ด้วยเมืองอนุราธปุระในศรีลังกานั้นมีภูมิสถานสำคัญที่มีอิทธิต่อพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิมาก อาทิตย์นี้จึงยังเดินตามรอยหาภูมิเมืองแห่งพระพุทธศาสนาในลังกาทวีปต่อไปยังวัดมหินทร์ตะเล ซึ่งเป็นสถานที่เริ่มต้นของการเผยแพร่พุทธศาสนาลังกาวงศ์ วัดมหินทร์ตะเลนี้เดิมคือสถานที่พระมหินทเถระได้พบกับพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะเป็นครั้งแรก ในอรรถกถาเรียกสถานที่นี้ว่า มิสสกบรรพตหรือเจติยบรรพต หมายถึงภูเขาแห่งเจดีย์ ซึ่งน่าจะถูกใช้เป็นต้นเรื่องของการสร้าง เจดีย์บรรพตหรือภูเขาทอง หลายแห่งในสุวรรณภูมิ ประวัติบรรพบุรุษของชาวสิงหลนั้นมีตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งอยู่ที่อินเดียนั้น พระธิดาของพระราชาองค์หนึ่งได้เสียกับสิงโตและมีลูกชายด้วยกัน ๓ คน ต่อมาลูกชายคนเล็กได้ฆ่าสิงโตผู้เป็นบิดาเสียจึงอพยพมาอยู่เกาะตอนใต้ของอินเดียในปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน เมื่อขึ้นมาบนเกาะนั้นลูกชายคนเล็กนี้(คือเจ้าชายวิชัยอีกตำนานหนึ่ง)ได้วางฝ่ามือบนทรายเมื่อยกมือขึ้นมาก็ปรากฏว่าฝ่ามือนั้นมีสีแดง จึงเรียกเกาะนี้ว่า ตัมพปัณณิทวีป แปลว่าเกาะของผู้มีฝ่ามือแดงจึงเป็นที่มาของการเขียนสีแดงไว้บนฝ่ามือ
คันธกุฎีที่เชิงเขา
เมื่อครั้งพระมหินทเถระและคณะได้เดินทางเป็นสมณฑูตเผยแพร่พระพุทธศาสนามาที่เกาะลังกานั้นมีความในอรรถกถาแสดงไว้ว่า เดิมนั้นมีพวกนาค ยักษ์ รากษส พากันอาศัยอยู่ซึ่งมี ก คำว่า นาค ยักษ์ รากษส นั้น น่าจะหมายกลุ่มคนที่อาศัยในที่ต่างๆคือ นาค อยู่ใกล้แม่น้ำ มหาสมุทร ยักษ์คือคนที่ดำรงชีพอยู่ป่าและรากษสคือพวกที่อยู่บนภูเขา เมื่อพุทธศาสนาเผยแพร่ในอินเดียนั้นเกาะลังกายังมีความเชื่อในการนับถือทะเลมหาสมุทร ต้นไม้ ภูเขา ดังนั้นเมื่อพระมหินทเถระ ได้แสดงธรรมครั้งแรกจึงแสดงเปตวัตถุ ชี้ให้เห็นกรรมชั่ว และผลของกรรมชั่วที่ทำให้เกิดเป็นเปรตลักษณะต่างๆ และวิมานวัตถุ อันเป็นผลของกรรมดี ที่ส่งผลให้เกิดเป็นเทพดาในวิมานต่างๆจนทำให้ชาวเกาะลังกาได้บรรลุธรรมคือรู้ความจริงด้วยเหตุผลเป็นอันมาก
ถ้ำสำหรับเป็นที่พักของพระเถระ
วัดมหินทร์ตะเลนี้ตั้งอยู่บนเขาสามารถขึ้นไปสะดวกด้วยมีบันไดหินทอดยาวและต้นลีลาวดี ( ภาษาสิงหลเรียกว่า ต้นอะละริยะ )เรียงรายอยู่สองข้างไปจนถึงลานกว้างที่ตั้งของวัดบนยอดเขาตลอดเส้นทางขึ้นนั้นมีโบราณสถาน พระธาตุเจดีย์ ตั้งอยู่เป็นระยะถึง ๓ ช่วงเช่น วิหารกรณียเมตตาสูตรที่มีการจารึกอักษรภาษาสิงหลอยู่บนแท่งศิลารอบวิหาร และลานศิลาภาษาพราหมียุคปลายก่อนใช้ภาษาสิงหล สุดทางขึ้นนั้นเป็นลานวัด อันมีอัมพัตถลเจดีย์ตั้งอยู่เดิมนั้นเป็นสถานที่พระมหินทเถระและพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะได้พบกันเป็นครั้งแรก พระเจดีย์องค์นี้บรรจุพระอัฐิธาตุของพระมหินทเถระ ผู้เป็นพระอรหันต์และเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ออกบวชเป็นสมณฑูตเผยแพร่พระพุทธศาสนามายังทวีปลังกาเมื่อ พ.ศ.๒๙๓หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วมากว่า ๒๐๐ ปี
พระธาตุเจดีย์ในสภาพแรกพบ
ดังนั้นวัดมหินทร์ตะเลจึงเป็นวัดพุทธศาสนาแห่งแรกและเป็นปูชนียสถานสำคัญอย่างที่เกิดขึ้นในเมืองสำคัญของไทยเช่นเดียวกับวัดในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรที่อยู่นอกตัวเมืองหรือเขตอรัญวาสีที่รู้จักกัน บนยอดเขาอีกด้านหนึ่งมีพระเจดีย์ใหญ่สำคัญประดิษฐานพระอุณาโลม (กระดูกหน้าผาก) ของพระพุทธเจ้าตั้งอยู่ ณที่นี้มองเห็นเขามอพระมหินทร์เถระอันเป็นสถานที่พระมหินทเถระและคณะพระสมณทูตจากอินเดียนัยว่าเหาะมาลงบนก้อนหินก้อนนี้ครั้งแรกแล้วจึงลงมาพบกับพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะที่บริเวณอัมพัตถลเจดีย์ด้านล่าง วัดนี้ได้ขุดพบพระบรมสารีริกธาตุขนาดเล็ก ๒ องค์และพระธาตุอัฐของพระมหินทร์เถระและพระเถระอื่นๆ พร้อมด้วยเครื่องทองคำ เป็นพระเจดีย์ พระพุทธรูป ขนาดเล็กและสถูปชั้นนอกทำด้วยหินศาลามีฝาปิด สถานที่แห่งนี้คือจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่พระมหินทเถระได้สถาปนาขึ้น พระมหินทร์ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราชและพระนางเวทิสาเทวี บุตรีแห่งมหาเศรษฐีชาวแคว้นอวันตี ซึ่งได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสืบพระศาสนาภายใต้การดูแลของพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระพระเภราจารย์นักปราชญ์ผู้ทำหน้าที่เป็นประธานสงฆ์สังคายนาพระธรรมวินัย ครั้งที่๓ ณ เมืองปาฏลีบุตร ต่อมาได้รับมอบหมายจากพระอุปัชฌาย์และพระราชบิดาให้เป็นสมณทูตนำคำสั่งสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเผยแผ่แลประดิษฐานที่ลังกาทวีปและตั้งวัดมหินตะเลขึ้น ต่อมาพุทธศาสนาลังกาวงศ์ได้เผยแพร่มายังเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองสุโขทัยตามหลังพระโสณเถระและพระอุตรเถระที่เดินทางเข้ามาก่อนแล้ว
โบราณสถาน-วิหารพระสูตรสำคัญ
หลักจารึกที่พบในวัดมหินทร์ตะเล
อักษรพราหมีบนแผ่นหิน
พระมินทเถระ ผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาในศรีลังกา
รูปปั้นพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ
รูปปั้้นพระมหินทเถระ ผู้ตั้้งพุทธศาสนาในลังกา
พระพุทธรูปศิลปะอมราวดี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี