ของทุกอย่างบนโลกนี้มีความดีและความไม่ดีในตัวเองทุกชนิด สมุนไพรไทยก็เช่นกัน มีคุณวิเศษ แต่ก็มีภัยมีพิษมาก หากใช้ผิด
ทุกวันนี้ คนไทยนิยมใช้สมุนไพรมากขึ้น แม้กระทั่งในช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ก็ใช้ฟ้าทะลายโจรกันมากมาย และรัฐบาลสนับสนุนการใช้สมุนไพรหลายประเภท ทำให้หลายคนเห็นว่าสมุนไพรจากธรรมชาติเป็นสิ่งปลอดภัย ปลอดจากสารเคมี จึงเชื่อเอาเองว่าน่าจะปลอดภัยกว่ายาแผนปัจจุบัน
ในความเป็นจริงนั้น วิธีคิดแบบนี้ไม่ถูกเสมอไป ไม่สามารถยืนยันได้ว่าสมุนไพรพืชที่มาจากธรรมชาติจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ยกตัวอย่าง เห็ดพิษที่กินแล้วเสียชีวิต หรือกรณีใบ ดอก เมล็ดต้นยี่โถมีสารกลุ่มคาดิแอคไกลโคไซด์ (cardiac glycoside) เป็นพิษต่อหัวใจ จะเห็นได้ว่าทั้งคู่ต่างมาจากธรรมชาติ แต่พิษร้ายกาจมาก
วันนี้จะเล่ามุมมองเกี่ยวกับสมุนไพรอีกมิติหนึ่ง สิ่งแรกที่เราต้องเข้าใจคือเมื่อเรารับประทานอะไรเข้าไปก็ตามไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ได้จากธรรมชาติ เช่น พืช หรือตัวยาเคมีสังเคราะห์ ถ้ารับประทานเข้าไปแล้วมีการตอบสนองต่อร่างกาย เช่น ลดไข้ รักษาโควิด-19 ได้ บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้ แสดงว่าจะต้องมีสารเคมีที่ออกฤทธิ์กับร่างกาย อยู่ที่ว่าจะเป็นสารเคมีที่ถูกผลิตจากพืชหรือสารเคมีสังเคราะห์ เช่น น้ำชาจีนแก่จัดสามารถช่วยบรรเทาอาการท้องเดิน หรือทำให้ท้องผูกได้ เนื่องจากมีสารในกลุ่มแทนนิน ซึ่งมีฤทธิ์การฝาดสมาน และช่วยรักษาทางเดินอาหาร ในขณะที่ใบและฝักของมะขามแขก มีสารเคมีจำพวก sennoside A และ B มีฤทธิ์เป็นยาระบาย หรือขิงมีสารเคมีที่มีฤทธิ์ในการขับลม สารเคมีจากธรรมชาติเหล่านี้ แม้จะไม่ได้ถูกสังเคราะห์โดยมนุษย์ แต่เมื่อรับประทานเข้าไป สารเคมีต้องถูกดูดซึม และผ่านตับเพื่อเปลี่ยนแปลงและขับออกจากร่างกาย เช่น ขับออกทางปัสสาวะโดยไต รวมถึงยังมีฤทธิ์ที่ไม่พึงประสงค์หรือที่เรียกว่าผลข้างเคียงเหมือนยาแผนปัจจุบันเช่นกัน
ดังนั้น การรับประทานผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ถูกต้อง หรือรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีการควบคุมคุณภาพการผลิตที่ดี จะส่งให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรจะต้องมีความรู้ตั้งแต่การเลือกสมุนไพรที่ถูกต้อง เช่น ชนิดสมุนไพร ช่วงอายุที่เหมาะสม เนื่องจากช่วงอายุที่ต่างกัน สารออกฤทธิ์ก็ไม่เท่ากัน หรือให้ฤทธิ์ต่างกัน เช่น กล้วยดิบมีสารฝาดจำพวกแทนนิน มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย และมีสารเคมีที่เชื่อว่าใช้บรรเทาอาการกระเพาะอาหารอักเสบ แต่ในกล้วยสุกกลับมีสารจำพวกเพกตินที่ช่วยในระบาย เป็นต้น
ส่วนของสมุนไพรที่จะนำมาใช้ก็มีความสำคัญ เพราะแต่ละส่วนก็จะมีสารเคมีที่ต่างกัน ให้การออกฤทธิ์ไม่เหมือนกัน เช่น ใบว่านหางจระเข้ใช้เป็นยาดำ มีสารจำพวกที่ให้ฤทธิ์เป็นยาระบาย แต่ส่วนของวุ้นจากใบมีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อนจากน้ำร้อนลวก เป็นต้น
นอกจากนี้ การควบคุมปริมาณของสารเคมีหรือสารสำคัญก็เป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการออกฤทธิ์และผลข้างเคียงมากเกินไป รวมถึงการควบคุมปริมาณของสารปนเปื้อนต่างๆ เนื่องจากพื้นที่ที่ปลูกสมุนไพรบางชนิดอาจมีโลหะหนัก หรือสารปนเปื้อนอื่นๆ ที่มาจากกระบวนการผลิต และการควบคุมคุณภาพในการเก็บรักษา เพราะอาจเกิดปัญหาจากการปนเปื้อนจากเชื้อไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรียหรือเชื้อรา
ในฐานะผู้บริโภค จำเป็นต้องเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ การอ่านข้อมูลบนฉลากของผลิตภัณฑ์สมุนไพรยังเป็นสิ่งที่จำเป็นไม่ต่างกับการใช้ยาแผนปัจจุบัน และอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพึงระวังคือการรับประทานสมุนไพรร่วมกับยาแผนปัจจุบันที่รับประทานอยู่ เพราะผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีสารเคมีที่ออกฤทธิ์ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหายาตีกัน หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรเองก็อาจไปตีกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรด้วยกัน ผู้ที่มีโรคประจำตัวและรับประทานยาอยู่จึงควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และขอให้เข้าใจว่าการรับประทานอะไรที่มากเกินไปย่อมไม่เกิดผลดี
ความเข้าใจที่ว่าสมุนไพรเป็นสิ่งที่ได้มาจากธรรมชาติและไม่มีอันตรายใดๆ ไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป เพราะฉะนั้นหากได้ยินคำโฆษณาที่ว่า “ปลอดภัย เพราะมาจากธรรมชาติไม่มีสารเคมี” นั่นอาจเป็นคำโฆษณาเกินจริง ย้ำว่าไม่มีสิ่งใดที่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเสมอ
ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี