ต่อให้เวลาผ่านไปนาน 15 ปี เขาก็กลับมาวางไข่ในจุดที่เขาถือกำเนิด นี่คือความมหัศจรรย์ของเต่าทะเล และบัดนี้เต่าทะเลของเราก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ด้วยความรักและความเอาใจใส่ของคนไทยและกองทัพเรือไทย
ไลฟ์ วาไรตี สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย นำคุณไปสนทนาถึงภารกิจอนุบาล และบริบาลเต่าทะเลของไทยโดยทหารเรือไทย กับ น.อ.ปิยะศักดิ์ นิลนิมิตร ร.น. รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง
l ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ที่สัตหีบแห่งนี้อยู่ภายใต้การดูแลบริหารจัดการโดยหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยาน และรักษาฝั่ง กองทัพเรือ ใช่ไหมครับ
น.อ.ปิยะศักดิ์ : ถูกต้องครับ นับเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่บุคลากรทุกคนของหน่วยบัญชาการแห่งนี้ภาคภูมิใจมากครับ เพราะนี่คือการอนุรักษ์เต่าทะเลของไทยครับ
l ช่วยเล่าความเป็นมาที่ทหารเรือต้องรับภารกิจสำคัญนี้ให้ฟังด้วยครับว่ามีต้นกำเนิดมาอย่างไร
น.อ.ปิยะศักดิ์ : สืบเนื่องจากหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยาน และรักษาฝั่ง มีหน้าที่ดูแลเขตเกาะขาม ในสัตหีบมาตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว โดยทำหน้าที่มาตั้งแต่ พ.ศ. 2493 ในยุคนั้นมีเต่าทะเลไปวางไข่ที่เกาะขาม ซึ่งเมื่อผู้บังคับบัญชาหน่วยทราบเรื่องก็สั่งการให้กำลังพลดูแลเต่าให้ดี เพราะในขณะนั้นมีข่าวว่าจำนวนเต่าทะเลในบ้านเราลดจำนวนลงมาก จึงต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการดูแลเต่าทะเลที่เกาะขาม ซึ่งเป็นจุดวางไข่แห่งหนึ่งของเต่าทะเลในบ้านเรา จากนั้นกองทัพเรือก็เพิ่มบริเวณดูแลเต่าทะเลโดยนำเอาไข่เต่าจากเกาะขามมาอนุบาลที่นี่ ซึ่งต่อมาคือศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเล สัตหีบ ซึ่งที่นี่เปิดทำการมาตั้งแต่ปี 2533 แต่อันที่จริงกองทัพเรือยังมีศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเลอีกหลายแห่ง ซึ่งกระจายอยู่ตามกองทัพเรือภาคต่างๆ ของประเทศไทย
l ภารกิจหลักในการอนุรักษ์ที่ต้องปฏิบัติมีอะไรบ้างครับ
น.อ.ปิยะศักดิ์ : อันดับแรกคือการนำไข่เต่าทะเลมาฟักให้เป็นตัว แล้วเลี้ยงดูให้เขาเติบโตอย่างแข็งแรง ก่อนจะปล่อยเขาลงสู่ทะเล เพื่อให้ใช้ชีวิตจริงให้อยู่รอดปลอดภัย ย้อนหลังไปเมื่อ 40-50 ปีก่อน เรามีปัญหาเต่าทะเลถูกล่าอย่างมาก เพราะความเข้าใจผิดของคนบางกลุ่ม เช่น คนที่ชอบกินไข่เต่าทะเล และพวกที่ล่าเต่าทะเล เพื่อกินเนื้อ และเพื่อนำกระดองเต่าไปทำเครื่องประดับ หรือเอาเต่าทะเลไปสตัฟฟ์ไว้เป็นสิ่งประดับบ้าน ทั้งนี้ยังไม่นับถึงอันตรายจากธรรมชาติที่เกิดกับลูกเต่าและไข่เต่า เช่น ภัยจากนกที่ชอบกินไข่เต่า และตัวตะกวดที่ชอบกินไข่เต่า เป็นต้น นี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เต่าทะเลลดจำนวนจนใกล้สูญพันธุ์
เรื่องนี้ทราบถึงพระเนตรพระกรรณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระองค์ท่านรับสั่งให้ช่วยกันดูแลอนุรักษ์เต่าทะเล และทรงให้กองทัพเรือรับหน้าที่นี้ด้วย ซึ่งกองทัพเรือก็น้อมรับปฏิบัติด้วยความภาคภูมิใจตลอดมาย้อนกลับไปพูดถึงการฟักตัวตามธรรมชาติของเต่าจากไข่จนกลายเป็นตัวนั้น ต้องบอกว่ามีโอกาสน้อยมาก เนื่องจากมีภัยและศัตรูเยอะมาก เปอร์เซ็นต์การรอดไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ คือมีภัยจากนก ตะกวด มด และคน ส่วนลูกเต่าก็ยังมีศัตรูอีก เช่น ปลาใหญ่ นก และตะกวดเราจึงต้องดูแลให้เขาฟักเป็นตัวให้มากที่สุด แล้วอนุบาลให้เขาแข็งแรงก่อนจะปล่อยลงสู่ทะเล โดยต้องเลี้ยงดูเขาไว้จนอายุได้ 4 เดือน
l บริเวณทะเลที่ใดที่เต่านิยมไปไข่ครับ
น.อ.ปิยะศักดิ์ : ประเทศไทยเรามีพื้นน้ำทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ในส่วนของอ่าวไทยจะมีเต่ากระ และเต่าตนุเป็นหลัก พวกเขามักจะไปไข่ที่บริเวณเกาะขาม เกาะจาน และเกาะใกล้เคียง กองทัพเรือก็จะส่งกำลังพลไปดูแลอนุรักษ์ตามบริเวณเกาะต่างๆเพื่อให้ไข่ของเขาไม่ถูกรบกวน นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มากที่เต่าทะเลจะต้องกลับมาไข่ในจุดที่เขาเกิด ซึ่งเป็นไปตามวงจรชีวิตของเขา ต่อให้เขาจากไปจากจุดที่เขากำเนิดยาวนาน 15-20 ปี เขาก็จะกลับมาไข่ในที่ซึ่งเขาถือกำเนิด จุดวางไข่ของเต่าทะเลต้องเป็นบริเวณที่สะอาด สงบ น้ำบริสุทธิ์ หากบริเวณใดที่เขาเคยไปวางไข่ถูกรบกวนด้วยคนหรือสัตว์ หรือมีความไม่บริสุทธิ์อีกต่อไป เขาจะไม่วางไข่อีก ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องอนุรักษ์เกาะขามไว้ให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด เพื่อให้เขาวางไข่ บนเกาะขามเรามีศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเลด้วย แต่ไม่ใหญ่เท่าที่นี่ เมื่อเต่าขึ้นไปวางไข่แล้ว เราจะให้กำลังพลของเราที่ผ่านการฝึกอบรมเรื่องการอนุรักษ์เต่าเข้าไปเก็บไข่เต่ามาเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟัก โดยเราจะพยายามให้เขาฟักบนเกาะขาม ยกเว้นในบางกรณีที่เราต้องนำไข่เต่ามาดูแลในศูนย์อนุรักษ์ สัตหีบการดูแลเบื้องต้นบนเกาะขามคือ เมื่อเราทราบว่าเขาไข่ไว้ที่ใด เราก็จะหาตาข่ายไปล้อมบริเวณนั้นไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์อื่นเข้าไปกินไข่เต่า แล้วดูแลจนกว่าเขาฟักเป็นตัว แล้วจึงจะนำลูกเต่ามาอนุบาลที่ศูนย์อนุรักษ์เต่า สัตหีบ เพราะที่นี่จะมีสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเต่าทะเลปฏิบัติการอยู่ เราต้องดูแลให้เขาแข็งแรงและสมบูรณ์มากที่สุดจึงจะปล่อยเขากลับสู่ท้องทะเล เพื่อให้เขากลับไปสู่วงจรชีวิตของเขาอย่างสมบูรณ์ แล้วเราก็รอวันที่เขาจะกลับมาไข่ที่เกาะขาม และเกาะใกล้เคียงในอนาคต
l ที่ศูนย์อนุรักษ์เต่านี้ มีโรงพยาบาลสัตว์ด้วยใช่ไหมครับ
น.อ.ปิยะศักดิ์ : ใช่ครับ เรามีโรงพยาบาลสัตว์สำหรับสัตว์น้ำ และเต่าทะเล รวมถึงสัตว์ทะเลหายาก เช่น พะยูน โลมา เป็นต้นเรามีศูนย์ดูแลสัตว์ทะเลหายากด้วยครับ เพราะเราจะได้รับการร้องขอให้รักษาพยาบาลสัตว์ทะเลที่ได้รับบาดเจ็บด้วย เช่น โลมาบาดเจ็บ หรือพะยูนบาดเจ็บ ส่วนใหญ่จะบาดเจ็บจากอวนประมงเราจะรักษาจนกว่าเขาจะหายเป็นปกติแล้วปล่อยเขากลับท้องทะเลไปดังนั้นเมื่อชาวประมงได้พบสัตว์ทะเลหายากที่บาดเจ็บ ก็จะนำมาให้เรารักษา
l ศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเลแห่งนี้เปิดให้บริการอย่างไรครับ เปิดวันไหน ปิดวันไหนบ้างครับ
น.อ.ปิยะศักดิ์ : เปิดให้บริการทุกวันครับ และให้บริการฟรีด้วยครับ ในทุกวันจะมีผู้เข้ามาเยี่ยมชมเป็นประจำ แต่หากเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดราชการอื่นๆ ก็จะมีผู้เข้าชมมากกว่าวันทำงานครับ เราเปิดตั้งแต่ 08.00-17.00 นาฬิกา และเกือบทุกวันก็จะมีนักเรียนเข้าชมเป็นหมู่คณะ และยังมีหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนติดต่อขอพาหมู่คณะเข้าชมเป็นประจำด้วย ซึ่งหากมาชมเป็นหมู่คณะ เราจัดเตรียมวิทยากรพิเศษไว้บรรยายและนำชมด้วยครับ ขอให้ติดต่อมาล่วงหน้า โดยแจ้งไปที่ศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเล สัตหีบ
l ศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเลไม่ได้เก็บค่าเข้าชม และยังเปิดให้บริการทุกวันแบบนี้ ต้องใช้งบประมาณในการดูแลศูนย์มากน้อยแค่ไหนในแต่ละเดือนครับ
น.อ.ปิยะศักดิ์ : ค่าใช้จ่ายตกเฉลี่ยประมาณเดือนละ1 แสนบาทครับ ส่วนศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเลที่กระจายอยู่ตามกองทัพเรือภาคต่างๆ ก็ต้องใช้งบประมาณเฉลี่ยต่อเดือนลดหลั่นกันไปตามขนาดและภารกิจของแต่ละศูนย์ แต่สำหรับศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเล สัตหีบถือเป็นศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเลที่ใหญ่ที่สุดครับ
l เมื่อมีค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนสูงเช่นนี้ แล้วได้รับงบประมาณจากที่ไหนมาดำเนินการครับ เพราะไม่เก็บค่าเข้าชม ส่วนเงินบริจาคในแต่ละวันก็ไม่น่าจะมากพอกับค่าใช้จ่าย
น.อ.ปิยะศักดิ์ : งบประมาณหลักมาจากกองทัพเรือครับ และได้รับการสนับสนุนด้านอื่นๆ จากกรมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดีด้วยครับเช่น จาก ปตท.สผ. ที่กรุณาสร้างโรงเรือนสำหรับสร้างบ่อเพื่อการอนุบาลเต่าและสัตว์ทะเลหายาก รวมถึงการสนับสนุนจากพี่น้องประชาชนทั่วไปที่ตระหนักในคุณค่าของการร่วมอนุรักษ์เต่าทะเลให้อยู่คู่ทะเลไทย และแต่ละวันก็ได้รับบริจาคบ้าง แม้จะไม่มาก แต่ก็นับว่าได้รับน้ำใจจากผู้เข้ามาเยี่ยมชมตลอดเวลา นอกจากนี้ก็ยังพอมีรายได้จากร้านค้าสวัสดิการของสมาคมภริยาทหารเรือ และร้านจำหน่ายของที่ระลึกของศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเลด้วย
l ผู้เข้าชมที่มาเป็นหมู่คณะที่ได้ร่วมกิจกรรมปล่อยเต่ากลับคืนสู่ท้องทะเลต่างประทับใจกับการได้ปล่อยเต่า ทำให้มีคำถามว่า ทำอย่างไรจึงจะมีโอกาสได้ปล่อยเต่าทะเลครับ
น.อ.ปิยะศักดิ์ : อันดับแรกคือต้องติดต่อเข้าชมแบบหมู่คณะ และต้องมาในช่วงที่เรามีลูกเต่าที่พร้อมจะปล่อยลงทะเลครับ แต่เราก็จะต้องพิจารณาตามความเหมาะสมครับ เพราะเราไม่สามารถจัดเตรียมให้ปล่อยเต่าได้ทุกคณะ เนื่องจากเรามีลูกเต่าจำนวนจำกัดมาก ขออนุญาตเล่าให้ฟังว่าคนที่ได้มีโอกาสสัมผัสตัวลูกเต่าทะเลจะชอบมาก เพราะเขามีนิสัยน่ารัก เขาไม่กัด เขาดูเหมือนชอบเล่นกับคน ชอบให้คนเกาที่บริเวณใต้คอของเขา
l อาหารสำหรับเลี้ยงเต่าทะเลคืออะไรครับ
น.อ.ปิยะศักดิ์ : สำหรับลูกเต่าก็จะเป็นอาหารเม็ด ผสมผัก แต่ก็ขึ้นกับชนิดของเต่า บางชนิดกินเนื้อสัตว์คือปลา บางชนิดกินผักสำหรับเต่าตัวโตที่เราเลี้ยงไว้ในบ่อซึ่งหลายคนได้ชมกันแล้วนั้นส่วนใหญ่เราให้กินเนื้อปลา และกินผักด้วยครับ
l อยากจะฝากอะไรถึงผู้ปกครองที่จะพาลูกหลานมาชมเต่าทะเลในศูนย์อนุรักษ์แห่งนี้บ้างครับ และอยากฝากอะไรถึงผู้อ่านแนวหน้าที่มีใจกุศลที่ต้องการช่วยบริจาคบ้างครับ
น.อ.ปิยะศักดิ์ : สิ่งที่สำคัญข้อแรกคือขอเชิญชวนให้คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองช่วยกรุณาพาลูกหลานมาชมเต่าทะเล เพื่อช่วยปลูกฝังการเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์เต่าทะเล และเพื่อให้ลูกหลานมีทัศนคติที่ดีกับการอนุรักษ์สัตว์ และอนุรักษ์ธรรมชาติผมมั่นใจว่าเมื่อหนูๆ ลูกๆ หลานๆ มาเห็นเต่าทะเลแล้ว เขาจะเกิดความรักต่อสัตว์ทะเล และสัตว์ชนิดอื่นๆ ด้วย และจะหวงแหนสัตว์ทะเลของเรา แล้วเขาจะจดจำความประทับใจนี้ไปจนเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และเขาจะมีจิตใจเมตตากรุณา ส่วนผู้ใหญ่ใจดีทุกท่านนั้นผมก็ต้องขอเชิญชวนให้ไปเยี่ยมชมศูนย์อนุรักษ์เต่า สัตหีบ ครับและเมื่อท่านไปเยี่ยมชมแล้ว ท่านมีความประสงค์จะช่วยสนับสนุนกิจการของศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเล ก็ต้องกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูง ท่านสามารถสนับสนุนได้ทั้งอาหารสำหรับเต่า หรือจะช่วยปรับปรุงอาคารพื้นที่ของศูนย์อนุรักษ์ก็ยินดีครับ ขอเรียนว่าศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเลคือแหล่งเรียนรู้ชีวิตเต่าทะเล และสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์แห่งนี้ต้องการการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อร่วมกันอนุรักษ์เต่าทะเลให้อยู่คู่กับประเทศไทย และคู่ทะเลของโลกมนุษย์
คุณจะได้พบรายการดีที่ครบครันด้วยสาระและความรู้ รายการ ไลฟ์ วาไรตี ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 16.00-16.25 น. ทางโทรทัศน์ NBT กดหมายเลข 2 และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTubeไลฟ์ วาไรตี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี