บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ที่ปัจจุบันคือดินแดนของจีน พม่า เวียดนาม ลาว ไทย และกัมพูชา นั้น ได้มีมนุษย์หลากหลายชาติพันธุ์และต่างภาษารวมกันอยู่เป็นจำนวนมากและอยู่ร่วมกันอย่างซับซ้อน กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ได้กำเนิด ตั้งรกราก อพยพย้ายถิ่นฐาน และอยู่อาศัยกระจัดกระจายไปทั่วบริเวณประเทศลุ่มแม่น้ำโขงมาตั้งแต่ยังไม่มีการแบ่งประเทศ วันอาทิตย์นี้ขอตามรอยค้นหากลุ่มชาติพันธุ์ที่เหลืออยู่ในจีน แม้ว่าบางชนชาติได้ถูกกลืนกลายไปกับชนกลุ่มอื่นจนสูญหายไปแล้วก็ตาม ด้วยมนุษย์นั้นไม่ได้โดดเดี่ยวในการดำรงอยู่แต่มีวิถีที่เชื่อมโยงและติดต่อสัมพันธ์อย่างอิสระกับชนชาติอื่นมาตลอด ทั้งในฐานะผู้ถูกครอบครองและผู้ครอบครอง
เรื่องนี้ต้องยอมรับว่าพื้นที่สาธารณรัฐประชาชนจีนที่กว้างใหญ่ถึง ๙,๕๙๖,๙๖๐ ตารางกิโลเมตร นั้นมีประชากรที่ต่างชาติพันธุ์ไว้มากมายถึง ๕๖ กลุ่มชาติพันธุ์ด้วยกัน พบว่าประเทศจีนมีชาวฮั่น ๙๖.๓% และ ๔.๗% เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเรียกว่า ชนกลุ่มน้อยหมดยกเว้นชาวฮั่น หากสรุปแล้วชนชาติกลุ่มน้อยแต่ละกลุ่มล้วนมีประวัติความเป็นมายาวนานไม่น้อย ขอยกตัวอย่างชนชาติไตให้ใกล้ตัวก่อนว่า ไตหรือคนไทยนั้นอยู่ติดกับดินแดนสิบสองปันนามาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑ แล้ว มีชื่อเรียกตัวเองหลายชื่อ เช่น ไต่เล่อ (傣仂) ไต่หย่า(傣雅) ไต่น่า (傣那) ไต่เปิง (傣绷) ในสมัยฮั่นและจิ้นเรียกชนกลุ่มนี้ว่าเตียนเย่ว (滇越) ต่าน(掸) ซ่าน(擅Shán) เหลียว (僚)และจิวเหลียว (鸠僚) ในสมัยถังและซ่งเรียกชนกลุ่มนี้ว่าจินฉื่อ (金齿) เฮยฉื่อ (黑齿)หมางหมาน (茫蛮) ป๋ายอี (白衣)ปัจจุบันชาวไตอาศัยในเขตปกครองตนเองเผ่าไตสิบสองปันนาของมณฑลยูนนาน นอกจากนี้ยังมีไต (傣族) อยู่ในเขตปกครองตนเองเผ่าไตเผ่าจิ่งโปเมืองเต๋อหง (德宏景颇族自治区) ตำบลปกครองตนเองเผ่าไตเผ่าว้าเมืองเกิ่งหม่า (耿马傣族佤族自治县) ตำบลปกครองตนเองเผ่าไตเผ่าลาหู่เมืองเมิ่งเหลียน (孟连傣族拉祜族自治县) มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น ๑,๑๕๘,๙๘๙ คน พูดภาษาไต(傣语) เป็นภาษาในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต(汉藏语系) สาขาภาษาจ้วงต้ง(壮侗语族) แขนงภาษาจ้วงไต (壮傣语支) ชนเผ่าไตมีอักขระอักษรที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น อีกชนชาติหนึ่งคือป๋ายหรือไป๋ (白族) ที่ตั้งถิ่นที่อยู่มาตั้งแต่ยุคหินใหม่ มีถิ่นกำเนิด อยู่บริเวณเมืองเฮ่อร์ไห่ (洱海) อาศัยอยู่ในถ้ำ ปัจจุบันชาวป๋ายอาศัยอยู่บริเวณภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน คือ เมืองต้าหลี่มณฑลยูนนานและบริเวณเมืองลี่เจียง(丽江) ปี้เจียง (碧江) ป่าวซาน(保山) หนานหัว (南华) หยวนเจียง (元江) คุนหมิง (昆明) อันหนิง(安宁) และในเขตอำเภอปี้เจี๋ยของเมืองกุ้ยโจว (贵州毕节) อำเภอเหลียงซานของมณฑลเสฉวน (四川凉山)) และชนชาติน่าซี (纳西族) บรรพบุรุษของชาวน่าซีมีความใกล้ชิดทางชาติพันธุ์ กับชนกลุ่มน้อยที่มีชื่อเรียกในสมัยฮั่นว่า “เหมาหนิวอี๋” (牦牛夷) และเรียกในสมัยจิ้นว่า “หมัวซาอี๋” (摩沙夷) เรียก ในสมัยถังว่า“หมัวเซียหมาน” (磨些蛮) ชาวเผ่าน่าซีมีถิ่นที่อยู่ในอำเภอปกครองตนเองเผ่าน่าซีเมืองลี่เจียง ของมณฑลยูนนาน (云南丽江纳西族自治县) และในอำเภอเหยียนหยวน (盐源) เหยียนเปียน(盐边) มู่หลี่ (木里) ของมณฑลเสฉวนและในอำเภอหมางคัง (茫康) ของทิเบตนั้นก็มีชาวเผ่าน่าซีอาศัยอยู่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น ๓๐๘,๘๓๙ คน พูดภาษาน่าซี จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีนทิเบต สาขาทิเบตพม่า แขนงภาษาอี๋ ในอดีตมีอักษรภาพสื่อความหมายเรียกว่า “อักษรตงปา”(东巴文) และมีอักษรแบบแทนเสียงเรียกว่า “เกอปา” (哥巴文) แต่ใช้ไม่แพร่หลาย และสูญหายไปในที่สุด ปัจจุบันชาวน่าซีใช้ภาษาเขียนที่ประดิษฐ์ขึ้นจากอักษรลาตินสำหรับชนชาติกลุ่มน้อยนั้นพบว่าต่างมีความสัมพันธ์ลงมาทางตอนใต้ถึงสุวรรณภูมิด้วย ด้วยความหลากหลายทางกลุ่มชาติพันธุ์และภาษานั้นทำให้ลุ่มแม่น้ำโขงกลายเป็นแหล่งวัฒนธรรมสำคัญซึ่งเป็นเสาหลักหนึ่งในประชาคมอาเชียน ที่ต่างสับสนระหว่างต้นทุนวัฒนธรรมที่หลากหลายและแนวทางการอยู่ร่วมกันด้วยวัฒนธรรมเดียวในภูมิภาคนี้..
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี