เมื่อเสียชีวิต แต่ร่างกายเรายังมีอวัยวะที่นำไปใช้ประโยชน์เพื่อคนอื่นๆ ได้ นำไปปลูกถ่ายให้กับผู้ที่ต้องการ เป็นการสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์ได้ และยังช่วยให้ผู้ได้รับอวัยวะมีชีวิตต่อไป แล้วสามารถทำประโยชน์ให้สาธารณะได้อย่างมากมายมหาศาล
ไลฟ์ วาไรตี สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย ชวนคุณไปสนทนากับ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันทน์ กรรมการคลังเนื้อเยื่อศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย
l กราบเรียนถามอาจารย์ โครงการปลูกถ่ายกระดูกและเส้นเอ็น โดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีความเป็นมาอย่างไรครับ
รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ : โครงการปลูกถ่ายกระดูกและเส้นเอ็นที่เราทำในครั้งนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เริ่มต้นเมื่อ 12 สิงหาคม2565 ซึ่งก่อนหน้านี้มีโครงการปลูกถ่ายกระดูกและเส้นเอ็นเพื่อผู้ด้อยโอกาส เป็นโครงการนำร่อง ทั้งนี้ทางคลังเนื้อเยื่อ สภากาชาดไทย ศูนย์รับบริจาคอวัยวะได้เตรียมเอ็นและกระดูกโดยได้มาตรฐานสากลพร้อมให้บริการประชาชน และสำหรับโอกาสมหามงคลยิ่ง
ที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา เราจึงทำโครงการนี้เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวาย โดยให้บริการประชาชนที่มีความจำเป็นโดยไม่คิดค่าบริการใดๆ
l กระดูก และเส้นเอ็นในคลังเนื้อเยื่อได้มาจากผู้ที่วายชนม์ที่บริจาคอวัยวะให้ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ใช่ไหมครับ
รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ : ใช่ครับ ย้อนหลังไปในสมัยผมเป็นนิสิตแพทย์ แล้วเมื่อจบการศึกษาได้เป็นอาจารย์ใหม่ ในยุคนั้นอาจารย์แพทย์ผู้ใหญ่ท่านกรุณาเก็บอวัยวะต่างๆ เช่น ลิ้นหัวใจ ส่วนที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ เพื่อนำไปเปลี่ยนให้กับผู้มีปัญหาลิ้นหัวใจรั่ว และผู้ป่วยที่มีปัญหาเส้นเลือดโป่งพอง เราได้ดำเนินการในเรื่องเหล่านี้มาหลายสิบปีแล้ว ซึ่งเป็นประโยชน์มากต่อสังคม และในระยะหลังๆ นี้ประชาชนมีความรู้และเข้าใจดีมากขึ้นว่าเมื่อเราต้องละจากโลกนี้ไป แต่ร่างกายของเรายังมีอวัยวะที่สามารถใช้เป็นประโยชน์กับเพื่อนมนุษย์ได้ก็จึงมีผู้บริจาคร่างกาย และอวัยวะเพื่อการแพทย์มากขึ้น
ขณะเดียวกันในสังคมของเราก็มีผู้รอรับอวัยวะต่างๆเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีผู้บริจาคกระดูกและเอ็น เราก็นำกระดูกและเอ็นไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่จำเป็นต้องได้รับสิ่งนั้นเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้และทำประโยชน์ต่อสังคมได้ ในทางการแพทย์นั้นเมื่อคุณบริจาคกระดูกแล้ว เรามีกระบวนการทำกระดูกไม้ทดแทนในร่างกายผู้เสียชีวิต เพื่อให้รูปร่างไม่เสีย เมื่อส่งคืนร่างไปประกอบพิธีทางศาสนา ร่างกายก็ยังดูเป็นปกติทุกประการ ส่วนกระดูกและเส้นเอ็นที่บริจาคนั้นเรามีกรรมวิธีทางการแพทย์เพื่อนำไปปลูกถ่ายให้ผู้อื่นต่อไป โดยเน้นกระบวนการทำให้ปลอดเชื้อร้อยเปอร์เซ็นต์เมื่อตรวจสอบคุณลักษณะ และคุณสมบัติของกระดูกและเอ็นที่เราจะนำไปให้กับผู้อื่นเรียบร้อยแล้ว ก็จะดำเนินการปลูกถ่ายต่อไป
l มีจำนวนผู้รอรับการช่วยเหลือมากไหมครับส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มไหน หรือว่าป่วยด้วยโรคอะไรครับ
รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ : ในกลุ่มกระดูก ขอเรียนว่าเมื่ออุบัติเหตุครั้งหนึ่ง แล้วทำให้กระดูกหักแตกละเอียด หรือกระดูกอาจหลุดลงไปโคลนริมถนน เกิด bone lost หรือ กระดูกบางส่วนหายไป เช่น กระดูกต้นขาหายไป10 เซนติเมตร หรือบางรายกระดูกหักแล้วทิ่มออกมานอกร่างกาย แล้วเมื่อรักษาแล้วกระดูกเน่าต้องตัดกระดูกเน่าทิ้งไป ก็จะเกิดช่องว่างของกระดูก สมมติว่าประมาณ 12 นิ้ว ก็ต้องหากระดูกมาทดแทนแต่ก็หายากมาก ถ้าใช้แผ่นไทเทเนียมเข้าไปแทน ก็ต้องพบความจริงว่าไทเทเนียมเมื่อติดอยู่กับกระดูกจะมีแรงดึง หรือ stress จึงต้องมีเนื้อกระดูกเข้าไปเสริมโดยใช้เนื้อกระดูกจากผู้บริจาค ในอดีตนั้นธนาคารกระดูกอาจจะเก็บในห้องเก็บศพ แต่ก็อาจมีปัญหาด้านการเก็บบ้าง ต่อมาศูนย์ฯจึงจัดเก็บตามมาตรฐานเดียวกันกับการเก็บลิ้นหัวใจ ไต และตับ
โดยเก็บแบบปลอดเชื้อร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วนำไปเข้ากระบวนการตัดกระดูกเป็นชิ้นที่นำไปใช้ได้ทันทีตามความต้องการ เช่น ทำเป็นชิ้นเล็กๆ แบบลูกเต๋าเพื่อใช้เสริมในช่องว่างของกระดูก แล้วก็อาจเอามาประกอบกับแผ่นโลหะไทเทเนียมเพื่อให้มีทั้งกระดูก และไทเทเนียม รวมถึงกระดูกชิ้นเล็กๆ เพื่อจะสร้างกระดูกใหม่ให้คนไข้ กระบวนการทั้งหมดต้องปราศจากเชื้อแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ มีตัวอย่างเช่น ในคนไข้ที่เป็นมะเร็งกระดูก ในอดีตนั้นต้องตัดกระดูกที่เป็นมะเร็งทิ้ง แล้วนำกระดูกที่ได้จากผู้เสียชีวิตไปใช้ทดแทน แต่ในอดีตอาจจะเก็บกระดูกมาจากห้อง post ครับ บางทีเมื่อเปลี่ยนกระดูกไปแล้ว 6 เดือน หรือ 1 ปี เกิดปัญหากระดูกติดเชื้อก็ต้องตัดทิ้ง ระยะหลังๆ นิยมใช้ข้อเทียมกับกระดูกเทียม ซึ่งมูลค่าหลายแสนบาท แพงมาก แต่ในสังคมไทยของเรา
เราโชคดีที่มีผู้มีจิตศรัทธา ให้ความช่วยเหลือบริจาคเงินตั้งกองทุนสำหรับผู้ป่วยด้วยโรคนี้และยังมีผู้บริจาคอวัยวะเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อีกด้วย ดังนั้นเราจึงบรรเทาปัญหานี้ได้บ้างครับ เพราะเรามีกระดูกจริงๆ จากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มีอีกตัวอย่างหนึ่งคือ ปัญหาเกี่ยวกับเส้นเอ็น เช่นเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่จักรยานยนต์ แล้วพบปัญหาเอ็นที่เข่าขาด คือขาดทั้งเอ็นไขว้หน้า เอ็นไขว้หลัง เอ็นด้านใน และเอ็นด้านนอก หรืออาจพบในนักฟุตบอลที่มีปัญหาเอ็นไขว้หน้าขาด แต่ว่าในอุบัติเหตุที่เกิดจากจักรยานยนต์จะมีปัญหาเอ็นขาดหลายจุด (multiligament knee injuries) กรณีแบบนี้ หากได้เอ็นจากผู้บริจาคแล้วนำไปใช้รักษาจะช่วยได้มาก โดยอาจใช้เอ็นของคนไข้บางส่วนและใช้เอ็นจากผู้บริจาคบางส่วน การใช้เอ็นชนิดนี้เราเรียกว่า allograft medical
โดยในต่างประเทศใช้วิธีนี้มาประมาณ 20-30 ปีแล้ว ส่วนประเทศไทยนั้นเราทำช้ากว่า เนื่องจากกระบวนการเก็บรักษายังไม่ค่อยดี จึงมีบริษัทเอกชนนำเข้ามาจำหน่ายแบบ freeze dry ราคาชิ้นหนึ่งหลายหมื่นบาท แต่ล่าสุดในเมืองไทยทำเรื่องนี้ได้แล้วที่ศูนย์ฯ ของเรา ทำเป็น fresh frozen allograft โดยเราทดลองร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อตรวจสอบการรับแรงดึงว่ารับได้มากที่สุดเท่าไรคือกี่นิวตันเส้นเอ็นจึงจะขาด ซึ่งเราทำได้ตามมาตรฐานสากลแล้ว จึงสามารถช่วยผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านเส้นเอ็นได้มากขึ้น นอกจากนั้นก็ยังช่วยรักษาผู้ป่วยที่มีอาการแผ่นพังผืด เช่นบางรายเมื่อผ่าตัดเปิดกะโหลกแล้วไม่มีแผ่นพังผืดไปปิด หรือบางคนเอ็นหัวไหล่ขาดแล้วก็กระดูกเอ็นหัวไหล่มันย่นกลับเข้าไปมากๆ ก็ต้องเอาเอ็นเข้าไปเสริมเอ็นที่ขาดไปเพื่อให้กลับไปอยู่ในสภาพเดิมมากที่สุด ถือว่าเป็นการช่วยรักษาคนที่ประสบอุบัติเหตุแล้วเสียเอ็นไปพร้อมๆ กันหลายเส้น รวมถึงคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่เสียอวัยวะจากการทำงาน เพราะถูกเครื่องจักรบดหรือตัดแขนขาและมือ เป็นต้น
l สิ่งที่อาจารย์กรุณาเล่าให้ฟังนั้น เป็นผลมาจากการบริจาคอวัยวะให้กับสภากาชาดไทย ซึ่งช่วยให้เพื่อนมนุษย์ที่รอรับอวัยะสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจและปลื้มใจสำหรับผู้ที่ต้องจากโลกนี้ไปแล้ว
รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ : ใช่ครับ คนเรานั้นเมื่อเสียชีวิตแต่อวัยวะของเรายังมีประโยชน์กับเพื่อนมนุษย์ เช่น เลนส์แก้วตาของผู้เสียชีวิต ถ้าเก็บรักษาไว้ดีๆ ก็นำไปปลูกถ่ายให้กับคนที่มีความต้องการได้ ทำให้ผู้รับได้เห็นโลกสดใส ส่วนไต ตับ ก็ใช้ประโยชน์ได้ครับ ผมมีตัวอย่างเล่าให้ฟังคือเพื่อนผมคนหนึ่งเป็นหมอ มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนตับ โชคดีมากที่ตอนนั้นเพื่ออายุ 50 ปีแต่เผอิญมีเด็กอายุ 16 ปี ที่สมองตาย แล้วปรากฏว่าตับของเด็กคนนั้นถูกนำไปปลูกถ่ายให้กับคุณหมอรายดังกล่าวได้อย่างพอดี ปัจจุบันหมอรายดังกล่าวยังมีชีวิต ทำประโยชน์ให้สังคมไทยได้มากมายมหาศาล เพราะได้ตับจากน้องคนที่กล่าวถึง นี่คือตัวอย่างชัดเจน ดังนั้นผมขอเชิญชวนคุณๆ ที่มีความประสงค์บริจาคอวัยวะหลังจากคุณเสียชีวิตแล้ว โปรดติดต่อที่สภากาชาดไทยครับ คุณสามารถแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะได้ที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทยอาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญสุวฑฺฒโน) ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ ในเอกสารจะมีข้อความว่า ข้าพเจ้าขออุทิศอวัยวะของข้าพเจ้าเมื่อถึงแก่กรรมแล้วได้แก่ หัวใจ ตับ ไต ปอด หรือว่าอวัยวะทุกส่วนของร่างกายที่ใช้ประโยชน์ได้ เพื่อมอบให้แพทย์นำไปรักษาช่วยชีวิตผู้ป่วยด้วยการปลูกถ่ายอวัยวะด้วยความเต็มใจ โดยที่ข้าพเจ้าได้ปรึกษาหารือกับครอบครัวก่อนแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะแล้ว และได้รับทราบและได้เข้าใจเป็นอย่างดีว่า แพทย์จะทำการตกแต่งร่างกายให้เป็นที่เรียบร้อย โดยมิทำให้เกิดความล่าช้าในการประกอบพิธีทางศาสนา
l ผมเชื่อว่าการบริจาคอวัยวะ หรือร่างกายของเรา เมื่อเราจากโลกนี้ไปแล้ว น่าจะเป็นความสุขใจ และความภูมิใจที่เราสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้นะครับอาจารย์
รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ : จริงครับ ผมเชื่อเช่นนั้น เพราะเราและคนในครอบครัวของเราจะเกิดความรู้สึกว่าอวัยวะของลูกหรือของพ่อแม่ พี่น้องของเรายังนำไปช่วยคนอื่นได้ ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าลูกหรือพ่อแม่ของเรายังทำประโยชน์ให้เพื่อนมนุษย์ได้ ถือเป็นความสุขที่เป็นความสุขอย่างยิ่งครับ ปัจจุบันเรามีการรับบริจาคอวัยวะผ่านระบบออนไลน์ด้วยครับ
l ในแต่ละปีมีผู้ที่รอรับอวัยวะจำนวนเท่าไรครับ
รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ : ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 มีผู้รอรับอวัยวะ 6,148 ราย รอรับไต 5,766 ราย ส่วนใหญ่รอรับไตประมาณ 5 ใน 6รอรับหัวใจ 30 ราย หัวใจและปอด 9 ราย ปอด 6 รายตับ 312 ราย ตับก็มีผู้รอรับมากครับ ตับอ่อน 2 รายไตตับ 2 ราย ไตตับอ่อน 19 ราย ไตหัวใจ 1 ราย แล้วก็มัลติออแกนอีก 1 ราย สรุปว่ารอรับไตมากที่สุด
l นี่เป็นตัวเลขเชิงประจักษ์ ที่คุณจะเห็นชัดว่ามีเพื่อนมนุษย์ของเรารอรับอวัยวะบริจาคจำนวนมากมาย และด้วยอวัยวะที่เราบริจาคนั้นช่วยทำให้เพื่อนมนุษย์ของเราสามารถมีชีวิตต่อไปได้ และทำประโยชน์เพื่อสังคมได้อีกมาก
รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ : ครับ ผู้ได้รับบริจาคอวัยวะแล้วสามารถกลับไปทำประโยชน์อย่างที่ผมเรียนให้ทราบคือคุณหมอที่เป็นเพื่อนผม รายนี้ได้ทำประโยชน์ให้สังคมมหาศาลจริงๆ มีงานวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากมาย มีงานวิจัยคุณภาพหลายชิ้น นับว่าเป็นผลมาจากการได้รับตับจากน้องคนที่เรากล่าวถึงในข้างต้นโดยแท้ครับ
l อาจารย์ช่วยกรุณาเชิญชวนผู้ชมรายการ และผู้อ่านหนังสือพิมพ์แนวหน้าให้มาร่วมกันบริจาคอวัยวะด้วยครับ
รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ : ในฐานะแพทย์ ต้องเรียนว่า พวกเราได้เรียนวิชาแพทย์จนออกมาทำงานเพื่อสังคมได้ทุกวันนี้ ก็เพราะเราได้เรียนรู้จากร่างกายที่ผู้ใจบุญได้บริจาคเพื่อการศึกษา ประเทศไทยมีผู้บริจาคร่างกายเพื่อให้เป็นอาจารย์ เป็นครูของหมอเป็นจำนวนมาก จริงๆ แล้วการเรียนรู้จากร่างกายของอาจารย์ใหญ่ก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญเบื้องต้นที่ทำให้เราสร้างแพทย์ที่มีความรู้ในเรื่องของร่างกายมนุษย์ได้อย่างดี และสามารถนำความรู้ไปรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น นี่คือบุญคุณของอาจารย์ใหญ่ นอกจากนั้นยังมีผู้ใจบุญใจกุศลบริจาคอวัยวะให้กับสภากาชาด เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ที่ต้องการได้รับอวัยวะ เพื่อให้ดำรงชีวิตได้ต่อไป
นับเป็นการสร้างกุศลยิ่งใหญ่ประการหนึ่งมีอีกตัวอย่างคือ เมื่อสัปดาห์เร็วๆ นี้ มีเวิร์กช็อปอบรมแพทย์ที่ต้องเรียนรู้การฉีดยาเข้าไปในช่องไขสันหลัง และเรื่องการผ่าตัดกระดูกสันหลังว่าต้องเจาะกระดูกอย่างไร ต้องวางอย่างไร การฝึกผ่าตัดเช่นนี้ต้องใช้ร่างกายในการเรียนการผ่าตัด และการฝึกอัลตร้าซาวนด์การฝึกส่องกล้อง และการฝึกเปลี่ยนข้อเข่า เปลี่ยนข้อสะโพก ฝึกส่องกล้องซ่อมเส้นเอ็นหัวไหล่ หัวเข่า และเรื่องกระดูก เราก็ต้องมีอาจารย์ใหญ่เพื่อให้เราได้ทดลอง ความจริงในสาขาอื่นๆ ก็มีการฝึกโดยใช้ร่างของผู้เสียชีวิต
ทั้งหมดนี้ต้องขอขอบคุณผู้บริจาคร่างกายเพื่อการศึกษาของแพทย์ ขณะเดียวกันก็ต้องขอบคุณผู้บริจาคอวัยวะด้วย เพราะช่วยให้ผู้คนอื่นๆ สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ เมื่อได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะเรียบร้อยแล้ว ขอย้ำว่านี่คือการทำกุศลครั้งยิ่งใหญ่ เป็นการต่อชีวิตให้ผู้อื่น ไม่ต้องปล่อยให้ผู้ป่วยต้องนอนซม แล้วสามารถลุกขึ้นมาทำประโยชน์ให้สังคมได้ต่อไป ส่วนการบริจาคร่างกายในส่วนที่จะเก็บนำไปใช้เช่น เอ็น กระดูก ก็ทำให้ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ได้รับบริจาค ลดปัญหาความพิการ ผมขอเชิญชวนให้ร่วมกันบริจาคร่างกาย หรือบริจาคอวัยวะครับ เพื่อเป็นการทำกุศลกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
คุณจะได้พบรายการดีที่ครบครันด้วยสาระและความรู้ รายการ ไลฟ์ วาไรตี ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 16.00-16.25 น. ทางโทรทัศน์ NBT กดหมายเลข 2และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube ไลฟ์ วาไรตี