วันอังคาร ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ผู้หญิง
งานวิจัยของคณะเภสัชฯ จุฬาฯ มีคุณภาพในระดับสากล ขอให้เชื่อมั่นในคุณภาพของงาน

งานวิจัยของคณะเภสัชฯ จุฬาฯ มีคุณภาพในระดับสากล ขอให้เชื่อมั่นในคุณภาพของงาน

วันเสาร์ ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2565, 06.00 น.
Tag : คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลิตภัณฑ์คุณภาพ ศาสตราจารย์เภสัชกรดร.ปิติ จันทร์วรโชติ StemCell
  •  

งานวิจัยดีๆ มีมากมายในสถาบันอุดมศึกษาของเรา หลายงานได้รับการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพระดับนานาชาติ ในคณะเภสัชฯ มีผู้เชี่ยวชาญที่นานาชาติให้การยอมรับในผลงาน

ไลฟ์ วาไรตี สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย นำคุณไปสนทนากับ ศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.ปิติจันทร์วรโชติ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงนวัตกรรมที่ได้จากสมุนไพรไทยที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของ Stem Cell 


l งานวิจัยเกี่ยวกับ Stem Cell กับสมุนไพรไทยที่อาจารย์ทำคืออะไรครับ มีผลช่วยให้ร่างกายมนุษย์ดีขึ้นอย่างไร กรุณาเล่าให้ฟังด้วยครับ

ดร.ปิติ : Stem Cell หรือเซลล์ต้นกำเนิดเป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาด้านนี้รู้ดีว่ามีคุณประโยชน์อย่างมากต่อร่างกายมนุษย์ ในงานวิจัยของผม ผมเน้นค้นคว้าหาสารที่เป็นองค์ประกอบที่ได้จากสมุนไพรไทย เพราะสารที่ได้จะเข้าไปกระตุ้นกลไกการทำงานของ Stem Cell ให้กลับมาทำงานได้มีประสิทธิภาพเหมือนเดิม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีอายุมาก ก็จะมีการเสื่อมสภาพไปตามวัย เพราะว่ากลไกภายในเซลล์ไม่สามารถทำงานได้เต็มที เนื่องจากถูกขัดขวาง ดังนั้นการใช้สมุนไพรหลายๆ ตัวที่ได้จากงานวิจัยเข้าไปช่วยกระตุ้นสัญญาณภายใน ซึ่งช่วยให้การทำงานของ Stem Cell มีประสิทธิภาพดีขึ้น เหมือนการย้อนวัยของ Stem Cell ทำให้กลับมาทำงานได้ดีขึ้น แข็งแรงขึ้น พูดง่ายๆ คือทำให้ Stem Cell มีความอ่อนเยาว์ขึ้น จึงแข็งแรงมากขึ้น จากงานวิจัยพบว่าสารที่ได้จากสมุนไพรไทยไปช่วยกระตุ้นสัญญาณภายในเซลล์ เพราะว่าเวลาที่เขาทำงาน เขาต้องใช้สัญญาณภายในเซลล์ในการสื่อสารการทำงานกับเซลล์อื่นๆ ภายในร่างกาย เมื่อมีสิ่งกระตุ้น เขาก็ทำงานได้ดีขึ้น เข้มแข็งขึ้น

l สมุนไพรไทยที่ใช้ในงานวิจัยมีอะไรบ้างครับ  

ดร.ปิติ : งานวิจัยที่ผมทำนั้มเริ่มมาประมาณ 10 ปีเศษแล้ว ทำวิจัยต่อเนื่องโดยศึกษาจากสมุนไพรเกือบ 100 ชนิด พบว่าสารจากสมุนไพรแต่ละชนิดให้ผลต่างกัน แต่หากใช้ร่วมกันจะให้ผลในการกระตุ้นการทำงานของ Stem Cell ได้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น Stem Cell ที่เป็นองค์ประกอบของผิวหนัง หรือเส้นผม หรืออวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกายของเรา เขามีตัวกระตุ้นที่ต่างกันไป จากการศึกษาทำให้เราเข้าใจว่าเราต้องเลือกใช้ชนิดไหนบ้าง แล้วนำไปผสมกับชนิดใด เพื่อให้เกิดผลในการกระตุ้นสูงสุด และต้องดูด้วยว่าต้องใช้ในอัตราส่วนเท่าไร จึงจะทำให้เกิดการกระตุ้น Stem Cell ได้เต็มที่ และให้ผลสูงสุด นี่คือที่มาของนวัตกรรมในงานวิจัยที่ทำให้ Stem Cellมีความ active มากขึ้น สมุุนไพรไทยที่ผมใช้ในงานวิจัยก็มีดังต่อไปนี้ มะขามป้อม ขมิ้นชัน ใบบัวบก และอีกหลายชนิดเลยครับ ซึ่งทุกอย่างหาได้ในบ้านเมืองของเราทั้งสิ้น ประเทศไทยของเรามีสมุนไพรที่คุณภาพดีมากมายหลายชนิด เมื่อเราวิจัยแล้วพบว่าแต่ละชนิดมีสารที่ช่วยกระตุ้น Stem Cell ได้แตกต่างกันไป ในงานวิจัยจึงต้องนำสารจากสมุนไพรหลายชนิด ประมาณ 5-10 ชนิดมาใช้ร่วมกัน ซึ่งก็แล้วแต่สูตรด้วยครับ 

l แรงบันดาลใจอะไรที่ทำให้อาจารย์เริ่มงานวิจัยนี้ครับ อะไรเป็นตัวจุดประกายครับ

ดร.ปิติ : ผมเริ่มงานวิจัยจากเซลล์มะเร็งก่อนครับ เพราะเซลล์มะเร็งก็มีสเต็มเซลล์ของเซลล์มะเร็งผมพยายามศึกษาว่าจะมีสารจากสมุนไพรไทยตัวใดบ้างที่สามารถขัดขวางการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้บ้างเพื่อให้สารที่ได้ไปขัดขวางกลไกการทำงานของเซลล์ต้นกำเนิดมะเร็ง แล้วพบว่าสารแต่ละชนิดจากสมุนไพรไทยมีคุณสมบัติต่างกันไป บางชนิดไม่ขัดขวางแต่กลับส่งเสริมเซลล์มะเร็ง แต่บางชนิดขัดขวางสเต็มเซลล์ในมะเร็ง แต่กลับช่วยส่งเสริมการทำงานในเซลล์ปกติ จากการสั่งสมความรู้ที่ได้จากงานวิจัยทำให้ผมมีความรู้พื้นฐานมากขึ้น แล้วเมื่อวิจัยมากขึ้น ก็จึงนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ ทำให้รู้ว่าสารจากสมุนไพรตัวไหนที่ช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ และสารตัวไหนช่วยการทำงานของร่างกายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงนำไปสู่การผลิตนวัตกรรมออกมาครับ เช่น สารกระตุ้นการทำงานของ Stem Cell ที่ช่วยให้ผิวหน้าดีขึ้น และพบว่าบางชนิดก็ช่วยให้เส้นผมเจริญเติบโตได้ดีขึ้น นี่คือตัวอย่างที่ได้จากงานวิจัยครับ

l งานวิจัยของอาจารย์ได้ถูกนำไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์เรียบร้อยแล้ว ทราบว่ามีวางจำหน่ายที่โอสถศาลา ของคณะเภสัชศาสตร์ ใช่ไหมครับ

ดร.ปิติ : ครับใช่ครับ แต่สิ่งที่ผมอยากเรียนให้สาธารณชนรับทราบคือนวัตกรรมที่ผมทำวิจัยนี้อยู่บนรากฐานของสารจากธรรมชาติที่สามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของ Stem Cell แล้วเมื่อเวลาเรานำไปพัฒนาต่อยอดเป็นงานต่างๆ ก็จึงสามารถต่อยอดไปเป็นผลิตภัณฑ์หลายชนิด หลายรูปแบบ จึงช่วยเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทยได้อย่างเป็นรูปธรรมงานที่เราผลิตออกมาอย่างหนึ่งคือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เพราะสามารถเพิ่มมูลค่าได้อย่างดี ทั้งนี้ในคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากว่าในคณะฯ มีคณาจารย์ที่มีองค์ความรู้ทางด้านการพัฒนาตำรับเครื่องสำอางหลายท่าน และเราได้ศึกษาวิจัยจนพบว่าสารใดบ้างที่มีความปลอดภัยสูง มีประสิทธิภาพดีมีความคงตัวสูง เราทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของคณะ ขึ้นมา โดยผ่านการตั้งบริษัทแบบ spin off คือการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ในนามของคณะฯ แล้ววางจำหน่ายที่โอสถศาลา ซึ่งเป็นสถานปฏิบัติการด้านเภสัชของคณะฯผลิตภัณฑ์นี้วางจำหน่ายได้ประมาณ 2 เดือนแล้วครับ โดยอธิการบดีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เกียรติไปร่วมเปิดตัวผลิตภัณฑ์นี้ด้วย 

l ผลิตภัณฑ์ที่ทำออกมานั้นช่วยในด้านใดครับ

ดร.ปิติ : ผมขออนุญาตตอบในเชิงวิชาการนะครับ ผลิตภัณฑ์นี้ช่วยกระตุ้นการทำงานของ Stem Cellภายในร่างกายของเรา โดยเฉพาะที่เป็นองค์ประกอบของผิวหนัง และเส้นผม สารที่ได้นั้นทำหน้าที่ช่วยควบคุมดูแลกระตุ้นการทำงานของเนื้อเยื่อต่างๆ ทั้งหมด ให้มีความสมบูรณ์แข็งแรงมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ลักษณะภายนอกที่เห็น คือริ้วรอย หรือความเหี่ยวย่น จุดด่างดำทั้งหมด ล้วนเกิดจากการทำงานของ Stem Cell ที่อาจจะบกพร่องไป หรือว่าลดความสามารถในการทำงานลง หากเราสังเกต เราจะพบว่าช่วงที่เราเป็นเด็ก ผิวหนังและเส้นผมของเราจะไม่มีปัญหา แต่เมื่อเรามีอายุมากขึ้นผิวหนัง ผิวหน้า และเส้นผมของเราจะไม่เหมือนช่วงที่เรายังเป็นเด็ก เพราะว่าในเด็กนั้น Stem Cell ทำงานได้เต็มที่ แต่เมื่อร่างกายชราลง กลไกต่างๆ ในเซลล์ก็มีพลังงานน้อยลงแต่เมื่อเราปรับให้มันให้กลับเข้าสู่สมดุล เซลล์ก็จะแข็งแรงขึ้น ทำงานได้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็ต้องอยู่ที่ว่าเซลล์มีความสามารถในการนำส่งสารไปกระตุ้นให้เซลล์ทำงานได้ดีขึ้นหรือไม่ มันมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ผสมผสานการทำงานเข้าด้วยกันครับ

l แสดงว่าตัวผลิตภัณฑ์จะออกฤทธิ์ได้ดีมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับตัวของผู้ใช้ด้วย เป็นไปตามความพร่องของผู้ใช้ และสภาพร่างกายของผู้ใช้พยาธิสภาพของผู้ใช้ ใช่ไหมครับ คือสินค้าตัวเดียวกัน มันไม่สามารถจะยืนยันได้ว่าคนทุกคนใช้แล้วจะมีผลลัพธ์เหมือนกันทุกคน

ดร.ปิติ : ใช่ครับ ถูกต้องครับ เมื่อเราพูดถึงผลิตภัณฑ์โดยรวมโดยทั่วไปนะครับ อย่างเช่นเครื่องสำอางมีจุดมุ่งหมายในการใช้ภายนอก เราจะเห็นผลจากภายนอก แต่ทีนี้มันก็จะมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายเป็นตัวประกอบ เราจะเห็นว่าบางคนใช้แล้วเห็นผลเร็วมากมีพัฒนาการเร็วมาก แต่บางคนก็ไม่ใช่ มันมีปัจจัยประกอบมากมายเลยครับ

l งานวิจัยชิ้นนี้ของอาจารย์ จะช่วยลดการนำเข้าเครื่องสำอางจากต่างประเทศได้มากน้อยเพียงใดครับ ถ้าหากผลิตภัณฑ์นี้ของอาจารย์กลายเป็นสินค้าที่ผู้คนในบ้านเราใช้กันเป็นจำนวนมาก

ดร.ปิติ : (ยิ้ม) นี่คือจุดหมายสำคัญของการทำวิจัยโดยคณะเภสัชฯ เลยครับ เราต้องการให้ผลิตภัณฑ์ของเราใช้ได้จริงกับประชาชนทั่วไป ดังนั้นคณะฯ จึงพัฒนาบริษัทของคณะฯ ขึ้นมา โดยการตั้งจุฬาฟาร์เทค เพื่อดำเนินการเรื่องนี้ต่อไปในอนาคต สมมุติว่าเราผลิตงานนี้ขึ้นมาได้ 1 หมื่นขวดต่อปี เราก็ประหยัดเงินจากการนำเข้าเครื่องสำอางชนิดนี้ได้ประมาณ 25 ล้านบาทต่อปี เป็นตัวเลขที่เราคำนวณคร่าวๆ นะครับ แต่ว่าสิ่งที่สำคัญมากกว่าที่เราสนใจคือ การเพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพรไทย ทุกวันนี้ เราพบว่าสมุนไพรไทยบางชนิดมีราคาถูกมาก หากเราเพิ่มมูลค่าให้สมุนไพรไทยได้มากขึ้น เกษตรกรของเราจะมีรายได้มากขึ้น และเราก็สามารถใช้วัตถุดิบในบ้านของเราเพื่อผลิตสินค้าคุณภาพได้มากขึ้น เพราะการผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมขั้นสูงก็หมายถึงการเพิ่ม
มูลค่าให้กับสมุนไพรไทย ซึ่งทำให้ประเทศเรามีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย

l สมุนไพรที่อาจารย์ใช้ทำผลิตภัณฑ์นี้ ผ่านการควบคุมการปลูกอย่างไรเพื่อให้ได้มาตรฐานครับ  

ดร.ปิติ : เป็นโครงการต่อเนื่องที่เรานำส่งเทคโนโลยีการเพาะปลูกให้กับเกษตรกรเพื่อควบคุมคุณภาพให้ได้มากที่สุด เราตรวจคุณภาพดินและน้ำทุกขั้นตอน และที่สำคัญคือเราพยายามควบคุมไม่ให้เกิดการปล่อยสารพิษใดๆ ที่เกิดจากการเพาะปลูกออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งนี่เป็นเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญของเรา เราเน้นตลอดเวลาว่าในกระบวนการเพาะปลูกถ้าทำให้ทุกอย่างปลอดภัยก็จะดีต่อผู้บริโภค และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มาก เราตรวจสอบฟาร์มอย่างใกล้ชิด เพราะต้องการควบคุมวัตถุดิบต้นทางให้ได้มาตรฐานสูงสุด เราเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะปลูกให้เกษตรกรด้วย ดังนั้นเกษตรกรรายที่ต้องการส่งวัตถุดิบให้กับเราก็ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการไม่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และต้องเน้นความปลอดภัยของผู้บริโภค เราจึงเน้นการให้ความรู้กับเกษตรกรอย่างจริงจัง เพื่อให้เขาสามารถจัดหาวัตถุดิบที่มีความปลอดภัยสูงสุดให้กับการผลิตของเรา และเป็นการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย 

l คือการเน้นว่า เมื่อสารตั้งต้นมีความบริสุทธิ์แล้ว เมื่อทีมวิจัยของคณะฯ ทำงานต่อจากนั้นก็จะทำงานได้สะดวกขึ้น และผู้บริโภคก็ปลอดภัยสูงสุดใช่ไหมครับ 

ดร.ปิติ : ครับ ใช่ครับ เข้าใจถูกต้องแล้วครับ เพราะเมื่อเราเริ่มต้นด้วยความบริสุทธิ์ ไม่มีการเจือปนใดๆ การทำงานก็สะดวกและง่ายขึ้น ความปลอดภัยต่อผู้บริโภคก็มากขึ้น ซึ่งมันดีกว่าการต้องมาพยายามกำจัดสิ่งปนเปื้อนในภายหลัง เพราะทำได้ค่อนข้างยากมากกับการกำจัดสิ่งปนเปื้อนให้หมดไป และต้องใช้เงินเพื่อกำจัดสารพิษออกจากวัตถุดิบจำนวนมาก

l ผมขอกลับไปคุยประเด็นสถาบันอุดมศึกษาในบ้านเรา โดยเฉพาะในสาย applied science มีงานวิจัยดีๆ มากมาย แต่มักถูกเก็บไว้บนหิ้ง แต่งานของอาจารย์ถูกนำออกไปสานต่อจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว อาจารย์มีมุมมองอย่างไรกับการไม่นำงานวิจัยดีๆ ไปต่อยอดครับ

ดร.ปิติ : ผมก็คิดเช่นเดียวกันว่า เราต้องส่งเสริมให้นำผลวิจัยที่ดีไปต่อยอด แทนการเก็บไว้เฉยๆ เราต้องพัฒนางานวิจัยให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์แท้จริงกับสังคม โดยเฉพาะทางเภสัชศาสตร์ ผู้คนก็จะนึกถึงยา ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ที่มีผลต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์ ในกระบวนการผลิตยานั้น ในคณะเภสัชฯ ของเรามีมากมาย แต่ต้องยอมรับว่าการผลิตยาต้องใช้มาตรฐานสูงมาก เน้นความปลอดภัยสูง เน้นประสิทธิภาพสูง จึงต้องอาศัยระยะเวลาแสนยาวนานดังนั้น เราจึงเริ่มต้นด้วยผลิตภัณฑ์บางตัวที่เราคิดว่ามันมีศักยภาพมากพอ และมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปพัฒนาต่อยอดได้ ผมคิดว่าถ้าเราเพิ่มการพัฒนานวัตกรรม นำไปสู่เชิงการค้าเชิงพาณิชย์ ก็จะเป็นตัวอย่างให้นิสิตของเรา นิสิตจะเห็นความเป็นไปได้ในการประกอบวิชาชีพในอนาคต แล้วก็สามารถที่ทำให้เขาอยู่ได้อย่างยั่งยืน

l อาจารย์คิดว่าอะไรเป็นอุปสรรคขัดขวางทำให้งานวิจัยไม่สามารถถูกนำไปต่อยอดได้ 

ดร.ปิติ : มีหลายปัจจัยครับ ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือแนวคิดของนักวิชาการ บางทีแนวคิดของนักวิชาการ คือเราต้องทำวิจัยแต่ไม่ได้คิดจะต่อยอดให้มากไปกว่าวิจัย บางคนคิดเฉพาะในกรอบ ไม่เคยคิดออกไปนอกกรอบ จึงทำซ้ำๆ กันไปเรื่อยๆ แต่เมื่อวันหนึ่งเราเห็นคนที่คิดนอกกรอบแล้วทำจริงๆ เราก็จะเริ่มเห็นปรากฏการณ์ใหม่ๆ ที่นำงานวิจัยไปต่อยอดอย่างจริงๆ จังๆ ก็ทำให้มีการนำผลจากงานวิจัยไปสู่การต่อยอดมากขึ้นเป็นลำดับ

l มีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่งานวิจัยดีๆ ของเราจะก้าวไปสู่การยอมรับระดับสากล เช่น งานวิจัยของจุฬาฯ จะมีโอกาสถูกนำไปสู่ธุรกิจระหว่างประเทศได้ไหมครับ

ดร.ปิติ : มีโอกาสครับ ผมมองว่าจริงๆ แล้วมันคล้ายกับนักวิจัยทั่วไปที่เห็น คือแนวคิดต่างๆ เป็นสิ่งที่เราจำเป็นที่ต้องพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อนให้ได้ ลักษณะของผลิตภัณฑ์หรือว่านวัตกรรมที่ผมคิด มันเป็นกลไกใหม่ ยังไม่เคยมีใครค้นพบ และไม่เคยนำไปสู่ตลาดมาก่อน นี่คือโอกาสที่สำคัญมาก ไม่ใช่เฉพาะภายในประเทศเท่านั้น แต่นานาชาติก็ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน จึงเป็นโอกาสที่ดีคือมีความใหม่ที่สามารถนำไปพัฒนาต่อๆ ไปได้เราต้องพยายามสื่อสารกับภายนอกให้มากขึ้น ต้องเปิดตัวให้มากขึ้น เรื่องราวที่เราคิดมีความหมาย และมีความน่าสนใจ อยากกรณีสารจากสมุนไพรที่ช่วยกระตุ้น Stem Cell เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจแล้วถ้าเขาเห็นว่าปลอดภัยจริงๆ ก็ยิ่งน่าสนใจมากขึ้นก็เป็นจุดขายหนึ่งที่สามารถนำไปสื่อสารในวงกว้างได้ครับ สามารถกระจายได้กว้างขวางกว่านี้ โดยเฉพาะในแวดวงธุรกิจเครื่องสำอางระดับโลก ทั้งนี้ในงานวิจัยของเราก็ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่เพียงแค่นี้ แต่ยังพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ และจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาในอนาคต เพราะในตัวของสเต็มแอ๊กทีฟที่กล่าวถึงนี้ เป็นการผสมของสมุนไพรหลายชนิด บางสูตรมี 5-10 ชนิดบางสูตรก็ 3 ชนิด แล้วแต่ว่าเราต้องการที่จะมุ่งเป้าไปที่เซลล์ชนิดไหนของร่างกาย อย่างเช่นเซลล์ผมก็เป็นสูตรหนึ่ง เซลล์ผิวหนังเป็นอีกสูตรหนึ่ง ฉะนั้นในแต่ละสูตรของเรา ก็มีการนำไปเป็นองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์สุขภาพชนิดต่างๆ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการพัฒนาสูตรใหม่มีประสิทธิภาพสูงสุดมีความคงตัวดีขึ้น ในกระบวนการพัฒนานั้น มันมีขั้นตอน อย่างเช่น การผลิตเครื่องสำอางโดยคณะเภสัชฯเราจะไม่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง แต่เราต้องทดลอง วิจัยให้ได้ผลอย่างชัดเจน แล้วขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องว่าเป็นเวชสำอาง ขอเรียนว่าเรายังมีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีก โดยจะออกมาในอนาคต และขณะเดียวกัน คณะเภสัชฯ ก็ตั้งเป้าจะพัฒนาในเรื่องของยาออกมาด้วยครับ แต่ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

l อาจารย์จะฝากข้อคิดถึงคนไทยบ้างไหมครับโดยเฉพาะคนที่ค่อยเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ของคนไทย ทั้งๆ ที่คุณภาพของผลิตภัณฑ์ของเราก็ดีเยี่ยมได้มาตรฐานสากล 

ดร.ปิติ : ผมเรียนว่าจริงๆ คณะเภสัชฯมีความเชี่ยวชาญในงานวิจัยในระดับสากล เรามีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพราะฉะนั้นขอให้มั่นใจว่าในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพและการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพของคณะฯ เป็นสิ่งที่ไว้วางใจได้ในระดับนานาชาติ อาจารย์ในคณะฯมีองค์ความรู้แท้จริง เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เราพัฒนาคุณภาพงานโดยใช้ความรู้ความสามารถของเราอย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพ ฉะนั้นขอให้ไว้วางใจนะครับ

คุณจะได้พบรายการดีที่ครบครันด้วยสาระและความรู้ รายการ ไลฟ์ วาไรตี ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 16.00-16.25 น. ทางโทรทัศน์ NBT กดหมายเลข 2และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube ไลฟ์ วาไรตี

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบประธานคณะที่ปรึกษารัฐบาลบังกลาเทศและนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เชิญร่วมงานสัมมนาที่จุฬาฯ นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบประธานคณะที่ปรึกษารัฐบาลบังกลาเทศและนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เชิญร่วมงานสัมมนาที่จุฬาฯ
  • 108 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 70 พรรษา พระมิ่งขวัญชาวจุฬาฯ 108 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 70 พรรษา พระมิ่งขวัญชาวจุฬาฯ
  •  

Breaking News

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ ประกาศ สธ. ให้ยาทรามาดอล (Tramadol) เป็นยาควบคุมพิเศษ

'ปราชญ์ สามสี' วิเคราะห์กำแพงภาษี 36% ทรัมป์ บททดสอบความ'ศิโรราบ'ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจ

'กินเนสส์ฯ'ประกาศสุดยอดบลูชีสจากสเปน ขึ้นแท่น'ชีสที่แพงที่สุดในโลก'ด้วยราคา1.35ล้าน

(คลิป) เจรจาภาษีอย่าหวังได้อะไรจาก'ทรัมป์' อย่าเสีย 'ฐานทัพเรือพังงา' เป็นพอ

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved