พระองค์ท่านทรงประยุกต์ใช้ผ้าไทย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของเราทุกคน ผ่านรูปแบบของฉลองพระองค์ ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าผ้าไทยจากทุกภูมิภาคของไทยมีเอกลักษณ์ และสามารถนำไปใช้ในโอกาสต่าง ๆ ได้อย่างงดงามลงตัว
ไลฟ์ วาไรตี สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย นำคุณไปชมพิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ พระบรมมหาราชวัง โดยสนทนาเรื่องฉลองพระองค์ในยุคต่างๆตั้งแต่ คริสต์ทศวรรษ 1960-2000 กับคุณศาสตรัตน์มัดดิน หัวหน้าแผนกภัณฑารักษ์และการศึกษา พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
l เรียนถามถึงจุดเด่นที่สุดของนิทรรศการนี้ว่าคืออะไรครับ
คุณศาสตรัตน์ : คือการเชิญฉลองพระองค์ในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตั้งแต่ยุคคริสต์ทศวรรษ 1960-2000 มาจัดแสดง เพื่อให้ผู้เข้าชมได้ประจักษ์ถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระองค์ท่านที่ทรงมีต่อแพรพรรณของไทย และยังได้ประจักษ์ถึงการที่ทรงนำพาประเทศไทยไปสู่สายตาของประชาคมโลก โดยทำให้ชาวโลกเห็นว่าเมืองไทยมีศิลปะการแต่งกายที่งดงาม เข้ากับโอกาสต่างๆ ได้อย่างลงตัว ฉลองพระองค์ที่เชิญมาจัดแสดงในครั้งนี้เป็นภาพจำที่หลายๆ คนคงจำได้ดีว่าทรงใช้ในโอกาสใดบ้าง เพราะแต่ละโอกาสก็ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทย
l ฉลองพระองค์ยุค 1960 มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์อย่างไรครับ
คุณศาสตรัตน์ : ในยุค 1960 จะเห็นว่าฉลองพระองค์ที่เชิญมาแสดงมีสไตล์แบบตะวันตก มีทั้งฉลองพระองค์สำหรับงานกลางคืน งานกลางวัน และช่วงที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศยุโรปตะวันตกและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในครั้งนี้ทรงฉลองพระองค์ให้เข้ากับบ้านเมือง และขนบธรรมเนียมการแต่งกายของแต่ละประเทศที่เสด็จไปเจริญสัมพันธไมตรี ในยุคนั้นทรงเลือกให้ปิแอร์ บัลแมงต์ ช่างออกแบบเสื้อผ้าชาวฝรั่งเศส ออกแบบฉลองพระองค์ ซึ่งการเสด็จพระราชดำเนินทรงเจริญสัมพันธไมตรีในครั้งนั้นทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทยได้เป็นที่รู้จักของชาวโลกมากยิ่งขึ้น มีการจารึกพระนามาภิไธย ในหอเกียรติคุณ มหานครนิวยอร์ก ว่าทรงเป็น 1 ใน 12 สุภาพสตรีของโลกที่แต่งกายได้งดงามมากที่สุด ซึ่งเป็นการสะท้อนให้นานาชาติตระหนักว่าประเทศไทยมิใช่ประเทศที่ไร้รสนิยม แต่เป็นประเทศที่มีขนบธรรมเนียมที่ทัดเทียมนานาอารยประเทศ แม้ในยุคแรกนั้นจะยังไม่ได้ทรงนำผ้าไทยเข้าไปผสมผสานในฉลองพระองค์อย่างเด่นชัด เนื่องจากในยุคนั้นยังมิได้ทรงตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพแต่จะเห็นชัดว่าฉลองพระองค์ที่ทรงในโอกาสต่างๆ ในครั้งนั้นเหมาะสมสอดคล้องกับทุกพระราชกรณียกิจ และเป็นไปตามขนบของตะวันตก เช่น ในบางโอกาสต้องทรงพระมาลา บางโอกาสต้องทรงสวมถุงพระหัตถ์ ซึ่งเป็นไปตามกฎเกณฑ์การแต่งกายของชาวตะวันตกอย่างเหมาะสมที่สุด
l ในยุค 1970 ฉลองพระองค์มีความโดดเด่นอย่างไรครับ
คุณศาสตรัตน์ : ในยุคนี้ ทรงตั้งมูลนิธิศิลปาชีพแล้ว โดยทรงตั้งเมื่อ 21 กรกฎาคม 2519 ดังนั้นจะพบว่าฉลองพระองค์ในยุค 1970 นั้น ทรงโปรดให้ใช้ผ้าไทยจากภูมิภาคต่างๆ ของไทยเพื่อตัดเย็บฉลองพระองค์ถวาย เช่น ทรงเลือกใช้ผ้าไหมมัดหมี่ และผ้าทอมือจากภาคเหนือ โดยเฉพาะหลังจากที่งานของศิลปาชีพเริ่มแพร่หลายมากขึ้น พระองค์ท่านทรงโปรดให้ใช้ผ้าไทยมากขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับในยุคนี้ช่างออกแบบเสื้อผ้าชาวไทยเริ่มจะมีมากขึ้นแล้ว เช่นคุณน้อย กิตติพร และคุณเรณู โอสถานุเคราะห์ เป็นต้น ซึ่งในนิทรรศการนี้ ได้เชิญฉลองพระองค์ที่มีงานฉลุลายลูกไม้ฝีมือของคุณเรณูมาให้ชมด้วย
l แสดงว่าตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา จะพบว่ามีผ้าไทยเข้าไปอยู่ในฉลองพระองค์มากขึ้นเป็นลำดับ ถ้าเช่นนั้นในยุค 1980 มีความโดดเด่นใดปรากฏชัดในฉลองพระองค์ครับ
คุณศาสตรัตน์ : ตั้แต่ทศวรรษ 80 เป็นช่วงที่มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพสามารถผลิตสินค้าต่างๆ ได้มากขึ้น นอกจากผ้าแพรพรรณจากภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศไทยแล้ว ยังมีสินค้าพื้นเมืองซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านถูกผลิตออกมาอีกมากมาย ทั้งเครื่องจักสานเครื่องปั้น งานแกะสลัก และงานฝีมืออีกหลายหลากในยุคนี้พระองค์ท่านจึงทรงนำเอาผลิตภัณฑ์ของศิลปาชีพไปแสดงต่อสายตาของชาวโลก และชาวไทยเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อเสด็จพระราชดำเนินทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างชาติ จะทรงให้นำงานศิลปาชีพไปจัดแสดงทุกครั้ง เช่น เมื่อเสด็จพระราชดำเนินทรงเยือนสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ก็จะทรงนำสินค้าศิลปาชีพไปเผยแพร่ให้เป็นที่ประจักษ์ทุกครั้ง ส่วนฉลองพระองค์ในยุค 80 ก็จะทรงใช้ผ้าไทยมากขึ้น ทั้งผ้าจก ผ้าทอมือ ผ้าไหมมัดหมี่ และผ้าจากชาวไทยภูเขา กล่าวได้ว่าทุกครั้งเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาชาติ ก็จะทรงนำสินค้าของศิลปาชีพไปเผยแพร่เสมอ
l ทรงเป็นเสมือนทูตพาณิชย์กิตติมศักดิ์ของไทย เพราะทรงนำสินค้าไทยไปเผยแพร่ต่อชาวโลกและยังทรงทำให้ชาวโลกเห็นถึงความงามและคุณประโยชน์ของสินค้าจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษไทยด้วย แล้วในยุค 1990 ฉลองพระองค์มีความโดดเด่นอย่างไรครับ
คุณศาสตรัตน์ : ยุค 90 ทรงเน้นการผสมผสานในรูปแบบต่างๆ เช่น ทรงโปรดให้ตัดเย็บฉลองพระองค์แบบไทยพระราชนิยม และในยุคนี้ทรงให้นำเทคนิคเดิมของไทยตั้งแต่โบราณมาใช้ด้วย เช่น การใช้ปีกแมลงทับประดับบนฉลองพระองค์ โดยผ้าส่วนใหญ่นั้นทรงใช้ผ้าไทยผลงานของศิลปาชีพ แต่ที่พิเศษมากขึ้นคือทรงโปรดให้ช่างออกแบบเสื้อผ้าชาวไทยถวายงานมากขึ้น เช่น คุณหญิงอังศุภา ปัณยาชีวะ นางพิจิตรา บุณยรัตพันธุ์ นายธีระพันธ์ วรรณรัตน์ นายสมภพ หลุยลาภประเสริฐ นายสมชาย แก้วทอง นายยุทธพงศ์ มีพรหม เป็นต้น ฉลองพระองค์ในยุคนี้มีการใช้เทคนิคการนำผ้าไหมหลายชิ้นมาต่อกันอีกด้วย ส่วนการปักปีกแมลงทับนั้น มีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ก็ทรงให้นำกลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อรักษาภูมิปัญญาด้านนี้ไว้มิให้สูญหายไป
l ต่อมาในยุค 2000 ความเป็นเอกลักษณ์ของฉลองพระองค์ยุคนี้คืออะไรครับ
คุณศาสตรัตน์ : ในยุค 2000 นี้ พระองค์ท่านทรงไปเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาชาติ และพระองค์ท่านก็ยังทรงเน้นเรื่องผ้าไทยกับฉลองพระองค์เหมือนเดิมแม้จะใช้ช่างออกแบบเสื้อผ้าชาวตะวันตกในบางโอกาส เช่น ทรงให้คริสเตียน ดิออร์ วาเลนติโน จิวองชี สนองงานแต่ทรงให้ใช้ผ้าไทยในการตัดเย็บฉลองพระองค์ ดังจะเห็นจากการแสดงพระราชดำเนินแทนพระองค์เยือนจีนและรัสเซีย ซึ่งนอกจากทรงกระชับความสัมพันธ์ไทยกับจีนและรัสเซียแล้ว ยังทรงเผยแพร่ความงามวิจิตรของผ้าไทยต่อประชาคมโลกด้วย นอกจากเสด็จพระราชดำเนินเยือนนานาชาติแล้ว ในเหตุการณ์สำคัญในประเทศไทย เช่น พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อเดือนมิถุนายน 2549 ในงานถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแด่พระประมุข และพระราชวงศ์ต่างประเทศ ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร จะมีภาพจำที่คนไทยทั้งประเทศยังจดจำได้ดีคือฉลองพระองค์สีน้ำตาลทองเข้มตัดเย็บจากผ้าแพรวา ส่วนการเสด็จพระราชดำเนินเยือนรัสเซีย ฉลองพระองค์ในครั้งนั้นก็เป็นภาพจำของคนไทยเช่นกัน เพราะทรงฉลองพระองค์แบบสากล แต่ทรงใช้ผ้าไทยทั้งหมด และทรงพระมาลาด้วย แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือในยุคนี้ทรงส่งเสริมโขนมูลนิธิศิลปาชีพฯ และเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแสดงโขนชุดศึกมัยราพณ์ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2554 ทรงฉลองพระองค์ที่ตัดเย็บด้วยผ้าไหมเครป ผ้าตาข่าย และผ้าลูกไม้ ปักประดับด้วยลูกปัดและเลื่อม และในการแสดงนิทรรศการนี้ ได้เชิญฉลองพระองค์สีขาว องค์ที่ฉลองเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์ผ้าแห่งนี้มาจัดแสดงด้วย
l นอกจากฉลองพระองค์ในยุค 1960-2000 แล้ว ยังมีฉลองพระองค์ในห้องจัดแสดงนิทรรศการพิเศษด้วย ที่เรียกชื่อว่าห้องทอง หรือ The Golden Age ช่วยเล่าถึงความพิเศษของห้องนี้ด้วยครับ
คุณศาสตรัตน์ : ห้องทองนี้ จัดเป็น Hi Lightของนิทรรศการครั้งนี้ค่ะ เพราะว่าตั้งใจจัดให้ห้องนี้เป็นห้องที่เชิญฉลองพระองค์สีทองมาจัดแสดง สีทองคือสีสำคัญสีหนึ่งของไทย เพราะเมื่อเวลาที่ทุกคนไปวัด และวัง เราจะเห็นสีทองเด่นขึ้นมาทันที ฉลองพระองค์ในห้องนี้เน้นโทนสีทอง ฉลองพระองค์ทุกชุดในห้องนี้ มีทั้งชุดไทย และชุดสากล สำหรับชุดไทยจะเน้นการปักประดับด้วย ลูกปัด เลื่อม ดิ้นโลหะสีทอง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำผ้ายกทองลำพูนมาตัดเย็บฉลองพระองค์ และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ฟื้นฟูการทอผ้ายกเนินธัมมัง จากจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเคยเป็นแหล่งทอผ้ายกทองสำหรับราชสำนักเมื่อครั้งอดีตให้กลับมามีชีวิตขึ้นใหม่ และทรงให้ใช้ผ้ายกทองเนินธัมมังสำหรับทำชุดของตัวแสดงโขน โดยเฉพาะตัวแสดงชั้นสูงของโขน นอกจากนั้นยังเชิญฉลองพระองค์เมื่อครั้งทรงในงานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี คือฉลองพระองค์แบบผสมผสาน โดยทรงโจงกระเบน เชื่อว่าฉลองพระองค์นี้จะอยู่ในความทรงจำของคนไทยที่ได้ติดตามงานฉลอง 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์อย่างแน่นอน แล้วอีกองค์คือฉลองพระองค์สไบสองชาย องค์นี้เหมือนเป็นต้นแบบให้ชุดไทยที่หลายๆ คนนำไปประยุกต์ใช้ในโอกาสต่างๆ นอกจากนี้ยังมีฉลองพระองค์สีทององค์อื่นๆ สไตล์ตะวันตกที่ใช้ผ้ายกตัดเย็บจะเห็นได้ว่าผ้าไทยของเรานั้นสามารถนำไปใช้ตัดเย็บเสื้อผ้าได้สารพัดรูปแบบทั้งแบบไทยและแบบตะวันตก การที่เราได้ชมฉลองพระองค์แบบต่างๆ ที่ทำจากผ้าไทยทำให้เราภาคภูมิใจในผ้าไทย และมีความซาบซึ่งใจที่พระองค์ทรงทำให้ผ้าไทยมีความโดดเด่น และสามารถนำไปใช้ได้ในโอกาสต่างๆ ต้องบอกว่าฉลองพระองค์ต่างๆ นั้น มีความทันสมัย ไม่ตกยุค ไม่ล่าสมัย สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้ตามโอกาสต่างๆ แม้กระทั่งยุคปัจจุบัน
l แสดงว่าจริงๆ แล้วการจัดแสดงนิทรรศการนี้ คือการเปิดโอกาสให้ผู้คนได้เข้ามาเรียนรู้ความงามของผ้าไทยผ้าฉลองพระองค์ในยุคต่างๆ แล้วที่สำคัญคือไม่ปิดกั้นการที่จะนำแบบไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันใช่ไหมครับ
คุณศาสตรัตน์ : ค่ะ เราสามารถเรียนรู้งานศิลป์จากฉลองพระองค์ได้โดยแท้จริง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ตามจริงในชีวิตประจำวันของแต่ละคน เราไม่จำเป็นต้องเลียนแบบไปทั้งองค์ แต่เราสามารถดูจากสิ่งที่เหมาะสมกับแต่ละคนแล้วนำไปใช้ได้ เราจะพบได้ว่าฉลองพระองค์ที่เชิญมาจัดแสดงนั้นมีความทันสมัยตลอดเวลา แม้กาลเวลาจะผ่านไปเนินนาน แต่รูปแบบการแต่งกายของสตรีก็ยังสามารถนำกลับไปใช้เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับแต่ละคนได้อย่างลงตัวและมีเอกลักษณ์ โดยเฉพาะการทรงนำผ้าไทยไปใช้กับฉลองพระองค์ ที่ทำให้เห็นได้ว่าผ้าไทยมีเอกลักษณ์จริงๆ สามารถใช้กับงานในโอกาสต่างๆ ได้อย่างลงตัวดูแล้วไม่ล้าสมัย ทำให้หลายคนที่ต้องการใช้ผ้าไทยสามารถปรับประยุกต์ได้อย่างเหมาะสมจนกระทั่งทุกวันนี้
l นอกจากฉลองพระองค์แล้ว ยังเชิญพระมาลา พระกลด ฉลองพระบาทมาจัดแสดงด้วยใช่ไหมครับ
คุณศาสตรัตน์ : ค่ะ เชิญพระมาลา พระกลดพระถุงมือ พระพัชนี และฉลองพระบาทมาจัดแสดงด้วยเพื่อให้เห็นว่าในยุคนั้นๆ ทรงฉลองพระองค์กับพระมาลาพระกลด พระพัชนี ฉลองพระบาท และพระถุงมืออย่างไร ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เชิญสิ่งต่างๆ นอกเหนือจากฉลองพระองค์มาจัดแสดงด้วย โดยเฉพาะพระพัชนี เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการนำผ้าไทยไปใช้ได้อย่างลงตัว เช่น ใช้ผ้ามัดหมี่ทำพระพัชนีแล้วปักประดับปีกแมลงทับ ปักดิ้นเงินดิ้นทองประดับ และเขียนลายเป็นตัวละครในวรรณคดีไทยประดับลงไป โดยเป็นการเขียนด้วยมือของช่าง ส่วนพระกลดสีทองที่หลายคนคุ้นตานั้นก็เชิญมาจัดแสดงในโอกาสนี้ด้วยค่ะ ต้องบอกว่าการจัดนิทรรศการครั้งนี้ทำขึ้นอย่างพิเศษจริงๆ
l นิทรรศการจะเปิดแสดงไปจนถึงวันไหนครับ
คุณศาสตรัตน์ : เราเปิดแสดง 1 ปีครึ่งค่ะ โดยเริ่มเปิดแสดงเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565 เพราะฉะนั้นก็จะสิ้นสุดนิทรรศการนี้ในช่วงกลางปี 2567 เพราะเราจัดนิทรรศการหมุนเวียน จึงมีการเปลี่ยนแปลงนิทรรศการไปตามช่วงเวลาที่กำหนดค่ะ
l วันเวลาเปิดให้บริการเป็นอย่างไรครับ
คุณศาสตรัตน์ : พิพิธภัณฑ์ผ้าแห่งนี้อยู่ในเขตพระบรมมหาราชวัง ดังนั้นเวลาเปิดปิดจึงเป็นไปตามการเปิดปิดพระบรมมหาราชวัง คือ 09.00-16.30 น.ทุกวัน แต่หากวันใดที่มีพระราชพิธีในพระบรมมหาราชวังก็ไม่เปิดบริการค่ะ ค่าเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่คือ 150 บาท ลดครึ่งราคาสำหรับผู้อายุเกิน 60 ปี และเด็กนักเรียนในเครื่องแบบค่ะ
คุณจะได้ชมรายการไลฟ์ วาไรตี รายการดีที่ครบครันด้วยสาระและความรู้ ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา14.05- 14.30 น. ทางโทรทัศน์ NBTกดหมายเลข 2 และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube ไลฟ์ วาไรตี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี