ปกติร่างกายของมนุษย์มีกลไกการควบคุมการแข็งตัวของเลือดที่อยู่ในภาวะสมดุล โดยมีระบบที่กระตุ้นการแข็งตัวของเลือด และระบบที่ยับยั้งการแข็งตัวของเลือด ในภาวะปกติทั้งสองปัจจัยมีการทำงานที่สอดคล้องกัน ทำให้ไม่มีเลือดแข็งตัวเองผิดปกติ หรือมีเลือดออกผิดปกติ โดยองค์ประกอบของการควบคุมเลือดออกในภาวะที่มีการบาดเจ็บ ประกอบไปด้วย
1. หลอดเลือด
2. เกล็ดเลือด
3. สารที่กระตุ้น หรือยับยั้งการเกิดลิ่มเลือด
ทั้งนี้ในภาวะบาดเจ็บที่มีการฉีกขาดของหลอดเลือดจะมีการกระตุ้นระบบการแข็งตัวของเลือดเพื่อห้ามเลือด ตั้งแต่หลอดเลือดที่มีการหดตัว การกระตุ้นการรวมตัวของเกล็ดเลือดในการห้ามเลือด และการกระตุ้นปัจจัยการแข็งตัวของเลือด ทำให้มีการแข็งตัวของเลือด และทำให้เลือดหยุด ในกรณีที่มีความผิดปกติของระบบยับยั้ง หรือระบบกระตุ้นการแข็งตัวของเลือด จะส่งผลให้มีการแสดงออกในลักษณะเลือดออกผิดปกติ หรือภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะ และองค์ประกอบของความผิดปกติ สำหรับภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดดำนั้น เป็นภาวะความผิดปกติที่พบได้จากหลายสาเหตุ โดยอาจเกิดจากหลายกลไก
1. การลดการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดดำจากการไม่เคลื่อนไหวเป็นระยะเวลานาน เช่น การนั่งเครื่องบินข้ามทวีป ผู้ป่วยนอนติดเตียง
2. การบาดเจ็บของผิวบุหลอดเลือดเช่น การใส่สายสวนหลอดเลือดดำ, อุบัติเหตุกระแทกรุนแรง
3. การเสียสมดุลของสารกระตุ้นและยับยั้งการแข็งตัวของเลือด ซึ่งอาจเป็นจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ยาบางชนิด (เช่น ยาคุมกำเนิด),โรคมะเร็ง เป็นต้น
อย่างไรก็ดีในผู้ป่วยบางรายอาจหาสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำไม่พบ อาการ และอาการแสดงของผู้ป่วยขึ้นอยู่กับตำแหน่งของหลอดเลือดดำที่มีลิ่มเลือดอุดตัน โดย 2 ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ หลอดเลือดดำที่ขาหลอดเลือดดำในปอด สำหรับหลอดเลือดดำในตำแหน่งอื่น เช่น หลอดเลือดดำในอุ้งเชิงกราน หลอดเลือดดำในท้อง หรือหลอดเลือดดำที่แขนก็เกิดได้เช่นเดียวกันแต่พบน้อยกว่า อาการ และอาการแสดงของหลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน ได้แก่ ขาบวมกดบุ๋มข้างใดข้างหนึ่ง โดยอาจมีอาการปวดตึงจากการบวม หรือในกรณีที่มีลิ่มเลือดอุดตันมากอาจมีการเปลี่ยนสีของผิวหนังบริเวณขาดำคล้ำขึ้นได้ ลิ่มเลือดจากขาอาจมีการหลุดลอยไปอุดตันในหลอดเลือดในปอด หรือในบางครั้งมีลิ่มเลือดอุดตันเกิดขึ้นเองในหลอดเลือดในปอด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อย เจ็บอกไอออกเลือด ไปจนถึงความดันโลหิตต่ำระบบการหายใจ และหัวใจล้มเหลวได้ดังนั้นผู้ป่วยอาจสังเกตในกรณีที่มีแขนหรือขาบวมข้างเดียวโดยไม่ทราบสาเหตุ จำเป็นต้องมาพบแพทย์เพื่อสืบค้นหาลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ และหาสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน เพื่อทำการรักษา และป้องกันการกลับเป็นซ้ำ โดยการรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดนั้นโดยทั่วไปใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดโดยชนิดของยา ตลอดจนระยะเวลาของการรักษาขึ้นอยู่กับตำแหน่ง และสาเหตุของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน นอกจากนี้ในกรณีที่ทราบสาเหตุของภาวะลิ่มเลือดอุดตันจำเป็นต้องให้การรักษาสาเหตุถ้าเป็นไปได้ ในกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขต้นเหตุของภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้ อาจจำเป็นต้องได้ยาละลายลิ่มเลือดอุดตันเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
ผศ.นพ.กฤษฎา วุฒิการณ์
หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี