คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat School of Engineering) หรือ TSE ระดมอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19ผ่านโครงการ “ธรรมศาสตร์จิตอาสารับสาย 1330” เพื่อเพิ่มคู่สายผ่านสายด่วนของ สปสช. ช่วยแก้ปัญหาโทร.ไม่ติดหรือสายไม่ว่าง ซึ่งขณะนี้มีอาสาสมัครในเครือข่ายของ TSE ที่พร้อมช่วยเหลือทันทีกว่า 370 คน ที่ช่วยรับเรื่องและประสานงานข้อมูลผู้ป่วยให้กับ สปสช. เพื่อเตรียมเข้าสู่ระบบการรักษา โดยประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่อาสาสมัครในโครงการ “ธรรมศาสตร์จิตอาสารับสาย 1330” ในเครือข่ายของ TSE ได้ที่ สายด่วน 1330 กด 14เจ้าหน้าที่พร้อมรับเรื่องและส่งต่อไปยังสปสช. นอกจากนี้ ยังพร้อมส่งต่อ หน่วยบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสถานการณ์ฉุกเฉิน สำหรับงานบริการด้านสาธารณสุขที่ช่วยให้แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถดูแลผู้ติดเชื้อแบบไร้การสัมผัส เพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสผู้ติดโควิด-19 โดยตรง
นายวัชระ อมศิริ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat School of Engineering) หรือ TSE กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ค่อนข้างมาก ส่งผลให้ที่ผ่านมามีประชาชนที่ตรวจหาเชื้อและพบว่าติดโควิด-19 มีการโทรเข้ามาไปยังสายด่วน 1330 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำหรับประสานงานต่อไปยังโรงพยาบาลเพื่อรับผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษา ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีประชาชนโทรเข้ามาเพื่อขอความช่วยเหลือมากกว่า 40,000 สายต่อวัน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์ (Call Center) ไม่สามารถให้บริการได้อย่างทันถ่วงที เพราะมีสายเข้ามาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ประชาชนต้องรอสายนานจนเกินไป ดังนั้น TSE จึงได้หารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อระดมหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดย TSE ได้ดำเนินโครงการ “ธรรมศาสตร์จิตอาสารับสาย 1330”โดยเป็นการระดมอาสาสมัครจากกลุ่มนักวิทยุสมัครเล่น อาสาสมัครกู้ชีพ นักศึกษาอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ เพื่อเข้ามาช่วยรับสาย รับเรื่อง และส่งต่อเคสให้แก่ สปสช. แนวทางดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหากรณีโทรแล้วไม่ติด โทรแล้วสายไม่ว่าง รวมทั้งเป็นการแก้ปัญหาประชาชนได้รับความช่วยเหลือล่าช้า ทั้งนี้หากประชาชนที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 สามารถโทร 1330 กด 14เพื่อต่อสายเข้ามาหาอาสาสมัคร TSEได้ทันที
“หน้าที่หลักของอาสาสมัครในโครงการ “ธรรมศาสตร์จิตอาสารับสาย 1330” ผ่านสายด่วน 1330 กด 14 คือ การบริการข้อมูลสำหรับประชาชน และสามารถแจ้งผลตรวจ ATK เป็นบวก (ขึ้น 2 ขีด) หรือตรวจพบเชื้อโควิด-19 ข้อมูลทั้งหมดจะถูกประสานไปยัง สปสช. เพื่อดำเนินการจับคู่โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ รวมทั้งสถานพยาบาลทั่วไป ภายใต้สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป ซึ่ง TSE เชื่อมั่นว่าการระดมอาสาสมัครในครั้งนี้ จะช่วยให้การบริการผ่านสายด่วน 1330 มีความรวดเร็ว และคลายความกังวลให้กับประชาชนได้
ส่วนรูปแบบการทำงานของทีมอาสาสมัครในโครงการ “ธรรมศาสตร์จิตอาสารับสาย 1330” ผ่านสายด่วน 1330 กด 14 สามารถทำงานได้จากทุกพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องนั่งประจำอยู่กับที่เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือที่อยู่ในพื้นที่ไม่อับสัญญาณ และคอมพิวเตอร์สำหรับรับข้อมูลเบื้องต้น เพื่อส่งข้อมูลต่อให้เจ้าหน้าที่ สปสช. ประสานความช่วยเหลือต่อไป ซึ่งขณะนี้มีอาสาสมัครในโครงการดังกล่าวที่พร้อมให้บริการประชาชนแล้วกว่า 370 คน โดยส่วนใหญ่เป็นสมาชิกจากเครือข่ายผู้ใช้เครื่องส่งวิทยุสมัครเล่นและประชาชนทั่วไป ที่ผ่านการอบรมการรับเรื่องประสานงานและบริการข้อมูลจาก สปสช. มาแล้ว”
ทั้งนี้ ผู้ที่มีความประสงค์ในการเป็นอาสาสมัครให้บริการข้อมูลในโครงการ “ธรรมศาสตร์จิตอาสารับสาย 1330” ผ่านสายด่วน 1330 กด 14 ทาง TSE ได้เปิดช่องทางการแก่ผู้สนใจเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) สายด่วน 1330 สามารถแจ้งความประสงค์ ติดตามรายละเอียดการรับสมัครและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ Line Open Chat : https://line.me/ti/g2/T_Xpc0IICiVjLTVHyjZaRotDjoJkkDZ7wHuQoA?utm_source=invitation&utm_medium=link_copy&utm_campaign=default ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยไม่จำกัดจำนวน และเปิดกว้างสำหรับประชาชนทั่วไปจากทั่วประเทศ ซึ่งภายหลังจากที่ได้สมัครแล้ว TSE จะนำหมายเลขโทรศัพท์ของอาสาสมัคร ไปลงทะเบียนกับระบบของกับ สปสช. เพื่อทำการเช็คอินเปิดระบบให้แก่อาสาสมัคร และจะได้รับคู่มือสำหรับการปฏิบัติงานที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน โดยเมื่อมีผู้ติดต่อผ่านสายด่วน 1330 กด 14 ระบบจะทำการโอนสายไปยังอาสาสมัครได้ทันที
นายวัชระ กล่าวเพิ่มเติมว่านอกจากโครงการ “ธรรมศาสตร์จิตอาสารับสาย 1330” ขณะนี้ TSE ยังมี “หน่วยบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสถานการณ์ฉุกเฉิน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ โดยเทคโนโลยีดังกล่าวคือรถโมบายเคลื่อนที่ ซึ่งภายในติดตั้งระบบอินเตอร์เนตเพื่อการสื่อสาร ระบบการเชื่อมต่อไร้สาย และระบบเทคโนโลยีอื่นๆ ที่สามารถเข้าไปติดตั้งระบบให้แก่โรงพยาบาล หรือฮอสพิเทล (Hospitel) ได้ทันที โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะเน้นการทำงานแบบไร้การสัมผัส ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา การวินิจฉัย ลดความเหนื่อยล้าจากการสวมชุด PPE เป็นเวลานาน และช่วยให้ทีมแพทย์ใกล้ชิดกับผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ ด้วยระบบการติดตามอาการได้ทันทีโดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีดังกล่าวเคยนำไปใช้ในช่วงที่เปิด โรงพยาบาลสนามศาสตร์ แต่ขณะนี้โรงพยาบาลสนามปิดไปแล้ว ดังนั้น TSE มีความพร้อมจะส่งต่อเทคโนโลยีดังกล่าวไปยังโรงพยาบาลที่มีความประสงค์ และยินดีที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าว แก่หน่วยงานที่สนใจอีกด้วย ซึ่งปัจจุบัน TSE มีหลักสูตรด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวกับการวางระบบสารสนเทศและโทรคมนาคมที่ทันสมัย ได้แก่ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ และหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Soft-en) ในโครงการหลักสูตรนวัตกรรมทางวิศวกรรมศาสตร์ (Programme of Innovative Engineering)หรือ TU-PINE ที่กำลังเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ในรอบที่ 2 โควตา ผู้ที่สนใจสามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ www.engr.tu.ac.th และ Facebook ของ TSE ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี