบ้านเกิดให้คนในชุมชนมีงาน มีรายได้หลัก หรือเป็นรายได้เสริมของครอบครัว ปัจจุบันช่องทางการจำหน่ายจะมี 2 ที่ คือ ร้านคุ้มจันทร์หอม เป็นเรือนไทยอีสานประยุกต์อยู่ที่ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีรวงค์ จังหวัดอุบลราชธานีและร้านไหมจันทร์หอม ในตัวเมือง นอกจากนี้ยังมีช่องทางออนไลน์ที่เจาะลูกค้าทั่วประเทศ ในชื่อ www.chanhomstore.com
แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะทำให้ตลาดอื่นๆ เงียบเหงาไป แต่ตลาดผ้าไหมกลับไม่ซบเซา เธอได้ใช้เวลาสร้าง “คุ้มจันทร์หอม” ให้เป็นศูนย์ถ่ายทอดการเรียนรู้วิถีการทอผ้าภูมิปัญญาท้องถิ่นและให้ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอน กระบวนการ หัตถกรรมพื้นบ้านการทอผ้าไหมเริ่มตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวไหม การย้อมไหม การทอและกระบวนการอื่นๆ ทุกขั้นตอนเพื่อให้ได้ผืนผ้าที่งดงามและได้คุณภาพมาตรฐาน ผู้สนใจสามารถนำไปต่อยอดในการสร้างงานสร้างอาชีพได้
ในอนาคต วิยะดา เธอวางแผนจะนำใยบัวมาต่อยอดทอเป็นผ้าไหม ให้เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมของเมืองอุบล ไม่เพียงเท่านี้ยังจะเข้าไปสอนอาชีพในเรือนจำ สร้างรายได้ให้คนกลุ่มนี้ได้ออกมามีชีวิตที่ดี
“หลายคนๆ มีภาระต้องเลี้ยงลูกหลานบ้างก็เจ็บป่วยต้องไปหาหมอ พอมีรายได้จากการทอผ้า ได้อยู่บ้าน คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างชัดเจนเช่น เคยเป็นเบาหวาน พอได้ทอผ้า ได้ออกกำลังกายมีรายได้ เบาหวานก็หาย ยายที่เคยเลี้ยงหลานพิการสองคน ต้องอยู่บ้าน ตอนนี้ก็มีรายได้มากพอ จนต้องให้ตาดูแลหลาน เพื่อตัวเองจะได้ทอผ้าได้อย่างเต็มที่ นี่คือความสุขในธุรกิจเรา”
ใครที่ชื่นชอบและหลงรักผ้าไหมไทย สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ แฟนเพจเฟซบุ๊คร้านไหมจันทร์หอม https://www.facebook.com/maichanhomubon/, เพจจันทร์หอม ChanHom https://www.facebook.com/pumpapoo199/ , เฟซบุ๊ค wiyada Unnanuntana และทางเว็บไซต์ www.chanhomstore.com
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี