การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ตลอด 2 ปีกว่าทำให้เราได้ยินศัพท์ใหม่ๆ หลายคำเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสที่ส่งผลต่อชีวิตของทุกคนทั่วโลกตั้งแต่การเกิดขึ้นของโควิด-19 ในปี 2563 โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีข่าวคราวที่หลายส่วนออกมาบอกว่า การแพร่ระบาดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นภายในปีนี้ ไขปัญหากับอายุรแพทย์โดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จะมาไขความเข้าใจให้ทุกท่านทราบ
ถ้าเรียงลำดับการแพร่ระบาดของโรค แบ่งจากแพร่ระบาดน้อยที่สุด ไปสู่การขยายวงกว้างมากสุด ตามนี้ 1) โรคประจำถิ่น (Endemic)2) การระบาด (Outbreak) 3) โรคระบาด(Epidemic) และการระบาดใหญ่ (Pandemic)
โรคประจำถิ่น (Endemic) เป็นการแพร่ระบาดของโรคที่มีอย่างต่อเนื่องแต่จำกัดเฉพาะภูมิภาคหนึ่ง ๆ ทำให้การแพร่ระบาดและอัตราการเกิดโรคคงที่ คาดการณ์ได้ ตัวอย่างเช่น มาลาเรียถือเป็นโรคเฉพาะถิ่นในบางประเทศและภูมิภาค
การระบาด (Outbreak) เป็นเหตุการณ์ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นผิดปกติ ทั้งในกรณีโรคประจำถิ่นมีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าที่คาดการณ์ หรือเป็นโรคอุบัติใหม่แม้จะมีผู้ป่วยเพียงรายเดียว เช่น การระบาดของโควิด-19 ตอนเริ่มต้นในเมืองอู่ฮั่น
โรคระบาด (Epidemic) เป็นการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยอย่างไม่คาดคิด ในบางพื้นที่ เช่นไข้เหลือง ไข้ทรพิษ โรคหัด และโปลิโอ โรคระบาดไม่จำเป็นต้องเป็นโรคติดต่อ เช่นโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็ถือเป็นโรคระบาด โรคระบาดอาจเกี่ยวข้องกับโรคหรือพฤติกรรมสุขภาพอื่นๆ เช่น การรับประทานอาหาร การสูบบุหรี่ ด้วยอัตราที่สูงกว่าที่คาดไว้ในชุมชนหรือภูมิภาคอย่างชัดเจน
การระบาดใหญ่ (Pandemic) เป็นการที่โรคมีการเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ ซึ่งหมายความว่าอัตราการเพิ่มพุ่งสูงขึ้น และแต่ละวันก็เพิ่มจำนวนขึ้นมากกว่าวันก่อน ในการประกาศเป็นโรคระบาดใหญ่จะต้องครอบคลุมพื้นที่กว้างส่งผลกระทบต่อหลายประเทศและประชากร
องค์การอนามัยโลกกำหนดโรคประจำถิ่น การระบาด โรคระบาด และการระบาดใหญ่ ตามอัตราการแพร่กระจายของโรค ดังนั้นความแตกต่างจึงไม่อยู่ในความรุนแรงของโรค แต่เป็นระดับของการแพร่ระบาด สำหรับโควิด-19 ในปัจจุบัน การแพร่ระบาดยังคงมีวงกว้างข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ นำไปสู่การหยุดชะงักทางสังคมในวงกว้าง ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และความยากลำบากทั่วไป แต่ในหลายประเทศพยายามลดปัญหาดังกล่าวลง ด้วยการเปิดให้มีกิจกรรมทางสังคมมากขึ้น ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ โดยการแพร่ระบาดยังคงเป็นวงกว้างทั่วโลกอยู่
การที่การระบาดใหญ่ (Pandemic) จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ได้ คงต้องมีลักษณะการแพร่ระบาดที่ลดลงทั่วโลก โดยอัตราการเป็นโควิด-19 คงที่หรือลดลงเรื่อยๆ ถ้าไม่มีสายพันธุ์ใหม่ๆ หลังจากโอมิครอนเกิดขึ้นอีก โอกาสที่โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นอาจจะเกิดขึ้นได้ในปีนี้
พลอากาศโท นายแพทย์ อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย