แพทย์เผยผลงานวิจัยระดับนานาชาติ ระบุเติมเกลือในอาหารบ่อยขึ้นเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง รวมไปถึงอาหารที่มีโซเดียมสูง ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรพร้อมแนะการบริโภคผักและผลไม้เพิ่มขึ้นสามารถลดความเสี่ยงของอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นจากการเติมเกลือในอาหารได้
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็มและนายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย พญ.รุ่งทิวา กิจเพิ่มเกียรติ อายุรแพทย์โรคไต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่าจากงานวิจัย Hao Ma และคณะ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร European Heart Journal (ehac208) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมาได้ค้นพบว่าความถี่ของการเติมเกลือในอาหารที่บ่อยขึ้นสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยที่มากขึ้น ส่วนการรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมสูงเช่นผักและผลไม้ อาจจะมีส่วนในการลดความเสี่ยงของการเติมเกลือในอาหารและอัตราการเสียชีวิตได้
เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณการกินเกลือและสุขภาพยังเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน การเติมเกลือในอาหารมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความชอบรสชาติเค็มและปริมาณเกลือที่ได้รับในแต่ละวัน ดังนั้น การศึกษานี้จึงเน้นนำในเรื่องของความถี่ในการเติมเกลือในอาหารมาเป็นตัวแทนเพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมลักษณะนิสัยของการกินเกลือและอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ทั้งนี้ จากรายละเอียดที่นักวิจัยได้จัดทำการศึกษาเป็นหมู่คณะจำนวนกว่า 5 แสนคน จาก 22 สถาบันในประเทศสหราชอาณาจักร ได้แก่ อังกฤษ สกอตแลนด์ และเวลส์ ตั้งแต่ปี 2006 ถึง ปี 2010 โดยให้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับความถี่ในการเติมเกลือในอาหาร (ไม่นับรวมการเติมช่วงระหว่างปรุงอาหาร) และตรวจปัสสาวะเพื่อดูปริมาณเกลือโซเดียมและโพแทสเซียม สำหรับข้อมูลการเสียชีวิตจะนำข้อมูลมาจากศูนย์บริการสุขภาพแห่งชาติในอังกฤษ เวลส์ และสกอตแลนด์
ผลการศึกษา พบว่า ความถี่ในการเติมเกลือในอาหารมีความสัมพันธ์โดยตรงกับปริมาณเกลือโซเดียมในปัสสาวะและมีความสัมพันธ์แบบตรงกันข้ามกับปริมาณโพแทสเซียมในปัสสาวะ สำหรับอัตราการเสียชีวิตก็เพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.02 เท่า 1.07 เท่าและ 1.28 เท่าในกลุ่มเติมเกลือในอาหารบางครั้ง บ่อยครั้ง และทุกครั้ง ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่เคยเติมเกลือในอาหารเลย และเมื่อนำปัจจัยอื่นๆ มาวิเคราะห์ร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไตเสื่อมเรื้อรัง ชนิดของอาหาร ก็ไม่ทำให้ผลการศึกษาเปลี่ยนแปลงไป การวิเคราะห์เพิ่มเติมโดยปรับด้วยปริมาณโพแทสเซียมในปัสสาวะหรือการบริโภคอาหารที่มีโพแทสเซียมสูงไม่ได้เปลี่ยนแปลงผลลัพธ์อย่างมีนัยสําคัญซึ่งบ่งชี้ว่าความสัมพันธ์เชิงบวกที่สังเกตได้ระหว่างการเติมเกลือลงในอาหารและการเสียชีวิตส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากการบริโภคโซเดียมสูงมากกว่าการบริโภคโพแทสเซียมต่ำ
สำหรับสาเหตุการเสียชีวิต พบว่า ความถี่ในการเติมเกลือในอาหารสัมพันธ์กับการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคมะเร็งอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ จากการคำนวณปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เพิ่มเติมยังพบว่าการรับประทานผักและผลไม้ที่เพิ่มขึ้นสามารถลดความเสี่ยงของอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นจากการเติมเกลือในอาหารได้
จากข้อมูลทางด้านการศึกษางานวิจัยดังกล่าว ช่วยให้ข้อมูลและความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคเกลือ โดยยิ่งเติมเกลือในอาหารบ่อยขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยมากขึ้น โดยความถี่ของการเติมเกลือในอาหารสามารถประเมินและนำไปใช้ได้ง่ายดังนั้นอาจจะมีประโยชน์ในการปรับรูปแบบอาหารในอนาคตต่อไป ส่วนในประเทศไทยที่ประชาชนนิยมเติมน้ำปลาและเครื่องปรุงรส ซึ่งล้วนประกอบด้วยโซเดียมเป็นส่วนประกอบเช่นเดียวกับเกลือ ก็ควรลดการเติมให้น้อยลงด้วยเพื่อสุขภาพในระยะยาว