โอกาสที่ไม่เท่าเทียมหรือความเหลื่อมล้ำ เป็นหนึ่งในรากฐานของปัญหาต่างๆ ในสังคมมาอย่างยาวนาน ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำนี้ คือ เด็ก และ เยาวชน ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคต ฟันเฟืองปัญหาเหล่านี้ หมุนวนซ้ำๆ ตามสภาพสังคมเศรษฐกิจ และช่องว่างระหว่างชนชั้นต่างๆอย่างไม่รู้จบในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ยูนิเซฟ หรือ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี 2489 เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 นับตั้งแต่นั้นเป็นเวลา 75 ปีแล้ว ยูนิเซฟยังคงมุ่งมั่นทำงานเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิเด็กทั่วโลก ช่วยให้พวกเขามีชีวิตอยู่รอดปลอดภัย ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ และมีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา ปัจจุบัน ยูนิเซฟดำเนินงานอยู่ใน 190 ประเทศ และเขตปกครองทั่วโลก
ปัจจุบัน ประเทศไทยพัฒนาไปอย่างมากและกลายเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง งานของยูนิเซฟได้เปลี่ยนไปโดยเน้นไปที่การจัดทำข้อมูลด้านเด็ก การเสริมสร้างระบบโครงสร้างด้านเด็กให้เข้มแข็ง ตลอดจนการทำแคมเปญรณรงค์สื่อสารในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก และให้แน่ใจว่ามีการจัดสรรทรัพยากรทั้งด้านงบประมาณและบุคลากรอย่างเพียงพอ หลายอย่างปรากฏผลออกมาอย่างเป็นรูปธรรมในรูปแบบของการพัฒนากฎหมายและนโยบายรัฐที่เอื้อต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเด็ก โดยมีเป้าหมายหลัก คือ “เด็กทุกคนในประเทศไทยได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน”
คิม คยองซัน ผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “ยูนิเซฟมุ่งมั่นทำงานเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ของเด็กๆ ในประเทศไทยมานานกว่า 7 ทศวรรษ และเราจะไม่หยุดนิ่ง ปัจจุบัน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นวิกฤตการณ์ที่หนักหนาสาหัสที่สุดในประวัติศาสตร์การทำงานของยูนิเซฟ จำนวนเด็กทั่วโลกที่ประสบปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความหิวโหย การออกจากโรงเรียน การถูกทำร้าย ความยากจน หรือถูกใช้แรงงานกำลังเพิ่มขึ้น ในขณะที่ตัวเลขของเด็กที่เข้าถึงการรักษาพยาบาล วัคซีน อาหาร และบริการที่จำเป็นกลับลดลง
ในประเทศไทยเอง แม้ความเป็นอยู่ของเด็กจะพัฒนาไปมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่โควิดกำลังส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดต่อกลุ่มเปราะบาง การปิดโรงเรียนส่งผลกระทบต่อเด็กหลายด้าน ไม่ใช่แค่การเรียนรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของสุขภาพ โภชนาการและการคุ้มครองเด็ก เด็กกลุ่มเปราะบางเข้าไม่ถึงการเรียนออนไลน์ ในขณะที่เยาวชนต่างก็เครียดและกังวลเกี่ยวกับอนาคตของตัวเอง ดังนั้นเราต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ในการแก้ปัญหาและสร้างอนาคตใหม่ให้กับเด็กๆ ซึ่งไม่สามารถใช้วิธีการเดิมๆได้อีก แต่เราต้องทำสิ่งใหม่ๆ โดยพร้อมจะยืดหยุ่นและปรับตัว ตลอดจนร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ๆ แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน”
แน่นอนว่า ยูนิเซฟไม่สามารถทำงานเพียงลำพัง แต่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน หนึ่งในกำลังสำคัญที่มาช่วยยูนิเซฟเข้าถึงผู้คนและสร้างการรับรู้เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ด้านเด็ก ก็คือ “Friends of UNICEF” นั่นคือ กลุ่มบุคคลที่มีชื่อเสียงที่ยูนิเซฟแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเพื่อมาร่วมเป็นกระบอกเสียงและปฏิบัติภารกิจในการส่งเสริมสิทธิเด็ก ซึ่งเหล่าผู้มีชื่อเสียงที่มาร่วมงานกับยูนิเซฟต่างมาด้วยใจและไม่เคยได้รับค่าจ้างหรือผลตอบแทนใดๆ และล่าสุดที่ได้รับการแต่งตั้งไปเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ก็คือ เป๊ก-ผลิตโชค อายนบุตร, มิน-พีชญา วัฒนามนตรี, และ แบมแบม-กันต์พิมุกต์ ภูวกุล
คิม คยองซัน ผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวถึง Friends of UNICEF ว่า “ยูนิเซฟต้องการพันธมิตรอย่างคุณเป๊ก คุณมินและคุณแบมแบมที่มีความตั้งใจเหมือนกับเราเพราะเราไม่สามารถทำทุกอย่างได้โดยลำพังเราหวังว่า Friends of UNICEF จะช่วยให้รณรงค์ให้สังคมเห็นความสำคัญของการลงทุนในเด็กมากขึ้น และเรามั่นใจว่าความตั้งใจจริงและความสามารถของ Friends of UNICEF ทุกท่านจะช่วยยูนิเซฟสร้างความรับรู้ด้านเด็กและเข้าถึงหัวใจของคนทั่วประเทศได้”