เริ่มต้นขึ้นแล้วสำหรับการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว ปักกิ่ง 2022 ที่จีนเป็นเจ้าภาพ แต่ยุคนี้ กีฬาไม่ใช่แค่การกีฬาอีกต่อไป หากแต่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้จะมีกระแสเรียกร้องอย่างมากจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ที่ให้เหล่าผู้นำแยกการเมือง ออกจากการแข่งขันกีฬา ตั้งแต่โอลิมปิกฤดูร้อนที่ผ่านๆ มา แต่โอลิมปิกฤดูหนาว ปักกิ่ง 2022 กลับยิ่งแยกกันไม่ได้ เมื่อหลายประเทศ นำโดยสหรัฐฯ ได้ประกาศเดินหน้าคว่ำบาตรทางการทูตต่อการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวของจีน อ้างหลักสิทธิมนุษยชนที่ถูกล่วงล้ำอย่างรุนแรงต่อชาวอุยกูร์ ตามมาด้วยชาติพันธมิตรอีกหลายประเทศ
ล่าสุด อินเดีย เป็นชาติล่าสุดที่เพิ่งประกาศบอยคอตต์โอลิมปิกจีนในนาทีสุดท้าย ก่อนถึงพิธีเปิดการแข่งขันเพียงไม่กี่ชั่วโมง การตัดสินใจของอินเดียมีขึ้น หลังจากที่มีภาพของผู้บัญชาการทหารของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน หรือ PLA ฉี ฟา เป่า ซึ่งเป็นหนึ่งใน 1,200 คน ที่ได้ร่วมวิ่งคบเพลิงซึ่งก่อนหน้านี้ จีนประกาศยกย่อง ฉี ฟา เป่าในฐานะแกนนำในการร่วมต่อสู้กับกองทัพอินเดียบริเวณพรมแดนหิมาลัย เมื่อปี 2020 จนเป็นเหตุให้ทหารอินเดียเสียชีวิต 20 นาย และจีน 4 นาย ส่งผลให้อินเดียประกาศว่า เจ้าหน้าที่ทางการทูตระดับสูงในสถานเอกอัครราชทูตอินเดียในกรุงปักกิ่ง จะไม่เข้าร่วมทั้งในพิธีเปิดและพิธีปิดการแข่งขัน พร้อมกันนี้ สถานีโทรทัศน์ Doordarshanก็ประกาศว่าจะไม่แพร่ภาพพิธีเปิดและปิดด้วยเช่นกัน
โอลิมปิกฤดูหนาว.. สัญลักษณ์แห่งโลกที่แบ่งแยก
“รวมกันเพื่อร่วมแบ่งปันอนาคต”(Together for a shared future) คือมอตโตหลักของการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวของจีน เจ้าหน้าที่จัดการแข่งขันระบุว่า สโลแกนนี้หมายความว่ามนุษยชาติควรทำงานร่วมกันเพื่อความสมัครสมานสามัคคี เพื่อก้าวผ่านความยากลำบากต่างๆ เช่น โรคระบาด และเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ขณะที่สื่อทางการจีน รายงานว่า การแข่งขันนี้จะเป็นการทลายอุปสรรค และเป็นแสงส่องสว่างหนทางข้างหน้า แต่นักวิเคราะห์มองว่าไม่เป็นเช่นนั้น อีกทั้งมหกรรมกีฬานี้จะยิ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการแบ่งแยกของโลก ทั้งจากการเมืองและไวรัสอีกด้วย
เพราะนอกจากประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียแล้ว ก็ไม่มีผู้นำโลกจากชาติยักษ์ใหญ่ใด ที่จะเข้าร่วมในพิธีเปิดการแข่งขัน หลายคนยกเรื่องโรคระบาดขึ้นมาเป็นข้ออ้าง แต่ท้ายที่สุดเป็นไปด้วยแรงกดดันด้านสิทธิมนุษยชนต่อประเทศจีนนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงเฉพาะปักกิ่งโอลิมปิก 2022 นี้เท่านั้น หากแต่ย้อนกลับไปเมื่อปี 2008 ที่ปักกิ่งเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน เหล่าชาติตะวันตกในเวลานี้ก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับจีนด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีเรื่องความไม่สงบ และการประท้วงเป็นวงกว้างในทิเบต ทำให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนได้ออกมาเรียกร้องให้บอยคอตต์การแข่งขัน แต่ในขณะนั้น เจ้าหน้าที่่ชาติตะวันตกหลายคนยังเชื่อว่า การมีส่วนร่วมกับจีนอาจกระตุ้นให้จีนยอมรับระเบียบโลกที่นำโดยตะวันตก หรืออย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาการเพิ่มขึ้นของลัทธิต่อต้านโลกตะวันตกลงได้บ้าง โดยครั้งนั้น จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ผู้นำสหรัฐฯ และ นิโกลาส์ ซาร์โกซี ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้เข้าร่วมในพิธีเปิดด้วย
แต่จนถึงตอนนี้ ก็หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ นักวิเคราะห์มองว่า ความสัมพันธ์ของจีนกับชาติตะวันตกกลับขรุขระขึ้นเรื่อยๆ เมื่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิงขึ้นดำรงตำแหน่ง จีนได้ขับเคลื่อนลัทธิชาตินิยม และต้องการสร้างระเบียบโลกที่มีจีนเป็นศูนย์กลางเสียเอง
แน่นอนว่าทั่วโลกจะต้องจับต้องไปที่การแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว ปักกิ่ง 2022 ซึ่งเชื่อว่าจะถูกบดบังด้วยการแข่งขันที่ใหญ่กว่า นั่นคือ การแข่งขันระหว่างจีนและชาติตะวันตก ที่จะก้าวผ่านเกมฤดูหนาวนี้ไปในอนาคตร่วมกันได้หรือไม่?
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี